ฐากร ปิยะพันธ์ ชู “เชียงใหม่” ต้นแบบสมาร์ทอีโคโนมี

“ครีเอทีฟอีโคโนมีเหมาะกับเชียงใหม่ที่สุด และหลายปีที่ผ่านมาเชียงใหม่สามารถทำได้ดี จึงอยากสนับสนุนให้พัฒนาเชียงใหม่สร้างเป็นจุดขายของไทย อยากเห็นอีคอมเมิร์ซของเชียงใหม่ที่ทำธุรกิจออนไลน์เฉพาะกลุ่ม สร้างเชียงใหม่ให้เป็นอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มของไทย เพราะรอกรุงเทพฯไม่ไหวแล้ว เนื่องจากมีวัตถุดิบเยอะ และมีเมืองที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเยอะที่สุดในโลกอยู่แล้ว ถ้าจะสร้างสมาร์ทอีโคโนมี เรื่องครีเอทีฟก็จำเป็น แต่จะไม่พูดถึงอีคอมเมิร์ซเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเอาตัวเองเข้าไปอยู่บนอีคอมเมิร์ซให้ได้”

“ฐากร ปิยะพันธ์” ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หนึ่งในวิทยากรเริ่มบรรยายในงานสัมมนาเชียงใหม่ 2019 Smart Economy, Smart City ก้าวสู่อนาคตที่มั่นคง หัวข้อ Smart Economy, Smart City ที่จัดขึ้นโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉายภาพอนาคตเมืองเชียงใหม่ในมุมมองที่อยากให้เป็น และกล่าวว่า

สมาร์ทอีโคโนมี หรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กับสมาร์ทซิตี้อาจจะใกล้เคียงกัน โดยสมาร์ทอีโคโนมี เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม ความสร้างสรรค์ การพัฒนาคอนเทนต์ต่าง ๆ รวมถึงศิลปะ ซึ่งเป็นแนวคิดในการพัฒนาและสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยใช้สินทรัพย์ที่เกิดจากการใช้ความคิดสร้างสรรค์

ดันครีเอทีฟอีโคโนมีพลิก ศก.

ซึ่งในส่วนของเทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยสร้างการผลิตมากขึ้น ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องปรับตัวใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย และเรียนรู้โลกอนาคตไปสู่อีคอมเมิร์ซ ปัจจุบันอีคอมเมิร์ซไทยเติบโตขึ้นอย่างมาก มียอดขายรวม 3 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้าและส่งออก แต่คนซื้อของไทยน้อยกว่าที่ไทยไปซื้อต่างประเทศ ทั้งนี้ เกาหลีมีการใช้ครีเอทีฟอีโคโนมีได้ดี อย่างซีรีส์ เคพ็อป ด้านญี่ปุ่นจะเด่นในเรื่องเกม

สำหรับอังกฤษนั้นได้มีการพิสูจน์ว่าครีเอทีฟอีโคโนมีสามารถสร้างการเติบโตด้านเศรษฐกิจได้ดีกว่าปกติ เกิดการสร้างการทำงาน อาชีพใหม่ สร้างผลิตภัณฑ์ส่งออก และนี่คือสิ่งที่ถ้าครีเอทีฟอีโคโนมีสร้างขึ้นได้ในไทย จะทำให้เศรษฐกิจไทยโตกว่านี้

ระวังกับดักสังคมสูงอายุ

อย่างไรก็ตาม สมาร์ทอีโคโนมีจะเกิดไม่ค่อยได้ถ้าไม่แก้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุ ปัจจุบันไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้วและเติบโตเร็วใกล้เคียงญี่ปุ่น มีอัตราการเกิดใหม่ลดลง จำนวนประชากรลดลง แต่ปัญหาคือเมื่อก่อนคนทำงาน 3 คน เลี้ยงดูผู้สูงอายุ 1 คน

แต่ต่อไปจำนวนคนทำงานเท่ากับผู้สูงอายุ แล้วใครจะซัพพอร์ตเศรษฐกิจ ซึ่งต่อไปภาษีที่เก็บได้จะน้อยลง ระบบสาธารณสุขอาจแย่ แต่เป็นโอกาสในเรื่องประกันสุขภาพ เทคโนโลยีการแพทย์ รวมถึงอัตราการใช้จ่ายในเรื่องการรักษาสุขภาพ และสินค้าผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น และนี่อาจเป็นนิวเอสเคิร์ฟ (new S-curve) ใหม่ของไทยได้

ขณะนี้ผู้สูงอายุมีประมาณ 11 ล้านคน ภาคเหนือมีมากที่สุด และอยู่ที่เชียงใหม่กว่า 3 แสนคน นับเป็นโอกาสทางธุรกิจแล้ว ขณะเดียวกันปริมาณการออมที่ภาคเหนือก็สูงสุดเช่นเดียวกัน จึงบอกว่าเป็นโอกาสเมื่อเทียบกับภาคอื่น แต่ผู้สูงอายุไม่มีรายได้ หรือมีเพียง 1 แสนกว่าบาท/ปี และถ้าเกษียณอายุ 60 ปี และอยู่ถึง 75 ปี ต้องมีเงินออม 3-4 ล้านบาท โดยเมื่อดูแล้วพบว่าคนที่เงินออม 3 ล้านบาท มีแค่ 5% จึงอยากให้สนับสนุนเรื่องการออมไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถเอาชนะสังคมผู้สูงอายุได้

แต่ตลาดผู้สูงอายุมีโอกาส ถ้าขายสินค้าเกี่ยวกับผู้สูงอายุต้องเน้นเรื่องสุขภาพ เลี้ยงสัตว์ ซื้อของชำ อุปกรณ์ดูแลตัวเองขายดีขึ้นอย่างมาก ตัวอักษรต้องใหญ่ ผู้สูงอายุใช้ออนไลน์มากขึ้น รถเข็น จุดพัก ชั้นวางของต้องดีไซน์เหมาะกับผู้สูงอายุ และชอบท่องเที่ยวเป็นหมู่คณะ

นับถอยหลังสู่สังคมไร้เงินสด

“ฐากร” กล่าวต่อว่า สมาร์ทอีโคโนมีจำเป็นต้องมีเงินสดไหม ไทยมีผู้มีบัญชีธนาคาร 80 ล้านบัญชี คิดเป็น 70% มีบัตรเดรดิต 60 ล้านใบ โดย 95% เอาไปถอนเงินจากตู้เอทีเอ็ม และมีบัตรเครดิต 20 ล้านใบ หรือประมาณ 7 ล้านคน คิดเป็น 10% ของประชากร เริ่มมีพร้อมเพย์ อีมันนี่ ทรูมันนี่ อีวอลเลตเยอะขึ้น แต่การซื้อของยังไม่ได้เป็นอิเล็กทรอนิกส์เท่าไหร่

ซึ่งไฮไลต์น่าสนใจคือ ผู้ใช้โมบายแบงกิ้งแต่ละธนาคารเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ปีนี้น่าจะมี 40 ล้านคน ขณะที่ 5 ปีที่แล้วมี 1.5 ล้านคน และจะขยับขึ้นไปถึง 50 ล้านคนภายในอีกปีเดียวเท่านั้น และเริ่มทยอยติดคิวอาร์แล้ว 3-4 ล้านดวง

ขณะเดียวกันไทยมีตู้เอทีเอ็มประมาณ 50,000 ตู้ ต้องมีเงินในตู้ 200,000 ล้านบาท และตู้มีต้นทุน 20,000 ล้านบาท ขณะที่ค่าผลิตพลาสติก บัตรเดบิต บัตรเครดิต บัตรเอทีเอ็ม ประมาณ 9,000 ล้านบาท แต่ละปีมีต้นทุนที่ต้องดูแลกระจายและขนส่งเงินสด 9,000 ล้านบาท โดยแต่ละปีมีคนถอนเงินจากตู้เอทีเอ็ม 7-8 ล้านล้านบาท หรือประมาณเกือบครึ่งหนึ่งของจีดีพีไทย และยังคงเป็นเงินสด โดยมีการเติบโต 8% ซึ่งปัจจุบันมีการโอนเงินให้คนอื่นผ่านตู้เอทีเอ็มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และใช้มือถือโอนเงินเพิ่มขึ้น 400%

ดังนั้นมองว่าสังคมไร้เงินสดอาจจะค่อย ๆ มา และหวังว่าต่อไปนี้ปริมาณเงินจากตู้เอทีเอ็มอาจจะค่อย ๆ ลดลง และใช้ในเรื่องของตัวดิจิทัลหรือใช้โมบายเพย์เมนต์มากขึ้น จะเห็นธุรกรรมด้านอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น แล้ว

อีโคโนมีจะพัฒนาได้ดีมากขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดการเข้าถึงการบริการทางการเงินได้ดีขึ้นสำหรับคนข้างล่าง เขาสามารถเข้าถึงสินเชื่อที่ดอกเบี้ยถูกได้ ไม่ต้องไปหนี้นอกระบบ มันเป็นเรื่องของการเข้าถึงบริการทางการเงินที่มีความโปร่งใส และมีต้นทุนที่ถูกต้อง

“ฐากร” กล่าวปิดท้ายว่า ไทยแลนด์ 4.0 จะเริ่มไม่ได้ ถ้าทุกคนไม่คิดที่จะปรับ ไม่เริ่มที่จะเปลี่ยน วันนี้ผมได้มาที่เชียงใหม่ หวังว่าสมาร์ทอีโคโนมี สมาร์ทซิตี้จะเกิดขึ้น แล้วเชียงใหม่จะเป็นตัวชูโรง เป็นตัวช่วยให้พัฒนาเป็นไทยแลนด์ 4.0 ได้

ทั้งนี้ทั้งนั้นเริ่มที่ตัวเราทุกคนปรับเปลี่ยน รู้จักเรียนรู้เทคโนโลยี แล้วเชื่อมั่นว่าประเทศสามารถเป็นไทยแลนด์ 4.0 ได้

 

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!