เมืองคอนตื่นพายุ “ปาบึก” ผู้ว่าฯ-กองทัพภาค 4 เตรียมพร้อมอพยพ ปชช.ชายทะเล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (2 ม.ค.62) ที่ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังกรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศเตือนให้เฝ้าระวังพายุโซนร้อน “ปาบึก” เคลื่อนตัวลงในพื้นที่อ่าวไทย ระหว่างวันที่ 3-5 ม.ค.62 ซึ่ง จ.นครศรีธรรมราช จะได้รับผลกระทบจากพายุลูกดังกล่าว ขณะที่ชาวประมงบางพื้นที่ได้ขนย้ายเรือไปไว้ในที่ปลอดภัย และแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมได้อพยพบุคลากรเข้าฝั่งแล้ว

นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แจ้งให้อำเภอต่างๆ ที่อยู่ริมทะเล ได้แก่ ขนอม สิชล ท่าศาลา เมือง ปากพนัง และหัวไทร ให้ติดตามการพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด หากจำเป็นต้องอพยพประชาชนให้ไปอยู่ในที่ปลอดภัย ให้ดำเนินการทันที และบูรณาการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เตรียมอุปกรณ์การช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ซึ่งพยากรณ์อากาศได้แจ้งว่าระหว่างวันที่ 3-5 ม.ค.62 จะมีคลื่นลมสูง 3-5 เมตร เสี่ยงต่อความปลอดภัยต่อคนที่อาศัยตามแนวชายหาดใน 6 อำเภอ

“การอพยพชาวบ้านต้องประเมินสถานการณ์ด้วยว่าจะห่างไกลพื้นที่เสี่ยงพอหรือไม่ แรงลมของพายุยังไม่สามารถประเมินว่าแรงขนาดไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรือประมงห้ามออกจากฝั่งในระยะนี้อย่างเด็ดขาด โดยให้นายอำเภอทำความเข้าใจกับชาวประมงด้วย นอกจากนั้นในพื้นที่ อ.ขนอม ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญขอให้ดูแลนักท่องเที่ยวอย่างใกล้ชิดต่อไปด้วย”

ด้านพลตรี สิทธิพร มุสิกะสิน รองแม่ทัพภาคที่ 4 รองผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพภาคที่ 4 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ตรวจความพร้อมของศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพภาคที่ 4 ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ตรวจสภาพความพร้อมของกำลังพล ยุทโธปกรณ์ และซักซ้อมเพื่อให้พร้อมช่วยเหลือประชาชนมากที่สุด

ทั้งนี้พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก มีความห่วงใยประชาชน จึงได้สั่งการให้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยของกองทัพบก เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น เพื่อช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที หลังจากกรมอุตินิยมวิทยาได้ประกาศพายุโซนร้อน “ปาบึก” เคลื่อนลงอ่าวไทย มีผลกระทบในภาคใต้ ส่งผลให้คลื่นลมในอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น กระแสลมหมุนจากพายุจะเคลื่อนตัวถึงอ่าวไทย ส่งผลให้เกิดคลื่นซัดฝั่งกำลังแรงสูง

นอกจากนี้ พลโท พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพภาคที่ 4 สั่งการให้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยฯทั้ง 22 ศูนย์ ครอบคลุมพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเตรียมความพร้อมของกำลังพล เครื่องมือในการเข้าช่วยเหลือประชาชน รวมถึงตรวจสอบแผนการปฏิบัติอย่างรัดกุม และเฝ้าระวังพื้นที่รับผิดชอบโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีแนวโน้มอาจเกิดภัยพิบัติ โดยร่วมกับป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน จ.นครศรีธรรมราช ,องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช ชุดแพทย์เคลื่อนที่จากโรงพยาบาลค่ายวชิราวุธ รถครัวสนามจากกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 15 รวมทั้งกำลังพลพร้อมยุทโธปกรณ์จากหน่วยในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช กว่า 300 นาย เข้าร่วมตรวจสภาพความพร้อม