ผู้ว่าฯ นครพนมเผยน้ำท่วมเสียหาย 300 ล้านบาท นาข้าวกระทบ 2 แสนไร่ หนักสุดรอบ 50 ปี

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.นครพนม สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ลำน้ำก่ำ เขตพื้นที่ อ.นาแก อ.วังยาง อ.เรณูนคร อ.ธาตุพนม หลังประสบปัญหาลำน้ำก่ำเอ่อท่วมพื้นที่การเกษตร บ้านเรือนมานานนับเดือน ล่าสุดระดับน้ำลดลงเข้าสู่ภาวะปกติ เนื่องจากน้ำไหลระบายลงน้ำโขง จนปริมาณน้ำที่เกินความจุได้อยู่ในระดับปกติ มีเพียงนาข้าวของเกษตรกรที่ได้รับความเสียหาย ส่วนพื้นที่ ลุ่มน้ำอูน ลุ่มน้ำสงคราม เขต อ.ศรีสงคราม อ.นาหว้า อ.นาทม อ.โพนสวรรค์ ยังไม่พ้นวิกฤต ยังเฝ้าระวัง เนื่องจากมวลน้ำพื้นที่ จ.สกลนคร ยังไหลมาสมทบ ทำให้ระดับน้ำทรงตัว ต้องเฝ้าระวัง และเร่งระบายน้ำโขง ให้ลงสู่น้ำโขงให้เร็วที่สุด เพราะยังมีฝนตกต่อเนื่อง เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาน้ำเอ่อท่วมซ้ำ

นายสมชาย วิทย์ดำรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมล่าสุดในพื้นที่ จ.นครพนม ถือว่าเริ่มคลี่คลาย ยังมีบางพื้นที่ คือโซนพื้นที่ลุ่มน้ำสงคราม ลำน้ำอูน แม่น้ำสาขาสายหลัก ที่ยังต้องเฝ้าระวัง เพราะปริมาณน้ำยังสูง แต่ในส่วนของบ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วมระดับน้ำท่วมได้ลดลงแล้ว เหลือเพียงพื้นที่นาข้าว ที่ยังได้รับผลกระทบ เช่นเดียวกันกับพื้นที่แถบลุ่มน้ำก่ำ แม่น้ำสาขาสายหลัก ที่รับน้ำจากหนองหาร จ.สกลนคร ไหลระบายลงน้ำโขง ปัจจุบันเข้าสู่ภาวะปกติ ระดับน้ำอยู่ในระดับปกติ และสามารถไหลระบายได้ดี มีเพียงนาข้าวที่ได้รับผลกระทบเสียหาย

โดยทางจังหวัดนครพนมได้ระดมทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน รวมทั้งผู้ใจบุญ มีน้ำใจหลั่งไหลเข้าไปดูแลช่วยเหลือตั้งแต่ประสบปัญหา จนถึงล่าสุดถือว่าเริ่มคลี่คลาย ซึ่งทางจังหวัดนครพนม ได้มีการเร่งดำเนินการช่วยเหลือ ประกาศพื้นที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วม รวม 11 อำเภอ จากพื้นที่ทั้งหมด 12 อำเภอ มี 1.อ.นาแก 2.อ.วังยาง 3.อ.นาหว้า 4.อ.ศรีสงคราม 5.อ.เรณูนคร 6.อ.โพนสวรรค์ 7.อ.ท่าอุเทน 8.อ.ธาตุพนม 9.อ.นาทม 10.อ.ปลาปาก และ 11.อ.เมืองนครพนม เหลือเพียง 1 อำเภอ ที่ยังไม่มีการประกาศ คือ อ.บ้านแพง เพื่อให้การช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน ตามระเบียบของทางราชการ รวมมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 82 ตำบล 677 หมู่บ้าน 22,555 ครัวเรือน มีพื้นที่การเกษตรนาข้าวได้รับความเสียหายกว่า 2 แสนไร่ ถนนเสียหายกว่า 70 สาย รวมถึงสัตว์เลี้ยงการเกษตร อีกจำนวนมาก

ส่วนพื้นที่ได้รับผลกระทบมากสุดคือ พื้นที่ อ.นาแก มีพื้นที่นาข้าวเสียหายกว่า 75,000 ไร่ รองลงมาคือ อ.ศรีสงคราม นาข้าวได้รับความเสียหายกว่า 25,000 ไร่ ซึ่งทางจังหวัดได้เร่งประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าไปสำรวจดูแลช่วยเหลือทุกอำเภออย่างเร่งด่วน อาจมีบางจุดในเรื่องถนน ต้องรอให้ระดับน้ำแห้ง จึงสามารถนำเครื่องจักรเข้าได้

นอกจากนี้ในการช่วยเหลือได้มีการพิจารณา ให้มีการสำรวจช่วยเหลือเป็นรายครอบครัว ในส่วนของพื้นที่นาข้าวได้รับความเสียหาย จะได้รับเงินชดเชยไร่ละ 1,113 บาท ชดเชยรายละไม่เกิน 30 ไร่ และครอบครัวที่ประสบปัญหาด้านอุทกภัย จะได้รับการช่วยเหลืออีก ครอบครัวละ 3,000 บาท ซึ่งได้มอบหมายให้อำเภอ มีการเร่งสำรวจดำเนินการช่วยเหลือต่อเนื่อง บรรเทาความเดือดร้อน ที่สำคัญยังได้นำเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานเกี่ยวข้อง เข้าไปสำรวจฟื้นฟู ช่วยเหลือสภาพความเป็นอยู่ให้กับชาวบ้าน หลังน้ำลดไปจนถึงวางแผนส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ รวมถึงสนับสนุนพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพ ทั้งนาข้าว รวมถึงต้นทุนการเกษตรเสียหายหมด คาดว่ามูลค่าความเสียหายครั้งนี้ จะต้องใช้เงินช่วยเหลือฟื้นฟูไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท เพราะเสียหายหนักสุดรอบ 50 ปี

นายสมชาย วิทย์ดำรงค์ กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางการแก้ปัญหา จะได้พิจารณาช่วยเหลืองบประมาณไปสนับสนุนในการแก้ไขปัญหา ตามพื้นที่อำเภอต่างๆ ตามสภาพความเดือดร้อน โดยเฉพาะพื้นที่บ้านพิมานท่า บ้านปากบัง ต.พิมาน อ.นาแก จ.นครพนม เกือบ 300 หลังคาเรือน ถือเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบหนักสุด เนื่องจากหมู่บ้าน อยู่ในจุดบรรจบของลำน้ำบัง กับลำน้ำก่ำ ลำน้ำสาขาแม่น้ำโขง ที่ไหลมารวมกันก่อนไหลระบายลงสู่แม่น้ำโขง ทำให้น้ำท่วมขังหลายวัน เกือบ 1 เดือน ล่าสุดระดับน้ำแห้ง เข้าสู่ภาวะปกติ แต่ที่กระทบหนักคือ พื้นที่นาข้าว ที่พึ่งปักดำ เกือบ 5,000 ไร่ เสียหายทั้งหมด เป็นปัญหาหนักกับชาวบ้าน เพราะจะไม่มีผลผลิตข้าว ออกขาย และใช้บริโภคในครัวเรือน บางรายลงทุน และมีถนนสัญจรเสียหายหนัก ซึ่งทางจังหวัดนครพนม ได้มีการพิจารณางบประมาณเข้าไปแก้ไขปัญหาเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการสำรวจฟื้นฟู รวมถึงสนับสนุนเรื่องงบประมาณในการวางแผนแก้ไขปัญหา ไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากอีก ในปีถัดไป โดยจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด

 

ที่มา : มติชนออนไลน์