วุฒิพงศ์ รัตนมณฑ์ ประธานหอฯตราด รุกสร้างมาตรฐานผลไม้โกอินเตอร์

สัมภาษณ์

“ตราด” เมืองสุดชายแดนภาคตะวันออก เป็นแหล่งผลิตผลไม้สำคัญจังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออก 1 ใน 55 เมืองรองที่รัฐบาลให้การสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว และมีจุดเด่นสำคัญ พื้นที่การเกษตร หรือสวนผลไม้ ทั้งเพื่อการจำหน่ายในประเทศและเพื่อการส่งออก

“วุฒิพงศ์ รัตนมณฑ์” ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดตราด ขึ้นแท่นรับตำแหน่งเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 ด้วยประสบการณ์มืออาชีพเกษตรกรตัวจริง ที่มาพร้อมกับตำแหน่งนายสมาคมชาวสวนผลไม้จังหวัดตราด และประธานสหกรณ์การเกษตรเพื่อการแปรรูปและส่งออกจังหวัดตราด จำกัด จึงไม่รีรอที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้เกษตรกร ผ่านการประกาศให้เกษตรกรทำคุณภาพมาตรฐาน GAP เดินหน้าสร้างระบบสหกรณ์ให้เข้มแข็ง สร้างแบรนด์ให้เป็นที่ยอมรับ

Q : ปัญหาในการส่งออกผลไม้

ผลไม้หลักของตราดสำหรับการส่งออกคือ ทุเรียน การส่งออกไปต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีนถึง 80% โดยปี 2561 ทางการจีนแจ้งว่าตรวจพบแมลงศัตรูพืชกว่า 1,000 ครั้ง รวมไปถึงปัญหาทุเรียนอ่อนซึ่งแจ้งเตือนมาหลายครั้ง แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขเรื่องมาตรการคุมเข้มการส่งออกผลไม้ ส่งผลให้กลางเดือนธันวาคม 2561 จีนได้ประชุมร่วมกับฝ่ายไทย เรื่องมาตรการสุขอนามัยพืช โดยเฉพาะทุเรียนใหม่ ให้ชาวสวนต้องมีการทำระบบการผลิตที่ดี หรือ GAP ตามมาตรฐาน และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ รวมถึงโรงคัดต้องมีมาตรฐาน และระบบบริหารงานคุณภาพ หรือ GMP ตามมาตรฐาน

ทว่าในปัจจุบันทั้ง GAP และ GMP นั้น เกษตรกรและผู้ประกอบการส่งออกยังไม่ตื่นตัวกันมากนัก เนื่องจากในทางปฏิบัติราคาผลไม้ไม่ได้แพงขึ้นและยังคงขายได้ รวมถึงภาครัฐยังเข้าไม่ถึงเกษตรกร ทั้งการให้คำแนะนำ และปัญหาที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องเร่งแก้ไข เพราะตลาดจีนต้องการบริโภคของมีคุณภาพ กระบวนการมาตรฐาน GAP และ GMP จึงเป็นกลไกสำคัญในการควบคุมมาตรฐานระดับสหกรณ์ เมื่อเจ้าหน้าที่ภาครัฐไม่เพียงพอ ต้องใช้เวลาตรวจสอบกว่าจะออกใบรับรองได้ใช้เวลานาน ทำให้ผลไม้ที่ไม่ได้มาตรฐานผ่านออกไปได้

Q : สร้างสหกรณ์เข้มแข็งชนล้งจีน

ที่ผ่านมาสหกรณ์ยังไม่เข้มแข็ง หอการค้าจังหวัดตราดจึงคัดเลือกสหกรณ์การเกษตรที่มีความพร้อมนำร่อง 4 แห่ง คือ 1.สหกรณ์การเกษตรเพื่อการแปรรูปและส่งออกจังหวัดตราด จำกัด 2.สหกรณ์การเกษตรเขาสมิง 3.สหกรณ์การเกษตรบ่อไร่ 4.สหกรณ์ส่งเสริมธุรกิจจังหวัดตราด เพื่อทำให้สมาชิกเห็นประโยชน์ของความเข้มแข็งของระบบสหกรณ์ ในการเข้าสู่ตลาดผลไม้พรีเมี่ยม ในห้างโมเดิร์นเทรดและส่งออกไปยังต่างประเทศได้ แต่ยังมีปัญหาที่ตัวสมาชิกบางราย เช่น หากราคาดีอาจจะไม่ขายผ่านสหกรณ์ แต่ถ้าปีใดราคาผลไม้ตกต่ำจะเข้ามาพึ่งพาสหกรณ์ รวมถึงสหกรณ์เองมีปัญหาในเรื่องเงินทุนหมุนเวียนที่สหกรณ์มีจำกัด เปรียบเทียบกับล้งผลไม้จีนจำนวนมากที่มีเงินทุนหนาเกือบ 100 ล้านบาท และมีรูปแบบการรับซื้อที่หลากหลายในเชิงรุก เข้าถึงสวน โดยหน่วยงานภาครัฐทั้งหมดในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องทำงานบูรณาการกัน เพื่อทำให้สหกรณ์เข้มแข็งขึ้น

Q : ปัญหาเรื่องแรงงานเก็บผลไม้

นอกจากเรื่องมาตรฐานการผลิตแล้ว ยังมีปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร เพราะทุกวันนี้ใช้แรงงานชาวกัมพูชา ซึ่งตามกฎหมายได้ผ่อนปรนให้ข้ามแดนมาทำงานได้ในช่วงฤดูกาลไม่เกิน 90 วัน โดยไปรายงานตัวชายแดน 30 วัน/ครั้ง กรณีสวนผลไม้ที่เป็นช่วงฤดูกาลสั้น ๆ ทางออกภาครัฐควรหาทางเจรจาผ่อนปรนเรื่องการทำหนังสือผ่านแดนให้แรงงานที่เข้ามาได้รับความสะดวกรวดเร็ว ทั้งนี้กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้เฉพาะแรงงานในจังหวัดชายแดน เกาะกง โพธิสัตว์ พระตะบอง แต่ในความเป็นจริง แรงงานชาวกัมพูชาจะมาจากเขตที่อยู่ไกลชายแดนออกไป ทำให้ต้องโอนย้ายทะเบียนเข้ามาจังหวัดชายแดนส่งผลต่อความยุ่งยากล่าช้า รวมถึงการทำบอร์เดอร์พาสของฝ่ายกัมพูชา ที่ใช้เวลากว่า 7-8 วัน และมีค่าใช้จ่ายผ่านนายหน้า 4,000 บาท/หัว จากค่าใช้จ่ายจริงไม่ถึง 2,000 บาท ทำให้ช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลไม้ ซึ่งต้องการแรงงานจำนวนมาก เกิดภาวะขาดแคลนแรงงาน และผลไม้เสียหายจากการเก็บเกี่ยวไม่ทัน

โดยหอการค้าได้นำเสนอคณะกรรมการร่วมภาครัฐบาลและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจังหวัด (กรอ.จังหวัด) และมีการเจรจากับจังหวัดชายแดนฝั่งกัมพูชาแล้ว แต่ติดข้อกฎหมาย ซึ่งในอนาคตภาครัฐควรให้การสนับสนุนสถานศึกษาระดับอาชีวศึกษาคิดค้น ดัดแปลงเครื่องจักร นวัตกรรมทดแทนแรงงานและเพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อสามารถนำมาใช้ทดแทนแรงงานได้อย่างเหมาะสมในราคาไม่สูงนัก

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!