4 จว.เหนือชง ครม.เชียงใหม่-ลำปาง ชูดิจิทัลเซรามิก-WellnessCity เชื่อมโยง EEC

กลุ่มจังหวัดเหนือตอนบน 1 ชง ครม.สัญจรลำปาง ชูเมืองสุขภาพ Wellness City เชื่อมโยง EEC ขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ใช้ศักยภาพของอุตสาหกรรมไมซ์-โครงการเวชนคร ส่งเสริมธุรกิจสุขภาพและความงาม-นวัตกรรมล้านนาสร้างสรรค์-FOOD VALLEY พร้อมโปรโมต “มรดกวัฒนธรรมล้านนา” ผนึกหริภุญชัย เขลางค์นคร และนครพิงค์ สู่การเป็นเมืองจุดหมายปลายทางแห่งการท่องเที่ยวเชื่อมอารยธรรมล้านนา

แหล่งข่าวจากผู้บริหารกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กลุ่มจังหวัดได้จัดเตรียมข้อเสนอการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน) ที่ผ่านการกลั่นกรองเบื้องต้น เพื่อจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีสัญจรในวันที่ 15 มกราคม 2562 ที่จังหวัดลำปาง โดยจะนำเสนอประเด็นการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย 2 เรื่อง คือ 1.การใช้ความเข้มแข็งของภาคเหนือตอนบน เชื่อมโยงเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อยกระดับการพัฒนาภูมิภาคขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 (Northern Region Potential Enrichment) โดยใช้ศักยภาพของ 1) อุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) 2) โครงการเวชนครด้านบริการส่งเสริมสุขภาพ (Medicopolis & Wellness) 3) นวัตกรรมล้านนาสร้างสรรค์ (Creative Lanna) และ 4) Food Valley รวมถึงการบูรณาการองค์ความรู้และงานวิจัยของสถาบันการศึกษา กับการมีส่วนร่วมและการลงทุนของภาคเอกชน และ 2.การชู “มรดกวัฒนธรรมล้านนา” โดยส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพเชื่อมโยงเมืองเก่า หริภุญชัย เขลางค์นคร และนครพิงค์ (ลำพูน ลำปาง เชียงใหม่) สู่การเป็นเมืองจุดหมายปลายทางแห่งการท่องเที่ยวเชื่อมอารยธรรมล้านนา

ทั้งนี้ กลุ่มจังหวัดได้เตรียมข้อเสนอโครงการเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย (new S-curve) ได้แก่ 1.ถ่ายทอดความรู้ดิจิทัลธุรกิจชุมชนภาคเหนือเพื่อพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และโลจิสติกส์สมัยใหม่ (Northern e-Commerce and Modern Logistics Digital Transformation Center for Community Enterprise) 2.โครงการศูนย์ส่งเสริมพฤติพลังผู้สูงอายุ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Senior Wellness Center) เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในกลุ่มภาคเหนือตอนบน 1 ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่ดี ความมั่นคงในชีวิต และการมีส่วนร่วม โดยศูนย์ส่งเสริมฯจะบริการองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมอาหาร สุขภาพของประชาชน และการจัดการสวัสดิการที่เหมาะสมของผู้สูงอายุ มีแนวทางการจัดแบ่งพื้นที่ของศูนย์ส่งเสริมฯ ได้แก่ ศูนย์ฝึกอบรมอัจฉริยะเพื่อผู้สูงอายุ ศูนย์ต้นแบบการดูแลผู้สูงอายุในช่วงกลางวัน ศูนย์นันทนาการผู้สูงอายุ และสวนนวัตกรรมสุขภาพอัจฉริยะเพื่อผู้สูงอายุ

3.ส่วนต่อขยายอาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ สู่การเร่งสร้างผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนและเชื่อมโยงเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) และโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (Northern Science Park Connect) รองรับการขยายตัวของผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม และรองรับโครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม และนำไปสู่ย่านนวัตกรรม (Innovation District) ในพื้นที่ 4.การเสริมสร้างเชียงใหม่เมืองอัจฉริยะ โดยนำร่องที่ย่านถนนนิมมานเหมินท์ (Smart Nimman) โดยการปรับปรุงทางเท้า และนำสายไฟฟ้าลงดิน/การติดตั้งกล้อง CCTV จับทะเบียนรถ ด้านการขนส่งจราจร 5.ขยายผลการบริหารจัดการขยะ 4.0 สำหรับเมืองอัจฉริยะแบบครบวงจรในพื้นที่นำร่องระดับชุมชน

6.โครงการพัฒนานวัตกรรมสมุนไพรสำหรับเครื่องสำอางภาคเหนือ (Cosmetic Valley) ในกรอบของโครงการเวชนคร โดยนำนวัตกรรมสมุนไพรสู่เครื่องสำอางภาคเหนือสู่ตลาด และการสร้าง “โรงงานต้นแบบนวัตกรรมสมุนไพรสกัด (Innovative Herb Extraction Pilot Plant) พร้อมโรงเรือนต้นแบบสำหรับปลูกสมุนไพรเพื่อให้ได้เทคโนโลยีการเพาะปลูกที่สามารถควบคุมสารสำคัญและปริมาณผลิตได้ รองรับตลาดที่จะขยายตัวเป็น 5.69 หมื่นล้านบาทในปี 2564

7.โครงการ Northern Boutique Arabica Coffee Center ในกรอบการพัฒนา Northern Coffee Hub 8.โครงการ Northern Thailand Food Valley Scale up พัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมอาหารเข้าสู่นวัตกรรมอาหารในอนาคต 9.โครงการพัฒนาเชียงใหม่สู่เมืองต้นแบบด้านนวัตกรรมสุขภาพโดยการทำ digital health platform และ 10.โครงการพัฒนาทักษะแห่งอนาคตของแรงงานในภาคเหนือ (Workmanship Skill up) รองรับอุตสาหกรรม new S-curve เชื่อมโยง EEC

ส่วนข้อเสนอเชิงพื้นที่การค้าชายแดน มีข้อเสนอได้แก่ 1.การพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงการค้าการลงทุน ไปยังจุดผ่านแดนบ้านแม่สามแลบ 2.เพิ่มศักยภาพการผลิตทางด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมประกอบด้วย ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่สุย อ.เมืองลำปาง จ.ลำปาง ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่เคียน อ.งาว จ.ลำปาง ก่อสร้างประตูระบายน้ำดอยแต ต.เหมืองจี้ อ.เมืองลำพูน การบริหารจัดการน้ำคลองชลประทาน (คลองแม่แตง) พร้อมอาคารประกอบความยาว 2,700 ม.

สำหรับจังหวัดลำปางเสนอด้านพัฒนาศักยภาพการออกแบบและการตลาดผลิตภัณฑ์เซรามิกและอุตสาหกรรม “ลำปางหัตถอุตสาหกรรมเซรามิก” โดยยกระดับศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม จ.ลำปาง พร้อมทั้งห้องแล็บและเครื่องมือ ปรับปรุงพื้นที่ของศูนย์วิจัยและพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมทั้งห้องแล็บและเครื่องมือ สร้างและพัฒนาแอปพลิเคชั่น “ดิจิทัลเซรามิกและหัตถกรรม” และจัดแสดงสินค้าเซรามิกและหัตถกรรมของกลุ่มจังหวัดฯ

จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้เสนอโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 โดยก่อสร้างศูนย์รวบรวมพันธุ์และจัดแสดงกล้วยไม้บริเวณพระธาตุดอยกองมู และก่อสร้างทางเดิน (sky walk) เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับทรัพยากรป่าไม้และส่งเสริมการท่องเที่ยว จ.แม่ฮ่องสอน

ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ 1.ปรับปรุงการเพิ่มประสิทธิภาพ ทล.11 ตอนแยกภาคเหนือ-ขุนตาล 2.เพิ่มประสิทธิภาพ ทล. 116 (ตอนป่าสัก-สะปุ๋ง-บ้านเรือน-สันป่าตอง) 3.เร่งรัดการก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ ทางหลวงหมายเลข 1136 ตอนเหมืองง่า-ลำพูน 4.พัฒนา ทล.1035 5.ก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองแม่ริม 6.ก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองสันกำแพง 7.การก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้าจังหวัดเชียงใหม่ 8.การปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่มรดกโลกวัฒนธรรม 10 เมืองเก่า (เมืองเก่าลำพูน) และ 9.การพัฒนาพื้นที่เชื่อมโยงศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา และรองรับการจัดระบบขนส่งมวลชนเชียงใหม่

 

ดันตั้งเมืองการบินภาคเหนือ Northern Aerotropolis

ด้านแหล่งข่าวจากภาคเอกชนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้เตรียมข้อเสนอของภาคเอกชนจังหวัดเชียงใหม่ โดยประเด็นเร่งด่วนที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจภาคเหนือในภาพรวมที่จะขอรัฐบาลได้เร่งรัดดำเนินโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ การเร่งรัดด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ การพัฒนาสนามบินนานาชาติเชียงใหม่ และเร่งรัดแผนการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ โครงการมอเตอร์เวย์เชียงใหม่-เชียงราย โครงการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่

โครงการด้านการท่องเที่ยว ได้แก่ การจัดตั้งศูนย์ big data ด้านการท่องเที่ยว การค้า การลงทุนภาคเหนือ เพื่อพัฒนาระบบการตลาด การถ่ายทอดความรู้ดิจิทัลธุรกิจชุมชนภาคเหนือเพื่อพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และโลจิสติกส์สมัยใหม่ (Northern e-Commerce and Modern Logistics Digital Transformation Center for Community Enterprise) การส่งเสริมขยายกลุ่มผู้พำนักระยะยาว (long stay) ของภาคเหนือ ให้ครอบคลุมกลุ่มที่กว้างขึ้น ได้แก่ กลุ่มเกษียณอายุ กลุ่ม digital nomads กลุ่มรักษาพยาบาล กลุ่มนักกีฬา กลุ่มผู้เข้ามาศึกษา และกลุ่ม smart visa และโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอากาศยาน (Aviation Tourism) ในพื้นที่ภาคเหนือ

ส่วนโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ โครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานเสนอให้มีการพัฒนาระบบรางระหว่างจังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายเป็นแผนระยะยาว ตลอดจนศึกษาการลงทุนพัฒนาระบบโครงข่ายคมนาคมทั้งภาคเหนือผ่านการขนส่งทางบก ทางรถไฟ เพื่อเชื่อมกับสนามบินนานาชาติแห่งที่ 2 รวมถึงระบบรถไฟความเร็วสูงในอนาคต

สำหรับโครงการที่เป็น new S-curve ภาคเอกชนต้องการผลักดันโครงการเมืองการบินภาคเหนือ หรือ Northern Aerotropolis ที่จะดำเนินการลงทุนในเรื่องสำคัญ ๆ อาทิ ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ศูนย์ธุรกิจการค้า (Commercial Precinct) กลุ่มอาคารคลังสินค้า (Cargo Village) ธุรกิจขนส่งศูนย์สินค้าทาง

อากาศและโลจิสติกส์/เขตประกอบการเสรี Free Trade Zone (Cargo Facilities) และศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรทางการบิน (Aviation Training Center) ในพื้นที่ภาคเหนือ สอดคล้องกับโครงการลงทุนก่อสร้างสนามบินนานาชาติแห่งที่ 2 ของจังหวัดเชียงใหม่ที่จะลงทุนโดยการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) ด้วยงบประมาณกว่า 60,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างรอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ บนพื้นที่รอยต่อจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน ที่สามารถต่อยอดโครงการ อุตสาหกรรมการบินของ EEC ภาคตะวันออกด้วย

นอกจากนั้น คือการผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงอากาศยานในพื้นที่ ได้แก่ กีฬาทางอากาศ เพื่อสร้างจุดขายใหม่รวมถึงสร้างรายได้ให้กับภาคการท่องเที่ยว

ในพื้นที่ ส่งเสริมให้เป็นศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาค รวมถึงการเป็นสถานที่ซ่อมบำรุงอากาศยาน สถาบันการศึกษาผลิตบุคลากรด้านการบินและเกี่ยวเนื่องกับการบิน การเป็นศูนย์กลางการแข่งขันกีฬาทางอากาศ การเป็นศูนย์กลางการบินของเครื่องบินขนาดเบาและเครื่องบินเล็กส่วนบุคคลรวมถึงเสนอโครงการด้านสิ่งแวดล้อม

โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการในเชิงระบบตั้งแต่การเฝ้าระวังคุณภาพอากาศ ไปจนถึงการพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสุขภาพประชาชน โดยนำมาตรฐาน PM 2.5 มาเป็นตัวชี้วัดคุณภาพอากาศของภาคเหนือ เป็นต้น

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!