ไทยเจ้าภาพประชุมรมว.อาเซียนมี.ค.นี้ ชงแกปัญหา 5 ประเทศก่อ”ขยะทะเล”ติดTop10โลก

กรมทรัพยากรทางทะเลฯ เจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษ มี.ค. 62 ดึง 18 ประเทศร่วมหารือแก้ปม “ขยะทะเล” หลัง 5 ประเทศอาเซียนสร้างสถิติก่อขยะลงทะเลติดท็อปเทนโลก เร่งแผนใหม่ประสานนักอนุรักษ์ระดับโลกขอการสนับสนุนนวัตกรรมบูมดักขยะ 10 ปากแม่น้ำสำคัญ เจ้าพระยา-บางปะกง-ท่าจีน-ระนอง ฯลฯ พร้อมลุยต่อเนื่องจับมือเอกชนลดขยะ ตั้งเป้าปี 2570 ลดลงกว่า 50%

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในวันที่ 5 มีนาคม 2562 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษที่กรุงเทพฯ โดยมีวาระหลักที่จะหารือ 2 ด้าน ได้แก่ ด้านขยะทะเล และด้านการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าผิดกฎหมายในประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะเรื่องขยะทะเลถือเป็นปัญหาสำคัญของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน และกำลังเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจ เนื่องจากแต่ละประเทศมีปริมาณขยะเพิ่มสูงขึ้น โดย 5 ประเทศอาเซียน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ติด 10 อันดับแรกของโลกที่มีปริมาณขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุด และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาติดอันดับ 6 ของโลก

ในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษด้านขยะทะเล จะประกอบด้วยผู้แทนจากสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศเข้าร่วม และมีการเชิญประเทศที่สนใจหรือต้องการเข้าร่วมอีก 8 ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น อเมริกา จีน และนอร์เวย์ เป็นต้น รวมถึงกลุ่มองค์กรอาสาสมัครเอกชน (NGO) เพื่อให้เกิดการดำเนินงานอย่างมีทิศทางและเป้าหมายชัดเจน ทั้งในประเทศสมาชิกอาเซียนและความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในระดับนานาชาติ ทั้งนี้ ข้อสรุปด้านขยะทะเลที่ได้จากการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษครั้งนี้จะมีการนำเสนอประเด็นทั้งหมดเข้าสู่ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนเพื่อรับรองต่อไปในเดือนมิถุนายน 2562 และจะนำไปสู่ปฏิญญาหรือข้อตกลงในการแก้ไขปัญหาร่วมกันในอนาคต

นายจตุพรกล่าวต่อไปว่า สำหรับ 10 อันดับขยะทะเลที่พบมากที่สุดในอาเซียน ได้แก่ ถุงพลาสติก ขวดน้ำพลาสติก ภาชนะบรรจุอาหาร หลอด เชือก ถุงก๊อบแก๊บ และก้นบุหรี่ เป็นต้น ซึ่งขยะเหล่านี้ปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง เป็นระบบนิเวศที่เปราะบาง และมีความอ่อนไหวต่อมลพิษ จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันไม่ให้ก่อเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ รวมถึงผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ทะเลหายากที่ใกล้สูญพันธุ์ ระบบนิเวศปะการัง และชายหาดที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ

“เรื่องขยะถือเป็นภารกิจพิเศษที่อยู่ในยุทธศาสตร์ชาติของไทย และในบทบาทความร่วมมือกับนานาชาติกรมมีพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง มีความร่วมมือในระดับทวิภาคีกับประเทศต่าง ๆ เพื่อศึกษาวิจัยในสาขาที่มีความสนใจร่วมกัน และในระดับพหุภาคี โดยกรมเป็นหน่วยประสานงานหลัก และสนับสนุนในความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ ทั้งในด้านการศึกษา วิจัย การดำเนินการร่วมกันเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม ระบบนิเทศทางทะเล และในวาระที่ประเทศไทยจะเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ นับเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะแสดงบทบาทในการเป็นผู้นำที่จะยกระดับความร่วมมือในการจัดการปัญหาขยะทะเลให้มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อเป็นการต่อยอดจากการประชุมอาเซียนเรื่องการลดปริมาณขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน ที่กรมจัดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ตเมื่อปลายปี 2560

อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือในระดับโลกกับองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญอีกเรื่องเป็นวาระการพัฒนาของโลกในปัจจุบัน คือการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย “วาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี ค.ศ. 2030” ของสหประชาชาติ โดยในส่วนของกรมรับผิดชอบและเป็นหน่วยงานประสานหลักในการดำเนินกิจกรรมในเป้าหมายที่ 14 เพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน โดยกรมได้ดำเนินการทั้งการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ป้องกัน ปราบปราม งานวิจัยและความร่วมมือ เช่น การปลูกเสริมปะการัง การประกาศพื้นที่คุ้มครองทางทะเล การพัฒนาแผนที่เขตแดนทางทะเลของจังหวัดชายทะเล เป็นต้น

นอกจากนี้ กรมมีการดำเนินความร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ เพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนที่สำคัญ อาทิ 1.คณะทำงานด้านมหาสมุทรและการประมงภายใต้กรอบเอเปก (Ocean and Fisheries Working Group : OFWG) 2.คณะอนุกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยสมุทรศาสตร์ (Intergovernment Oceanographic Commission : IOC) 3.คณะอนุกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยสมุทรศาสตร์ภาคพื้นแปซิฟิกตะวันตก (IOC Sub-Commission for the Western Pacific : IOC WESTPAC) 4.สำนักประสานความร่วมมือทางทะเลในเอเชียตะวันออก (Coordination Body on the Seas of East Asia : COBSEA) 5.คณะทำงานอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง (ASEAN Working Group on Coastal and Marine Environment : AWGCME) 6.คณะกรรมการความร่วมมือทางด้านธรณีวิทยาในเอเชียตะวันออก (Coordinating Committee for Geoscience Programmes in East and Southeast Asia : CCOP) เป็นต้น

 

กรมทรัพย์ผนึกเนเธอร์แลนด์ ดึง “บูมดักขยะ” แก้ปัญหา 23 จว.ชายฝั่ง

สำหรับการบริหารจัดการขยะของประเทศไทย โดยเฉพาะบริเวณแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ติดทะเล ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งพบว่า ขยะทะเลส่วนใหญ่ 80% มาจากบนบกไหลลงผ่านทางแม่น้ำ กรมจึงมีแผนใช้แขนดักขยะหรือบูมในการเก็บขยะปากแม่น้ำเพื่อป้องกันขยะไหลลงสู่ทะเล โดยได้ติดต่อขอความช่วยเหลือไปที่ Boyan Slat นักศึกษาชาวเนเธอร์แลนด์ CEO ของ The Ocean Cleanup ซึ่งเป็นผู้คิดค้นบูมดักขยะ โดยต้องออกแบบในการผลิต รวมถึงประสานให้จังหวัดและท้องถิ่นเข้ามาช่วยเก็บขยะที่ดักได้บริเวณปากแม่น้ำไปจัดการ

โดยในเดือนมิถุนายน 2562 Boyan Slat จะเดินทางมาส่งมอบอุปกรณ์สนับสนุนในการจัดการขยะทะเลเบื้องต้นให้กับกรม รวมถึงนำเรือกวาดขยะในทะเลที่ถูกออกแบบเป็นพิเศษมาร่วมเก็บกวาดขยะในทะเลประเทศไทยด้วย ซึ่งการสนับสนุนในครั้งนี้เป็นลักษณะให้เปล่าและไม่แสวงผลกำไร ด้วยเงินกองทุนสำหรับการจัดการขยะทะเลนับหมื่นล้านบาท ซึ่งจะดำเนินการใน 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย โดยที่ผ่านมามีการทดลองระดับหนึ่งเพื่อจุดที่เหมาะสมที่สุดในการติดตั้งบูมดักขยะดังกล่าว เนื่องจากต้องคำนึงถึงเงื่อนไขต่าง ๆเช่น น้ำขึ้น-ลง การเดินเรือ ผักตบชวา เป็นต้น

ทั้งนี้ ปี 2562 กรมมีงบประมาณในการติดตั้งประมาณ 10 ล้านบาท ในพื้นที่ปากแม่น้ำหลักที่สำคัญ เช่น เจ้าพระยา บางปะกง ท่าจีน ระยอง ระนอง กระบี่ ฯลฯ รวมถึงเตรียมจัดประชุมร่วมกับทางอาสาสมัครในพื้นที่ว่าเมื่อขยะติดบูมดักขยะแล้ว จะลากมาที่ฝั่งเพื่อให้ช่วยเหลือจัดเก็บอย่างไร ทั้งนี้ สำหรับภาคเอกชนทั้งบริษัทโคคา-โคลา และเอสซีจี ให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมเช่นเดียวกัน ขณะเดียวกัน กรมได้เตรียมเรือกวาดเก็บขยะในทะเลอีก 2 ลำ สำหรับเก็บขยะที่หลุดรอดจากปากแม่น้ำออกไป ซึ่งทำให้สถานะของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นเหมือนกับเทศบาลทางทะเล

นอกจากนี้ ยังได้จัดทำมาตรการลดปริมาณขยะลงสู่ทะเลในพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับภาคส่วนต่าง ๆ โดยปี 2562 จะขยายพื้นที่ในกลุ่มชุมชนชายฝั่งไปที่เขตเทศบาลเมืองชะอำ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ชุมชนชายฝั่งบ้านปากกะแดะ จ.สุราษฎร์ธานี ชุมชนเก้าเส้ง ต.เขารูปช้าง อ.เมืองสงขลา ชุมชนบ้านโหนทรายทอง ต.รัษฎา อ.เมืองภูเก็ต และชุมชนคุระ อ.คุระบุรี จ.พังงา ในส่วนกลุ่มผู้ประกอบการแหล่งท่องเที่ยวที่เข้ามาเพิ่ม ได้แก่ ร้านค้าชายหาดรูสะมิแล ต.รูสะมิแล อ.เมืองปัตตานี และโรงแรม รีสอร์ตในพื้นที่เกาะสุกร ต.เกาะสุกร อ.ปะเหลียน จ.ตรัง

จากเดิมปี 2560 นำร่องในพื้นที่เกาะไข่ใน เกาะไข่นอก และเกาะไข่นุ้ย จ.พังงา ซึ่งเป็นการลงนามระหว่าง ทช.กับเทศบาลตำบล กำนันตำบล คณะกรรมการบริหารจัดการเกาะไข่ และผู้ประกอบการร้านค้ารวม 47 ราย ขณะที่ปี 2561 มีการขยายผลไปที่กลุ่มชุมชนชายฝั่ง คือ หาดแสงจันทร์ จ.ระยอง พื้นที่ตลาดชุมชนบ้านแหลมโพธิ์ จ.สุราษฎร์ธานี ชุมชนตำบลเกาะยอ จ.สงขลา และหมู่เกาะไข่ อ.เกาะยาว จ.พังงา และกลุ่มผู้ประกอบการบนหาดเจ้าสำราญ จ.เพชรบุรี เกาะเฮ จ.ภูเก็ต และเกาะมุกด์ จ.ตรัง

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!