“พชระ โง้ว” นำธง UNiBOT รง. “แขนกล” สัญชาติไทยตีตลาดโลก

สัมภาษณ์

อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (robotics) ถือเป็น 1 ใน 5 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-curve) ที่รัฐบาลส่งเสริมผลักดันในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์โรงงานผลิตหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรมสัญชาติไทยรายแรก ที่เพิ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เมื่อปลายปี 2561 ซึ่ง “ดร.พชระ โง้ว” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิคัล เวิร์คส์ จำกัด (UNiCAL) อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี บริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายแขนหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรมในนาม UNiBOT หุ่นยนต์ 6 แกน ได้มาบอกเล่าถึงความสามารถของผลิตภัณฑ์ที่บริษัทผลิตได้อย่างทัดเทียมกับฝีมือของบริษัทต่างชาติ แถมมีราคาถูกกว่าอย่างน่าสนใจยิ่ง

Q : ที่มาในการผลิตแขนหุ่นยนต์

เดิมบริษัททำอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ขนาดเล็กส่งให้บริษัทต่างชาติ และเริ่มมีแนวคิดในการผลิตที่อยากทำหุ่นยนต์ที่มีแขน และมอเตอร์ ซึ่งมีการใช้มานานแล้ว แต่ในประเทศไทยเป็นการผลิตเพื่อการวิจัย ยังไม่มีการผลิตเพื่อขายเชิงพาณิชย์ในปริมาณมาก โดยทางบริษัทมีความต้องการจะผลิตตัวแขนหุ่นยนต์เพื่อขายให้กับโรงงานอุตสาหกรรมด้วยราคาที่เข้าถึงได้ เพราะในตลาดที่มีขายอยู่หลายร้อยยี่ห้อ ราคาค่อนข้างสูง โดยสินค้าของ UNiBOT อาจไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดในท้องตลาด แต่ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้ลูกค้า

Q : จุดแข็งที่สู้กับผู้ผลิตต่างชาติ

หลังทำการวิจัย พัฒนา และออกแบบตั้งแต่ปี 2555 ถึงวันนี้บริษัทได้พัฒนาสินค้าขึ้นมาจนสร้างจุดแข็ง 2 ข้อหลัก ได้แก่ 1.ลูกค้าสามารถเลือกปรับแต่งฟังก์ชั่นและเงื่อนไขที่ต้องการใน UNiBOT ได้ เช่น ลูกค้าสามารถเลือกได้ว่าจะใช้แผงควบคุมของบริษัท หรือแผงควบคุมแบรนด์อื่น ซึ่งหากเลือกแผงควบคุมที่บริษัทผลิตเองจะมีความยืดหยุ่นกว่าเนื่องมีการพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยมีโปรแกรมเมอร์ของบริษัทที่ทำงานในด้านดังกล่าวทำให้ สามารถนำไปใช้ทำงานได้หลากหลาย และตอบโจทย์การใช้งานเฉพาะ เช่น อยากได้การควบคุมและการเคลื่อนไหวที่ทำได้มากกว่าแขนกลทั่วไป เป็นต้น

รวมไปถึงในส่วน SI (system integrator) หรือการออกแบบและติดตั้งระบบซอฟต์แวร์ ที่ลูกค้าที่มีความรู้สามารถทำ SI ด้วยตัวเองได้เช่นกัน เพราะบริษัทเน้นไปที่การผลิตหุ่นยนต์ที่มีความเรียบง่ายเป็นพื้นฐาน และเปิดโอกาสให้ผู้พัฒนาระบบคำสั่ง และอุปกรณ์เสริม เช่น มือจับต่าง ๆ นำไปใช้พัฒนาต่อได้

2.ราคาที่จับต้องได้ โดยราคาของแขนหุ่นยนต์ในท้องตลาดทั่วไป มักจะมีราคาขายประมาณ 400,000-500,000 บาท แต่สินค้าของ UNiBOT มีราคาอยู่ที่ประมาณ 300,000-400,000 บาท รวมคอนโทรลเลอร์ หรือต่ำกว่าที่มีอยู่ในท้องตลาด 30-40% เนื่องจากกลไกสำคัญเราได้ออกแบบเกียร์ หรือเกียร์ทดรอบ ที่เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์เพื่อให้เกิดกำลังในการทำงาน ซึ่งเกียร์ดังกล่าวมีอัตราส่วน 30-40% ของราคาของหุ่นยนต์ ซึ่งมีต้นทุนในการผลิตไม่สูงนัก

Q : UNiBOT มีผลิตภัณฑ์อะไรบ้าง

มีชิ้นส่วนเกียร์เป็นผลิตภัณฑ์ชูโรงของบริษัท เดิมทีจะไปจ้างบริษัทอื่นผลิตเกียร์ แต่หาคนผลิตในประเทศไทยไม่ได้ สุดท้ายต้องลงทุนเรื่องเครื่องจักรและหาความรู้ในการจัดการผลิตเอง ส่งผลให้เกียร์ของบริษัทที่นำออกจำหน่ายมีราคาที่ถูกลงกว่าท้องตลาดด้วย โดยในโลกนี้มีเกียร์อยู่แล้วหลายยี่ห้อ มีรูปแบบอยู่แล้วในท้องตลาด แต่สิ่งที่บริษัททำนั้นเพื่อเป็นการสร้างขนาดมาตรฐานแรกเริ่มสำหรับการใช้งานในประเทศไทย ในราคาจับต้องได้ รวมถึงในตลาดของอะไหล่หุ่นยนต์นั้น การติดต่อเพื่อซื้อเกียร์จะมีระยะเวลาจัดส่งสินค้านานถึงเกือบ 1 ปี เพราะผู้ผลิตมีจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนลูกค้า ทำให้ต้องต่อคิวรอการผลิตที่ถูกกำหนดโดยลูกค้าเก่าที่สั่งในปริมาณมากอยู่ก่อนแล้ว

โดยเกียร์สามารถนำไปใช้ได้หลายแบบ นับตั้งแต่เครื่องกลึง CNC หรือการกลึงที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ เช่น ต้องการให้เคลื่อนไหวอย่างไร ก็สั่งการด้วยคอมพิวเตอร์ และคอมพิวเตอร์จะไปควบคุมมอเตอร์ มอเตอร์จะขับเกียร์ตัวดังกล่าวในการทดให้เกิดแรงในการขับเคลื่อนเครื่องจักร เป็นต้น

Q : การสร้างเด็กรุ่นใหม่ขึ้นมารองรับ

ทางบริษัทตั้งเป้าจะจัดทำเป็นมาตรฐานเริ่มต้นในประเทศไทย ทั้งแขนหุ่นยนต์ และเกียร์ เรามองว่าในอนาคตเมื่อการใช้หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมแพร่หลายมากขึ้น และมีราคาถูกลงอีก จะทำให้นักศึกษาอาชีวะสามารถเข้าถึงเกียร์และเครื่องกลเหล่านี้ เพื่อนำไปสู่การต่อยอดในการผลิตหุ่นยนต์ ทั้งเพื่อการพัฒนา การวิจัย และการศึกษา เพราะเกียร์จากต่างประเทศทั้งญี่ปุ่น เยอรมนี ราคาจะสูงมากจนจับต้องไม่ได้ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้มีโอกาสเข้าไปร่วมในการส่งเสริมหลักสูตรของวิชาช่างซ่อมหุ่นยนต์อุตสาหกรรม กับวิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกปัตตานี ผ่านแนวคิดที่ว่าเมื่อแขนหุ่นยนต์ถูกใช้อย่างแพร่หลาย ประเทศไทยต้องสร้างบุคลากรขึ้นมารองรับการใช้งาน โดยคำนึงว่าทำอย่างไรให้ผู้เรียนมีความเข้าใจเรื่องแขนหุ่นยนต์ทั้งระบบไฟฟ้า ระบบเมคานิก ซึ่งเราเสนอไปว่าหลักสูตรนี้ผู้เรียนควรจะถอดประกอบได้เหมือนหลักสูตรเกี่ยวกับรถยนต์

Q : โอกาสของหุ่นยนต์ไทยในตลาดโลก

อนาคตอันใกล้ทั้งหุ่นยนต์ AI และเทคโนโลยี จะเข้ามามีบทบาทในการช่วยงานของมนุษย์ และมีความจำเป็นอย่างมาก เพราะงานในหลายรูปแบบจำเป็นต้องใช้เครื่องยนต์กลไกเข้ามาช่วย เพื่อลดต้นทุนด้านแรงงาน เช่น งานในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เป็นงานซ้ำ ๆ ได้แก่ หยิบของออกจากเครื่องจักร เชื่อม พ่นสี ขัดแต่ง ประกอบงาน ตรวจงาน หรือขึ้นอยู่กับผู้ซื้อจะนำไปใช้ทำอะไร ซึ่งหากว่าเครื่องจักรทำงานแทนคนได้จะทำให้ต้นทุนถูกลง รวมถึงมีเสถียรภาพในการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น

อีกทั้งหุ่นยนต์สมัยใหม่ไม่ว่าจะเป็นเกียร์หรือระบบไฟฟ้าล้วนถูกออกแบบมาให้อายุการทำงานเท่า ๆ กับตัวเครื่องจักร หรือประมาณ 5,000 ชม.ขึ้นไป ยกเว้นเสียแต่ว่าเกิดอุบัติเหตุ เพราะมันถูกออกแบบให้เรียบง่าย ทั้งนี้ หุ่นยนต์ไม่ใช่เพียงเพื่ออวดศักยภาพของโรงงาน แต่คือการลดต้นทุน เป็นเครื่องจักรที่มีขึ้นเพื่อตอบโจทย์เฉพาะ

โดยในปี 2562 ตั้งเป้าจะผลักดันให้เกิดการใช้งานจริงสัก 100 เคส และในปี 2563 เมื่อผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในแบรนด์ UNiBOT คาดว่าจะขายตลาดได้ทั่วไป ไม่เฉพาะในประเทศไทย แต่รวมถึงการส่งออกที่พุ่งเป้าไปยังประเทศในทวีปเอเชียที่ใกล้เคียงกัน เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ที่ยังไม่มีบริษัทที่ผลิตเกียร์สำหรับแขนหุ่นยนต์ได้เอง