กัมพูชาจี้ตราดเปิดด่านถาวร 7 วัน “บ้านท่าเส้น-ทมอดา” ดันการค้า-ลงทุน-ท่องเที่ยว

ประเสริฐ ลือชาธนานนท์ - เมา ทนิน

ความพยายามของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจังหวัดตราด ในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐของประเทศกัมพูชา มีให้เห็นในหลากหลายมิติด้วยเพราะเป็นจังหวัดที่มีพรมแดนติดต่อกัน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายประเสริฐ ลือชาธนานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด พร้อมด้วย นายเมา ทนิน (Dr.Mau Thanin) ผู้ว่าราชการจังหวัดโพธิสัตว์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสองฝ่ายได้มีการประชุมหารือร่วมกันด้านความร่วมมือระหว่างจังหวัดตราดกับจังหวัดโพธิสัตว์ ราชอาณาจักรกัมพูชา 4 เรื่อง คือ 1) การเปิดจุดผ่านแดนถาวรด่านท่าเส้น อ.บ่อไร่ จ.ตราด-อ.เวียลเวง จ.โพธิสัตว์ กัมพูชา 2) การขยายวัน เวลา การเปิดช่องทางการค้าทางธรรมชาติบ้านท่าเส้น-บ้านทมอดา 3) การยกระดับเป็นจุดผ่อนปรนทางการค้าเพื่อการใช้เอกสารสำเนาบัตรข้ามแดน (border pass) อำนวยความสะดวกเดินทางเข้า-ออกเพื่อการค้าและการท่องเที่ยว และ 4) การค้าขายสินค้าเกษตรจากกัมพูชา เช่น ข้าว ข้าวโพด และการส่งแรงงานเข้ามาทำงาน

โดยนายเมา ผู้ว่าราชการจังหวัดโพธิสัตว์กล่าวว่า สำหรับการเปิดจุดผ่านแดนถาวรบ้านท่าเส้น-ทมอดา เป็น 1 ใน 4 แห่งที่รัฐบาลกัมพูชาเห็นชอบร่วมกับรัฐบาลไทย ตามข้อตกลงในการประชุมเมื่อ 28 สิงหาคม 2560 แต่ที่ผ่านมายังไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากถนนหมายเลข 55 ที่เชื่อมระหว่างจังหวัดโพธิสัตว์มาชายแดนบ้านทมอดา-ท่าเส้น ระยะทาง 186 กิโลเมตร เพิ่งก่อสร้างเสร็จ จะเห็นศักยภาพของจังหวัดโพธิสัตว์มีความพร้อมเปิดเส้นทางเพื่อการทำการค้าและการท่องเที่ยวตามยุทธศาสตร์ของจังหวัด จะเชื่อมโยงกับเมืองสำคัญต่าง ๆ เมื่อมีความสะดวกในการขนส่ง การค้า และการขยายตัวของชุมชน ทำให้ชาวกัมพูชาต้องการเข้ามาซื้อสินค้าทางฝั่งไทยเพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงต้องการขอขยายวัน เวลาเปิดด่านบ้านท่าเส้นซึ่งเป็นช่องทางการค้าธรรมชาติที่ปกติเปิดเฉพาะวันจันทร์ พุธ เสาร์ ซึ่งไม่ตรงวันหยุดของกัมพูชา โดยขอให้เปิดทั้ง 7 วัน รวมทั้งการใช้ border pass ตามข้อตกลง เพื่อความสะดวกในการเดินทางเข้า-ออกและท่องเที่ยว

“นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาโพธิสัตว์ตามเส้นทางหมายเลข 55 ต้องการจะเดินทางข้ามด่านมาไทยจำนวนมาก เพื่อจับจ่ายซื้อของและท่องเที่ยว เฉลี่ยเดือนละประมาณ 30,000 คน จะทำให้ไทยมีดุลการค้าเพิ่มขึ้น”

ด้าน นายอึง กิม เลียง (H.E. Ing Kim Leang) รองผู้ว่าราชการจังหวัดโพธิสัตว์ กล่าวถึงยุทธศาสตร์ของจังหวัดโพธิสัตว์ว่า จังหวัดโพธิสัตว์มีประชากร 490,000 คน เชื่อมโยงกับเมืองสำคัญ ๆ เช่น พระตะบอง กัมปงชนัง กรุงพนมเปญเมืองหลวง และ อ.เวียลเวียง จ.โพธิสัตว์ มีเส้นทางที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกับอีกหลายจังหวัด ซึ่งชาวกัมพูชาต้องการจะเข้ามาซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคของไทย และเดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดตราด ซึ่งมีจุดเด่นที่มีชายทะเล และอาหารทะเล เนื่องจากการเดินทางไปเมืองชายทะเลในกัมพูชามีระยะทางไกลและไม่สะดวก จึงขอขยายวันและเวลาการเข้า-ออกบริเวณด่านบ้านท่าเส้น-ทมอดา

“ปัจจุบันชาวกัมพูชามีกำลังซื้อสูงจากผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ปี 2561 จำนวน 1,200 ดอลลาร์/คน/ปี เพิ่มขึ้น 3% จากปี 2560 เมื่อถนนหมายเลข 55 เสร็จ ทำให้การขนส่งสะดวกขึ้น จึงต้องการให้มีการซื้อขายสินค้าแลกเปลี่ยนระหว่างกัน เช่น กัมพูชา ต้องการสินค้าอุปโภคบริโภค วัสดุก่อสร้าง

ขณะที่ชาวกัมพูชาต้องการตลาดเพื่อส่งออกผลผลิตด้านเกษตรและแรงงาน เช่น ข้าว มีปริมาณส่งออก 30,000-40,000 ตัน/ปี ข้าวโพด ผลิตได้ 70,000-100,000 ตัน มีแรงงาน 15,000 คน โดยปี 2560 แรงงานเข้ามาทำงานในจังหวัดตราด 5,000 คน มีแหล่งท่องเที่ยว 18 แห่ง รวมถึงชาวกัมพูชาต้องการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวชายทะเล กินอาหารทะเลจังหวัดตราด ซึ่งมีชายทะเลที่สวยงามอยู่ใกล้กว่าเมืองชายทะเลในกัมพูชา”

ทางด้านนายประเสริฐผู้ว่าราชการจังหวัดตราดกล่าวถึงว่า การเปิดจุดผ่านแดนถาวรบ้านท่าเส้น-บ้านทมอดาเป็นนโยบายของรัฐบาลตามที่ได้ประชุมกันเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 แต่ในทางปฏิบัติมีทั้งเรื่องเก็บกู้ระเบิดเพื่อทำเส้นทางเชื่อมถึงชายแดนเป็นระยะทางเกือบ 2 กม. และที่สำคัญเป็นพื้นที่ของกองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด (กปช.จต.) รับผิดชอบอยู่ในการดูแล ของกองร้อยทหารพรานนาวิกโยธินที่ 535 ดูแล รวมถึงเรื่องการขยายวันและเวลาการเข้า-ออกบริเวณด่านบ้านท่าเส้น-ทมอดา ต้องให้หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินตราด งานกองร้อยเป็นผู้นำเสนอ และ กปช.จต.นำเสนอหน่วยเหนือพิจารณาโดยตรง ส่วนการใช้บอร์เดอร์พาสนั้นเนื่องจากมีแนวปฏิบัติให้ใช้กับจุดผ่อนปรนทางการค้า จังหวัดจะนำเสนอกระทรวงมหาดไทยพิจารณายกระดับจากช่องทางการค้าทางธรรมชาติเป็นจุดผ่อนปรนทางการค้าต่อไป

ทางด้าน นางวิยะดา ซวง นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดตราด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เป็นโอกาสของจังหวัดตราดที่จะทำการค้าและเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับกัมพูชา เพราะถนนสายหมายเลข 55 เป็นเส้นทางที่สะดวกตามยุทธศาสตร์จังหวัดพระตะบอง อยู่ห่างชายแดนเพียง 90 กิโลเมตร ห่างจากโพธิสัตว์ 109 กิโลเมตร มีประชากร 1,300,000 คน และเชื่อมโยงกับกัมปงชนังห่าง 190 กิโลเมตร ประชากร 600,000 คน และเชื่อมต่อกัมปงชนังถึงกรุงพนมเปญเมืองหลวง ระยะทางอีก 70 กิโลเมตร ประชากรกว่า 7 ล้านคน

รวมทั้งเกาะกงอยู่ห่างชายแดนเพียง 68 กิโลเมตร ประชากรประมาณ 200,000 กว่าคน ทำให้โพธิสัตว์มีศักยภาพ ประชากรชาวกัมพูชาจำนวนมากจะมาจับจ่ายซื้อสินค้าและท่องเที่ยวในจังหวัดตราด ซึ่งในระยะแรกการยกระดับจุดผ่อนปรนทางการค้าถ้าสามารถใช้บัตรผ่านแดนมีเจ้าหน้าที่ศุลกากร ตรวจคนเข้าเมือง จะช่วยอำนวยความสะดวกได้มากขึ้น และเมื่อมีความพร้อมน่าจะพัฒนาเป็นจุดผ่านแดนถาวรต่อไป

นายสมชาย กลิ่นอยู่ คณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ด้านการค้า การลงทุน และการค้าชายแดน หอการค้าไทย และคณะทำงานยุทธศาสตร์ด้านการค้า การลงทุน และการค้าชายแดน หอการค้า จ.ตราดกล่าวว่า เห็นด้วยกับการยกระดับการเปิดจุดผ่านแดนถาวรบ้านท่าเส้น เพราะเป็นโอกาสที่ธุรกิจจังหวัดตราดจะเติบโตมากทั้งการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว โรงพยาบาล คลินิก ห้างสรรพสินค้า สถานบริการต่าง ๆ รวมทั้งบริการด้านการขนส่ง

ต่อไปนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศจากด่านทมอดามาใช้บริการสนามบินตราด หรือเชื่อมโยงนักท่องเที่ยวจากสนามบินสุวรรณภูมิมาท่องเที่ยวเกาะช้าง จังหวัดตราด และเดินทางต่อเข้าไปกัมพูชาผ่านจุดผ่านแดนถาวร เม็ดเงินจะเข้ามาหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจของจังหวัดตราด หอการค้าจังหวัดตราดให้ความร่วมมือผลักดันการยกระดับจุดผ่านแดนถาวรมาโดยตลอด

ทั้งนี้ จากการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2561 ที่กรุงเทพฯ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.เตีย บันห์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กัมพูชา ได้เตรียมยกระดับจุดผ่อนปรน 4 แห่งเป็นจุดผ่านแดนถาวร คือ ช่องอานม้า จ.อุบลราชธานี-ช่องอานเซ จ.พระวิหาร ช่องบ้านเขาดิน จ.สระแก้ว-บ้านพนมได จ.พระตะบอง ช่องบ้านท่าเส้น จ.ตราด-บ้านทมอดา จ.โพธิสัตว์ และช่องสายตะกู จ.บุรีรัมย์- ช่องจุ๊บโกกี จ.อุดรมีชัย ปี 2561 ได้เปิดช่องบ้านเขาดิน จ.สระแก้ว-บ้านพนมได จ.พระตะบอง เพียงแห่งเดียว

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!