รัฐ-ชาวสวนขัดแย้งหนักตัวเลขพิษปาบึก

ขัดแย้ง - หลังพายุปาบึกเข้าถล่มพื้นที่ภาคใต้ระหว่างวันที่ 3-5 มกราคม 2562 ปรากฎว่าตัวเลขผลสำรวจความเสียหายพื้นที่เกษตรระหว่างชาวสวน ชาวไร่ และภาครัฐ มีรายงานตัวเลขที่ห่างกันค่อนข้างมาก

ควันหลงปาบึก ชาวสวนภาคใต้ “วิกฤตหนัก” ภาคีเครือข่าย “คยปท.” เผยสวนยางเสียหายสิ้นเชิง 1.5 แสนไร่ ทำคนตกงาน 2 แสนคน ขณะที่เกษตรจ.นครศรีฯแย้งผลสำรวจ 23 อำเภอพบนาข้าว-พืชไร่-พืชสวน “เสียหายสิ้นเชิง” 3 หมื่นไร่ ด้านสุราษฎร์ “พบเสียหายเบื้องต้น” พืชทุกชนิด 9.5 หมื่นไร่

นายทศพล ขวัญรอด เจ้าของสวนยางพารา ในฐานะประธานภาคีเครือข่ายชาวสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย (คยปท.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์พายุปาบึกที่เกิดขึ้นทางภาคใต้ พบตัวเลขสวนยางพาราเสียหายสิ้นเชิง อย่างไม่เป็นทางการเบื้องต้นกว่า 150,000 ไร่ทั่วภาคใต้ โดยเฉพาะ 16 อำเภอของ จ.นครศรีธรรมราช ได้รับความเสียหายเป็นอันดับ 1 รองลงมา คือ จ.สุราษฎร์ธานี และจังหวัดที่เหลือเสียหายไม่มากนัก ได้แก่ จ.พัทลุง สงขลา กระบี่ พังงา ภูเก็ต และ จ.ตรัง ทั้งนี้ สวนยางพาราที่เสียหายกว่าจะปลูกใหม่ และกรีดได้ต้องใช้เวลาประมาณ 6-7 ปี ส่งผลให้เจ้าของสวน และลูกจ้างกรีดยางพารา ตกงานกว่า 180,000-200,000 คน เป็นการหมดตัวหมดอาชีพไปหลายสิบปี ซึ่งจนถึงขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีนโยบายเข้ามาช่วยเหลือสนับสนุน รวมถึงเจ้าของสวนยางพาราที่ไม่มีเอกสารสิทธิ รัฐจะทำการสนับสนุนช่วยเหลืออย่างไร ทั้งนี้ สวนยางพารา 150,000 ไร่ ปกติจะให้ปริมาณน้ำยาง 3 กก./ไร่ รวมแล้ว หรือประมาณ 450,000 กก./วัน หรือประมาณ 90,000 ตัน/ปี ที่ได้รับความสูญเสียไป ขณะที่ไม้ยางพาราราคาตกต่ำลงมา เหลือประมาณ 1.40-1.60 บาท/กก. จากเดิมราคา 1.60-1.80 บาท และไม้ฟืนเหลือราคา 35 สตางค์ จากเดิม 70-80 สตางค์ และเคยขยับขึ้นมา 1 บาท/กก. อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์กัน เจ้าของสวนยางพาราที่ขายพื้นที่ยกสวน ราคาซื้อขายประมาณ 300,000 บาท/ไร่ ขนาดที่ดินนา ไม้ยางพารา ประมาณ 45,000 บาท/ไร่ ดังนั้น หากตีเป็นมูลค่ารวม 150,000 ไร่ ที่ได้รับความเสียหาย จะตกประมาณ 450,000 ล้านบาท

นครฯเสียหายสิ้นเชิง 3 หมื่นไร่

นายสมโชค ณ นคร เกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลสรุปการสำรวจความเสียหายของเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ด้านพืช) จากพายุปาบึก ในพื้นที่ 23 อำเภอของ จ.นครศรีธรรมราช ณ วันที่ 24 มกราคม 2562 พบว่า มีเกษตรกรได้รับผลกระทบ 13,211 คน มีพื้นที่ทางการเกษตรเสียหายสิ้นเชิงรวม 30,968.75 ไร่ แบ่งเป็นข้าว 1,156.50 ไร่ พืชไร่ 1,035.50 ไร่ และพืชสวนและอื่น ๆ จำนวน 28,776.75 ไร่ ซึ่งตามระเบียบกระทรวงการคลัง ในกรณีเสียหายสิ้นเชิงให้ช่วยเหลือตามพื้นที่เสียหายจริง ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ ในอัตราข้าวไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ 1,148 บาทต่อไร่ และพืชสวน 1,690 บาทต่อไร่ ทั้งนี้ หลังจากรวบรวมข้อมูลทั้งหมดแล้ว ทางจังหวัดจะจัดประชุมคณะกรรมการให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติระดับจังหวัดในวันที่ 26 ม.ค.นี้ ก่อนจะนำเสนอข้อมูลรายงานให้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับทราบ เพื่อนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติเงินให้ความช่วยเหลือต่อไป

สุราษฎร์ฯคาดเสียหาย 9 หมื่นไร่

รายงานข่าวจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จ.สุราษฎร์ธานี เปิดเผยผลสำรวจความเสียหายของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากพายุปาบึก ณ วันที่ 21 มกราคม 2562 ที่มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินวาตภัย/อุทกภัย รวม 17 อำเภอ ได้แก่ ไชยา ท่าชนะ ดอนสัก เกาะพะงัน บ้านนาเดิม พุนพิน เกาะสมุย เมืองสุราษฎร์ธานี บ้านนาสาร พระแสง ท่าฉาง กาญจนดิษฐ์ วิภาวดี คีรีรัฐนิคม เวียงสระ พนม และเคียนซา และไม่ประกาศภัย 2 อำเภอ คือ บ้านตาขุน และชัยบุรี พบพืชเศรษฐกิจคาดว่าจะเสียหาย 65,665 ไร่ มีเกษตรกรประสบภัย 118 ตำบล 969 หมู่บ้าน 64,253 ครัวเรือน ขณะที่ด้านประมงมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 7 อำเภอ 119 หมู่บ้าน เกษตรกร 637 ราย พื้นที่ที่คาดว่าได้รับความเสียหาย เช่น ปลา กุ้ง ปู 1,538 ไร่กระชัง และบ่อซีเมนต์ บ่อพลาสติก 15,495 ตารางเมตร ส่วนด้านปศุสัตว์มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 3 อำเภอ 11 ตำบล 32 หมู่บ้าน เกษตรกร 585 ราย สัตว์เลี้ยงได้รับผลกระทบรวม 16,526 ตัว

ทั้งนี้ ในแบบรายงานความเสียหายเบื้องต้นด้านพืช ครั้งที่ 5 มีตัวเลขพื้นที่ที่คาดว่าเสียหายรวมทั้งหมด 95,665 ไร่ แบ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก อาทิ ยางพารา คาดว่าเสียหาย 49,552 ไร่ ปาล์มน้ำมัน คาดว่าเสียหาย 31,073 ไร่ ข้าว คาดว่าเสียหาย 2,461 ไร่ ทุเรียน คาดว่าเสียหาย 1,787 ไร่ มะพร้าว คาดว่าเสียหาย 650 ไร่ และพืชผักคาดว่าเสียหาย 7,480 ไร่ ฯลฯ

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!