ทช. ทุ่มงบ 1.4 พันล้าน ฟื้นฟูชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด วางกฎฝ่าฝืนปรับ 1 แสน

เมื่อวันที่ 31 ม.ค. นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัยพากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า ทช.จะดำเนินการภายใต้งบประมาณ 2562 จำนวน 1,412 ล้านบาทในการฟื้นฟูชายฝั่งทะเลทั้ง 23 จังหวัดทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. การฟื้นฟูทรัพยากรในด้านต่างๆ ได้แก่ แนวปะการัง ป่าชายเลน และการกัดเซาะชายฝั่ง 2. การออกมาตรการป้องกันและดูแลทรัพยากรทางทะเล

ซึ่งมีทั้งการออกระเบียบและมาตรการควบคุมไปจนถึงการมอบอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และส่วนจังหวัด เข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้เกิดการทำงานไร้รอยต่อ
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

นายจตุพร กล่าวต่อว่า ในส่วนการฟื้นฟูนั้น ทช. ตั้งเป้าว่าในปี 2562 จะดำเนินการปลูกแนวปะการังใน 10 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ตราด ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสงขลา บนพื้นที่ 150 ไร่ เป็นปะการังจำนวน 240,000 กิ่ง รวมไปถึงการฟื้นฟูหญ้าทะเลในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ชุมพร สงขลา และพังงา พื้นที่ 60 ไร่ เป็นหญ้าทะเลจำนวน 96,000 กอ

นอกจากนี้ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ส่วนท้องถิ่นและโยธาธิการจังหวัด ต้องทำในรูปแบบโครงสร้างที่ทช. กำหนดเท่านั้น และต้องเร่งให้เสร็จเรียบร้อยใน 1-2 ปีนี้ ส่วนการฟื้นฟูป่าชายเลนจะมีนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น โครงการไม้โกงกางเทียม หรือนวัตกรรมซีออส โครงการบูมหรือแขนดักขยะเพื่อให้ขยะที่ไหลมาตามแม่น้ำไม่สามารถเล็ดลอดออกไปสู่ทะเลได้มาก

อธิบดีทช. กล่าวว่า ในส่วนของกฎหมายมาตรการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล ซึ่งอยู่นอกเหนืออาณาเขตการดูแลของกรมอุทยานฯ ล่าสุดได้เสนอร่างมาตรการคุ้มครองเกาะสีชัง จ.ชลบุรี ไปเมื่อปลายปี 2561 เพิ่มจากพื้นที่คุ้มครอง 3 เกาะ ได้แก่ เกาะเต่า เกาะพะงัน และเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี

โดยมาตรการดังกล่าวเป็นการร่วมมือระหว่าง ทช.กับกองทัพเรือที่เป็นฝ่ายความมั่นคง ว่าด้วยการห้ามกิจกรรมที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หากตรวจพบจะถูกจับกุมและปรับในอัตราไม่เกิน 100,000 บาท จำคุกไม่เกิน 1 ปี

“พร้อมมาตรการควบคุมดูแลนักท่องเที่ยวเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติไปพร้อมๆ กับการดูแลความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว ได้แก่ การควบคุมเรือนำเที่ยว และไกด์นำเที่ยว ในด้านรายละเอียดทางใบอนุญาต และการควบคุมประกบนักท่องเที่ยวระหว่างกิจกรรมดำน้ำชมปะการังของไกด์นำเที่ยวอย่างเป็นระบบมาตรการเดียวกับสากลที่ทำกันทั่วโลก

เพื่อให้เกิดความเสียหายต่อธรรมชาติน้อยที่สุด ซึ่งได้ผ่านคณะกรรมการชาติแล้ว คาดว่าจะมีผลภายใน 1-2 เดือน รวมไปถึงแนวทางการจำกัดนักท่องเที่ยวในการขึ้นเกาะที่อยู่นอกเขตอุทยานฯที่ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาในการวางระเบียบร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและส่วนจังหวัดในการควบคุม” อธิบดีทช. กล่าวย้ำ

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์