“พัทลุง” ดันผลิต “เบียร์-ไวน์” ข้าวสังข์หยด

สร้างมูลค่าเพิ่ม - บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีพัทลุง จำกัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) ร่วมกับมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุงผลักดันแนวคิดการนำข้าวสังข์หยด ซึ่งเป็นข้าวพื้นเมืองของ จ.พัทลุงมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เบียร์และไวน์

ประชารัฐรักสามัคคีพัทลุงผนึกมหาวิทยาลัยทักษิณดันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูป “ข้าวสังข์หยด” เป็น “เบียร์และไวน์” เลือกทำเล “บ้านเขาป้าเจ้ อ.ควนขนุน” ตั้งโรงงานผลิต สร้างรายได้ให้ชาวนา-ชุมชน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผศ.ดร.นุกูล อินทระสังขา รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง พร้อมด้วย ดร.อุกฤษฎ์ มูสิกพันธุ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง นายสิทธิชัย ลาภานุพัฒนกุล นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดพัทลุง นายเงินวสวัตติ์ ลิ่มทวีสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีพัทลุง จำกัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) และเกษตรกรผู้แปรรูปและปลูกข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุงได้ประชุมร่วมกัน ในที่ประชุมได้มีการเสนอความคิดให้ จ.พัทลุง สร้างนวัตกรรมตัวใหม่ โดยนำข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ซึ่งเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองไปผลิตเป็นเบียร์ เพื่อให้เป็นสินค้าที่มีชื่อเสียง และเพื่อการพาณิชย์ จะก่อให้เกิดมูลค่าสูงต่อเกษตรกรผู้ปลูก ซึ่งที่ประชุมต่างเห็นชอบ

นายสิทธิชัย รองประธานกรรมการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีพัทลุง และนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นต้นคิดริเริ่มในการนำข้าวสังข์หยดมาแปรรูปเป็นเบียร์ กล่าวว่าโครงการแปรรูปผลิตข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุงเป็นเบียร์ และไวน์ จะให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุงร่วมกันดำเนินการ เพื่อให้เม็ดเงินเข้าถึงชาวนาฐานรากของประเทศ และจะเป็นการยกฐานะชาวนาให้ดีขึ้น จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ ได้เตรียมพื้นที่ดำเนินโครงการบริเวณบ้านเขาป้าเจ้ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เพราะมีแหล่งน้ำที่ดีเหมาะกับการแปรรูปเบียร์ โดยการแปรรูปเบียร์ปัจจัยสำคัญ คือ เรื่องน้ำ จะทำให้เบียร์มีรสชาติดี โดยการผลิตเบียร์วางแผนจะบรรจุในขวดขนาด 630-640 มล. ซึ่งเป็นขนาดมาตรฐานทั่วไป ส่วนไวน์จะบรรจุเป็นขวดขนาดกลาง ประมาณ 275 มิลลิลิตร เป็นต้น ส่วนการทำตลาดจะวางจำหน่ายไปหลายจังหวัด โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวสำคัญ เช่น จ.ภูเก็ต กระบี่ สมุย ฯลฯ

“หากนำข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุงมาแปรรูปผลิตเบียร์ได้ จะทำให้ดึงราคาข้าวขึ้นมาได้อีกมาก และจะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่ทำนาข้าวสังข์หยดในพื้นที่ภาคใต้เพิ่มมากขึ้น เพราะขายได้ราคาดี” นายสิทธิชัยกล่าว

นายสุทธิพร กาฬสุวรรณ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมโรงสีข้าวและกลุ่มชาวนาภาคใต้ และอุปนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผยว่า ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุงสามารถนำไปแปรรูปเป็นสินค้าเกรดพรีเมี่ยมได้ จะส่งผลให้ชาวนาสามารถขายผลผลิตได้ราคาสูงขึ้นอีก จากที่พื้นฐานของข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุงมีราคาสูงอยู่แล้ว เมื่อมีแนวคิดการแปรรูปข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุงเป็นเบียร์ จะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้นอีก จะเป็นประโยชน์ต่อชาวนามาก ทั้งนี้ การผลิตเบียร์ข้าวสังข์หยดสามารถดำเนินการได้ทันที เพราะปัจจุบันจังหวัดพัทลุงมีพื้นที่ปลูกประมาณ 20,000 ไร่ ได้ผลผลิตประมาณ 8,000 ตัน/ปี ขณะที่ จ.นครศรีธรรมราช มีพื้นที่ปลูกข้าวสังข์หยดกว่า 10,000 ไร่ ได้ผลผลิตประมาณ 3,000-4,000 ตัน/ปี ส่วน จ.สงขลา มีการปลูกน้อยมาก แต่หากจะทำเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเบียร์ข้าวสังข์หยดได้ ต้องใช้ปริมาณนับแสนตัน ผลผลิตไม่เพียงพอ เพราะภาพรวมแล้วยังปลูกปริมาณน้อย

“สำหรับวิสาหกิจชุมชน กลุ่มโอท็อปปัจจุบันปลูกข้าวเอง มีผลผลิตข้าวสังข์หยดประมาณ 1,000 ตันต่อปี จึงพร้อมด้วยศักยภาพมากทางด้านวัตถุดิบที่จะนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มเอง และทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น จะทำให้วิสาหกิจชุมชนเข้มแข็งขึ้น”

รายงานข่าวจากฝ่ายนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปีการผลิต ปี”57/58-ปี”61/62 จังหวัดพัทลุงมีพื้นที่ปลูกข้าวสังข์หยดกว่า 19,000 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 400 กก./ไร่/ปี ผลผลิตรวม 7,000-8,000 ตัน/ปี มีพื้นที่ปลูกมาก 5 อำเภอ ได้แก่ อ.ควนขนุน อ.ปากพะยูน อ.ป่าบอน อ.เมือง อ.เขาชัยสน ที่เหลือปลูกกระจัดกระจายไปทุกอำเภอ เช่น อ.ตะโหมด อ.กงหรา อ.บางแก้ว อ.ศรีนครินทร์ อ.ศรีบรรพต อ.ป่าพะยอม โดยราคาขายต้นฤดูปี 2562 หน้าโรงสีข้าว ประมาณ 13,500 บาท/ตัน โดยเริ่มเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ และราคาปลายฤดู 20,000-28,000 บาท/ตัน ทิศทางการขยายตัวพื้นที่ปลูกได้และกำลังหารือกัน แต่จะต้องให้ได้คุณภาพ และจะต้องปลูกแปลงใหญ่เป็นพื้นที่เดียวกัน ไม่ปะปนปลูกกับแปลงสายพันธุ์อื่น ๆ

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!