การบริโภคหมู “เมืองตรัง” ขยายตัว เกษตรกรเล็งเพิ่มการเลี้ยง-โรงเชือดรองรับตลาด

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดตรังว่า ธุรกิจเลี้ยงหมูเมืองตรังสดใส เหตุปริมาณการบริโภคหมูในจังหวัดเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชาวสวนสบช่องสร้างรายได้ ตัดสินใจโค่นยางพารา หันมาใช้พื้นที่เลี้ยงหมูขายทั้งลูกหมูและหมูเนื้อ พร้อมต่อยอดสร้างโรงเชือดขายส่งตามแผงขายหมูตามตลาดทั่วไป

นางแอมสรวง สายเผอ อายุ 40 ปี บ้านเลขที่ 255 ม.12 ต.อ่าวตง อ.วังวิเศษ จ.ตรัง เปิดเผยว่า หลังจากที่ชาวบ้านในพื้นที่ ม.12 ต.อ่าวตง ต่างเจอปัญหาเศรษฐกิจราคายางพารา ราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ จึงทำให้ตนและชาวบ้าน ที่เคยยึดอาชีพหลักกรีดยางพารา ต้องตัดสินใจหาอาชีพเสริมเพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว จากเดิมที่ชาวบ้านมีพื้นที่ปลูกยางพาราก็ได้ตัดสินใจโค่นส่วนหนึ่งทิ้ง และหันมาสร้างคอกเลี้ยงหมู เนื่องจากมองเห็นว่าอัตราการบริโภคหมูในพื้นที่จังหวัดตรังมีปริมาณมาก และบางช่วงหมูขาดตลาดต้องนำเข้าจากจังหวัดใกล้เคียง และบางส่วนยังนำเข้าจากจังหวัดทางภาคกลางด้วย

ทั้งนี้ แรกเริ่มในการเลี้ยงหมูชาวบ้านส่วนใหญ่คิดว่าจะทำเป็นอาชีพเสริม ด้วยการเลี้ยงหมูพันธุ์ จำหน่ายขายตามหมู่บ้าน จากเลี้ยงแม่หมูคนละไม่กี่ตัว ต่อมาตลาดเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ ก็มีการขยายคอกหมู พร้อมขยายพันธุ์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากนั้นได้รับการส่งเสริมส่งเสริมจากผู้ใหญ่บ้าน ด้วยการจัดงบประมาณจากกองทุนหมู่บ้านเข้ามาช่วยเหลือ จัดทำโครงการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากการเกษตร เพื่อให้คนในชุมชนมีรายได้ ทำให้มีการต่อยอดสร้างคอกหมูและร่วมเลี้ยงหมู ที่ชาวบ้านรวมกลุ่มกันเลี้ยงหมูตามโครงการกว่า 60 ตัว จนทำให้ชาวบ้านในชุมชนต่างพึ่งพาตนเองได้

“สำหรับดิฉันเองมีสวนยางพาราประมาณ 4 ไร่ ต่อมาได้ตัดสินใจโค่นยางพาราบางส่วนหันมาเลี้ยงหมูอย่างจริงจังหลายปีแล้ว หลังจากที่เจอวิกฤติราคายางราคาตกต่ำ รายได้ก็ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในครอบครัว ต่อมาได้รับการสนับสนุนงบส่วนหนึ่งจากกองทุนหมู่บ้าน ทำให้มีงบในการขยายการเลี้ยงหมูเพิ่มปริมาณมากขึ้น จากเลี้ยงหมูพันธุ์ด้วยตัวเองเพียงไม่กี่ตัวก็เพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ ส่งพันธุ์หมูขายไปทั่วจังหวัดตรัง พร้อมกันนี้ยังต่อยอดด้วยการเปิดโรงเชือดหมูของตัวเอง ส่งขายตามเขียงหมูในตลาดทั่วไปด้วย มีทั้งในระบบลูกค้ามารับเองและบริการส่งให้ตามเขียงหมูด้วย ทำให้กิจการธุรกิจเลี้ยงหมูของดิฉันขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนถึงปัจจุบัน”


นางแอมสรวง เปิดเผยว่า ปัจจุบันตนมีหมูที่เลี้ยงทั้งหมดกว่า 140 ตัว โดยจะแยกคอกเลี้ยงระหว่างแม่พันธุ์ หมูขุน และลูกหมู โดยจะเน้นเลี้ยงแบบวิธีธรรมชาติ ใส่อาหารและดูแลคอกหมูให้สะอาดตลอดเวลา ขณะนี้ตนมีหมูจำหน่าย เป็นลูกพันธุ์อายุ 2 เดือน ราคาตัวละ 2,000 บาท อายุ 3 เดือนกว่า ตัวละ 3,000 บาท และราคาหมูเนื้อขายทั้งตัว ราคาตามท้องตลาดกิโลกรัมละ 75 บาท หมูหนึ่งตัวมีน้ำหนักประมาณ 100 กว่ากิโลกรัม ตกตัวละประมาณ 7,000 กว่าบาท ซึ่งขายให้คนในชุมชน แม่ค้า ส่งตามงานต่างๆ และยังส่งให้กับกลุ่มแม่บ้านแปรรูปเกษตรกรในพื้นที่อีกด้วย ตนคิดว่าแนวโน้มธุรกิจการเลี้ยงหมูต่อไปน่าจะสดใสขึ้นเพราะปริมาณการใช้หมูในจังหวัดตรังเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง