ผู้บริโภคจ๊าก! IUU สัตว์น้ำแพงหูฉี่ ปลาทูไทยขาด- โรงงานแปรรูปนำเข้า วัตถุดิบต้นทุนพุ่ง

“ปลาทะเล กุ้ง ปู” ราคาพุ่งกระฉูดสวนกระแสกำลังซื้อซบ เหตุเรือประมงพาณิชย์ ประมงพื้นบ้านอ่วมกฎเหล็กไอยูยู-ปัญหาแรงงาน-มรสุม ออกทำประมงไม่ได้ ปริมาณสัตว์น้ำทะเลลดฮวบ บางจังหวัดเริ่มขาดแคลน ปลาทูไทยแท้หายากจ่อสูญพันธุ์ ขณะที่ปลาทูอินเดีย ปากีสถาน มาเลย์ กัมพูชา เวียดนามยึดตลาดเบ็ดเสร็จ ด้านอุตสาหกรรมแปรรูป-โรงงานน้ำปลาเร่งปรับตัวหนีตาย หันนำเข้าวัตถุดิบทดแทน ดันต้นทุนพุ่งเท่าตัว

คนกินสัตว์น้ำทะเลแพงไม่รู้ตัว

นายสุรพงษ์ อินทรประเสริฐ ที่ปรึกษาสมาคมประมงจังหวัดตราด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การบังคับใช้ พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 และคำสั่ง คสช.ที่ 10/2558 เรื่องการแก้ไขปัญหาทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม ประมาณ 2 ปีเศษ ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงาน และเรือประมงพาณิชย์กว่า 30% ต้องจอดหยุดทำการประมง และบางรายเลิกอาชีพประมง ประกอบกับช่วงฤดูมรสุมด้วย ส่งผลให้ปริมาณปลาออกสู่ตลาดน้อยลง ราคาอาหารทะเลปรับราคาสูงขึ้นทั้งปลาสดและวัตถุดิบแปรรูป

รง.หมักน้ำปลา-ผลิตน้ำปลาอ่วม

นายวิบูลย์ เครือลอย ผู้จัดการ บริษัท เทพพรชัย อุตสาหกรรม จำกัด จ.ตราด เจ้าของผลิตภัณฑ์น้ำปลาแท้ตราสามกระต่าย เปิดเผยว่า ปัญหาเรือประมงพาณิชย์และแรงงานที่ไม่ถูกต้อง ทำให้เรือประมงปลากะตักของไทยต้องนำเรือไปขึ้นที่ท่าเทียบเรือในเกาะกง กัมพูชา และบรรทุกปลากะตักเข้ามาส่งโรงงานใน จ.ตราด ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นเป็น 10,000 บาท/เที่ยวรถบรรทุกสิบล้อ และราคาปลากะตักเพิ่มขึ้นจาก 4-5 บาท/กก. เป็น 10 บาท/กก. ขณะนี้โรงงานหมักน้ำปลาปรับราคาขึ้น 10-15% ขณะที่โรงงานผลิตน้ำปลาก็จำเป็นต้องปรับราคาตามไปด้วย และเร็ว ๆ นี้โรงงานหมักน้ำปลาแจ้งว่าจะปรับราคาอีกครั้ง

“หากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้อีกประมาณ 5 ปี เรืออวนล้อมปลากะตักจะอยู่ไม่ได้ ต้องหยุดกิจการไป ส่วนโรงงานแปรรูปก็จะไม่สามารถผลิตน้ำปลาดี ๆ มีคุณภาพได้ เพราะปลากะตักเป็นปลาชั้นดี มีกลิ่นหอม” นายวิบูลย์กล่าว

ด้านนางวิรันทา อักษรหรั่ง แม่ค้าปลาในตลาดเทศบาลเมืองตราด กล่าวว่า หลังจากมีกฎหมายประมงใหม่ ๆ ออกมาเข้มงวดกับเรือประมง ทำให้เรือประมงพาณิชย์และเรือประมงพื้นบ้านออกทำประมงไม่ได้ ปริมาณปลาในตลาดมีน้อยและราคาแพง เช่น ปลากระบอกขนาดกลางเดิมกิโลกรัมละ 120-130 บาท ตอนนี้อยู่ที่ 150-160 บาท หรือปลากระบอกแดดเดียวจาก 200 บาท/กก.เพิ่มเป็น 250 บาท ปลานวลจันทร์กิโลกรัมละ 120-130 บาท ปลาสาก 150 บาท ปลากุเลา 200-220 บาท ปลาโฉมงาม 150 บาท ปลาอังเก่ย 220-230 ปลาอินทรีขนาดใหญ่ 3 กิโลกรัมขึ้นไป 280-300 บาท/กก.

กระทบลูกโซ่ประมง-ท่องเที่ยว

นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันกิจการเรือประมงทั่วประเทศกำลังขาดแคลนแรงงานไม่ต่ำกว่า 74,000 คน หากรัฐบาลไม่รีบแก้ไข จะกระทบกันเป็นลูกโซ่ เช่น โรงงานแปรรูปอาหารทะเลก็จะไม่มีวัตถุดิบ ส่วนนักท่องเที่ยวที่ต้องการบริโภคอาหารทะเลจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น เพราะอาหารทะเลขาดตลาด รวมทั้งโรงแรม รีสอร์ต ก็จะได้รับผลกระทบตามกันไปด้วย

“ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ปูทะเลตัวใหญ่จากราคากิโลกรัมละไม่ถึง 1,000 บาท ได้ขยับราคาขึ้นเป็น 2,000 บาท ปูม้าจากราคา 100 บาท/กก. ก็ขยับขึ้นเป็น 200-300 บาท แม้แต่ปูเป็นที่เคยขาย 200-300 บาท/กก. แต่ขณะนี้ได้ขยับราคาขึ้นเป็น 600-800 บาท/กก.แล้ว หากไม่แก้ไขปัญหานี้ คนไทยก็จะต้องกินอาหารทะเลที่มีราคาสูงมาก ทั้งที่เราเป็นประเทศที่สามารถจับปลาได้เอง” นายมงคลกล่าว

แม่ค้าปลาสดรายหนึ่งในตลาดสดชุมพรกล่าวว่า ราคาอาหารทะเลในปัจจุบันเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว เนื่องจากเรือประมงมีปัญหาทั้งเรื่องขาดแคลนแรงงานและเข้าสู่ฤดูมรสุม ไม่สามารถออกเรือทำประมงได้ตามปกติ

ด้านนายกาจบัณฑิต รามมาก ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า โดยภาพรวมราคากุ้งขยับขึ้น 5-10 บาท/กก. ขึ้นอยู่กับขนาด เช่น กุ้งขนาด 60 ตัว/กก. ราคาประมาณ 200 บาท ส่วนสัตว์น้ำทะเลอื่น ๆ มีปริมาณน้อยมาก เนื่องจากเรือประมงไม่สามารถออกจับสัตว์น้ำได้ ราคาจึงขยับสูงขึ้น

นายโอฬาร อุยะกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตภัณฑ์ปลากระป๋องสยาม จำกัด กล่าวว่า อุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำประสบปัญหาขาดแคลนสัตว์น้ำมาประมาณ 2-3 เดือนแล้ว ปัจจัยหลักคือเป็นช่วงมรสุมและการทำตามกฎไอยูยู ทำให้เรือประมงเหลือน้อย และออกจับสัตว์น้ำได้น้อย ขณะนี้จึงต้องมีการนำเข้าสัตว์น้ำเพื่อผลิตสินค้าให้ทันออร์เดอร์ส่งออกในช่วงปลายปีนี้

ปลาทูไทยแท้ ๆ หายากมาก

นางประชุม อยู่ประเสริฐ เจ้าของร้านเจ๊ชุม จำหน่ายปลาทูนึ่งที่ตลาดสดเทศบาลสมุทรสงคราม (ตลาดแม่กลอง) จ.สมุทรสงคราม เปิดเผยว่า ขณะนี้ไม่มีปลาทูไทยออกสู่ตลาด ถ้ามีก็เป็นปลาทูขนาดเล็กมากและมีจำนวนน้อย แม่ค้าส่วนใหญ่จึงต้องไปรับซื้อปลาทูนำเข้าจากห้องเย็น โดยนำเข้าจากมาเลเซีย ซึ่งเป็นปลาทูตัวสั้น ส่วนปลาทูอินเดียและปากีสถานตัวใหญ่กว่า ขณะที่ปลาทูจากอินโดนีเซียไม่ได้นำเข้ามาแล้ว เพราะห้ามเรือไทยเข้าไปจับ

สำหรับราคาที่ซื้อจากห้องเย็นกล่องละ 10 กิโลกรัม (กก.) หากเป็นปลาทูตัวเล็ก เกรดไม่ค่อยดี หรือที่เรียกว่าปลาทูแมว ราคา 700 บาท/กล่อง หากเกรดดีขึ้นมา ราคาตั้งแต่ 800-1,000 บาทขึ้นไป/กล่อง ซึ่งถือว่าราคาแพงขึ้น เพราะเดิมราคาเพียงกล่องละ 700 บาท ทั้งนี้จะนำมาจำหน่ายกล่องละ 6-7 ตัว ราคา 100 บาท ส่วนปลาทูที่เนื้อไม่ดีนัก แม่ค้าบางรายจะนำมาแกะเนื้อชั่งกิโลขาย รวมถึงมีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อไปจำหน่ายต่อในราคา 6-7 ตัว/กล่อง ราคา 120-130 บาท ในอนาคตราคาปลาทูอาจจะสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ และปลาทูไทยอาจจะมีน้อยจนแทบไม่มี เพราะไม่มีพ่อพันธุ์แม่พันธุ์

แห่พึ่งนำเข้า-ดันราคาปลาพุ่ง

นายอาคม เครือวัลย์ ประธานชมรมแปรรูปอาหารทะเล จังหวัดสมุทรสาคร และเจ้าของกิจการแปรรูปอาหารทะเล บริษัท นงค์ ก. จำกัด เปิดเผยว่า จากนโยบายจัดระเบียบเรือประมงจนถึงขณะนี้ส่งผลให้เรือประมงไทยไม่สามารถออกจับปลาได้ โรงงานต่าง ๆ ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ราคาอาหารทะเลก็ต้องปรับตัวสูงขึ้นตาม เช่น ปลาหมึกนำเข้าจากประเทศเปรู อาร์เจนตินา ปากีสถาน และอินโดนีเซีย โดยราคาสูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 20 บาท เป็น 100 กว่าบาท ขณะที่หมึกแห้งก็ต้องนำเข้าจากประเทศเวียดนาม กัมพูชา

ตอนนี้ยังมีปลาอีกหลายชนิดหายไปจากตลาด เพราะกฎระเบียบเข้มงวดจนไม่สามารถทำการประมงได้ เช่น ปลาสำลีต้องนำเข้าจากมะริด เมียนมา ราคาก็แพงขึ้น เกือบจะถึง 300 บาท/กิโลกรัม ขณะที่ปลาแปะเชีย หรือจะระเม็ดขาว 700-800 บาท/กิโลกรัม จากเดิมไม่ถึง 200 บาท/กก. ส่วนปลากะพงเป็นปลาเลี้ยงจะไม่กระทบเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นกะพงจากทะเลจากเดิมกิโลกรัมละ 100 กว่าบาท เป็น 200 กว่าบาท ราคาไต่ขึ้นไม่มีลง แต่ปลาเลี้ยงก็ยืนราคาเดิม 120-160 บาท/กก.

“แม้แต่กะปิเวลานี้บ้านเราแทบไม่มีกิน ต้องซื้อกะปิกัมพูชาเข้ามาผสม ถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ต่อไปอาหารทะเลก็จะราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากเราต้องนำเข้า ยิ่งเขารู้ว่าเราไม่มีปัญญาทำกิน ก็ยิ่งโก่งราคาเราไม่มีที่สิ้นสุด เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ประเทศที่เคยทำประมงอันดับ 1 ของโลก ต้องมานำเข้าหมดทุกอย่าง ทางออกมืดมนไปหมด”

นายอาคมกล่าวอีกว่า ปลาที่หายไปจากทะเลไทยแล้ว คือ ปลาทู เนื่องจากการบริหารของภาครัฐที่อนุญาตให้เรืออวนลอยอวนจม และอวนลากคู่สามารถทำได้ ทำให้จับปลาใหญ่พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไปหมด ปลาเล็กไม่มีโอกาสได้เกิด ตอนนี้ตั้งแต่สมุทรปราการ สมุทรสาคร เพชรบุรี หัวหิน หรือตลาดมหาชัยไม่มีปลาทูสดวางขาย ส่วนที่วางขายนั้นเป็นปลานำเข้าทั้งหมด

กุ้งทะเลราคา 500-600 บาท/กก.

นายชุมพล ยศวิปาน นายกสมาคมพื้นบ้านคลองวาฬ ต.คลองวาฬ อ.เมือง ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ปัจจุบันปลาเศรษฐกิจอย่างปลาทูแทบจะไม่มีให้เห็นในทะเลไทย ปัจจุบันปลาทูตัวใหญ่ราคาไม่ต่ำกว่า 150 บาท/กก. ส่วนในท้องตลาดจะสั่งซื้อจากอินโดนีเซีย กัมพูชา เวียดนาม ราคาอยู่ที่ 120 บาท/กก. ซึ่งเป็นปลาคนละสายพันธุ์กับปลาทู ลักษณะจะคล้ายปลาลัง ส่วนปลาหมึกตัวใหญ่ที่ซื้อตรงจากเรือ ราคา 160-170 บาท/กก. แต่ถ้าแม่ค้ารับไปขายต่อน่าจะอยู่ที่ 200-250 บาท/กก.

ขณะที่ปูม้าราคา 300 กว่าบาท/กก. กุ้งราคา 500-600 บาท/กก. คนจนรากหญ้าไม่สามารถซื้อได้ เพราะราคาอาหารทะเลสูงขึ้นเรื่อย ๆ

นายสุพร โต๊ะเส็น นายกสมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ช่วงนี้ชาวประมงชายฝั่งหาปลาลำบากขึ้น เพราะสัตว์น้ำไม่เข้าตามฤดูกาล เช่น ปลากุเลาที่เริ่มหาได้ยากขึ้น แต่ที่เริ่มหายไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมาคือ ปลาทูและปลาลัง ส่วนปลาทั่วไปก็มีราคาสูงขึ้น

ปลาตรังขาดตลาดแต่ขึ้นราคาไม่ได้

ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดตรัง สำรวจบรรยากาศการขายปลาในตลาดสดเทศบาลนครตรัง และตลาดชุมชนทั่วไป พบว่าแผงขายปลาหลายแห่งมีปริมาณปลาน้อยมาก ส่วนใหญ่จะมีปลาขนาดเล็ก เช่น ปลาทู ปลาหลังเขียว ปลาสีเสียด ปลาสากขนาดเล็ก เป็นต้น ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าต่างบอกว่าปลามีน้อย เพราะเรือออกจากฝั่งไปหาปลาไม่ได้ และส่วนใหญ่บอกว่าราคาปลายังปกติ ไม่มีการปรับขึ้น

ขณะที่ในห้างโรบินสัน แม็คโคร เทสโก้ โลตัส และบิ๊กซี ก็มีปริมาณปลาไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นปลาน้ำจืดที่สั่งเข้ามาจากภาคกลาง เช่น ปลานิล ปลาตะเพียน ปลานวลจันทร์ ปลาจีน โดยเฉพาะปลาสวายจะขายดีที่สุด เนื่องจากเชื่อว่ามีสารโอเมก้าสูงกว่าปลาแซลมอน ทำให้ผู้คนนิยมไปซื้อมารับประทานกันเพิ่มมากขึ้นจนขาดตลาด

นายปรารภ ชูแสง พ่อค้าปลาในตลาดบ้านโพธิ์ อ.เมืองตรัง เปิดเผยว่า ช่วงนี้ปลามักจะขาดตลาดบ่อย เนื่องจากเกิดพายุฝน เรือออกจากฝั่งลำบาก โดยเฉพาะในช่วงเดือนหงายหรือข้างขึ้นแทบจะไม่มีปลาขาย เพราะชาวประมงจับปลาไม่ค่อยได้ ส่วนใหญ่ราคาจะทรงตัว และมีบางชนิดที่ขึ้นบ้าง เช่น ปลาสากหรือปลาน้ำดอกไม้ จากปกติ 80-100 บาท/กก. ก็จะขยับสูงขึ้นเป็น 100-120 บาท

ขณะที่ปลาเล็กทั่ว ๆ ไป เช่น ปลาทู ราคาแทบไม่มีกำไร บางครั้งรับมากิโลกรัมละ 100 บาท ก็จะมาขายไม่เกิน 120 บาท หากขายราคาแพง ทางแม่ค้าก็จะขายไม่ได้ เพราะชาวบ้านรายได้น้อย เนื่องจากราคายางตกต่ำ และฝนตกต่อเนื่องยังไม่สามารถกรีดยางได้ จึงต้องขายในราคาปกติ ยังไม่มีการปรับขึ้นราคาแต่อย่างใด