เปิดฉาก “Thailand Sweet corn Conference 2019” ตอกย้ำผู้นำส่งออกข้าวโพดหวานโลก

กลุ่มผู้ผลิตข้าวโพดหวานของไทย เปิดฉากจัดงาน Thailand Sweet corn Conference 2019 ระดมภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการ และผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจข้าวโพดหวาน ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้หาแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวโพดหวานให้เติบโตในตลาดโลก ชี้ไม่หวั่นแม้ EU ยังคงใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้ากลุ่มข้าวโพดหวาน เดินหน้าบุกตลาดตะวันออกกลาง-เอเชียทดแทน ขึ้นแท่นเป็นผู้ส่งออกข้าวโพดหวานอันดับ 1 ของโลก ดันรายได้เข้าประเทศปีละกว่า 6 พันล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (11 กุมภาพันธ์ 2562) กลุ่มผู้ผลิตข้าวโพดหวาน สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ได้จัดงาน 1st Thailand Sweet corn Conference 2019 ณ โรงแรมเชอราตัน สุขุมวิท โดยมีนายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการผลิตข้าวโพดหวาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 150 คน

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอาหาร เป็นอุตสาหกรรมใหม่ของไทยที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการที่จะทำให้ธุรกิจนี้มีความแข็งแกร่งและสามารถแข่งขันได้ ทุกๆ กลุ่มในห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งเกษตรกร ผู้ผลิต ผู้ส่งออก รวมถึงสถาบันการศึกษาที่สนับสนุนด้านงานวิจัย ต้องร่วมมือกันเป็นคลัสเตอร์เพื่อสร้างมาตรฐานการส่งออก โดยในส่วนของภาครัฐ ได้วางยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมด้านอาหาร โดยเฉพาะกลุ่มข้าวโพดหวาน โดยจะส่งเสริมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้มีศักยภาพที่แข็งแกร่ง สามารถแข่งขันได้ในตลาด

ด้านนายองอาจ กิตติคุณชัย อุปนายกและประธานกลุ่มผู้ผลิตข้าวโพดหวาน สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปของไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่งตลอดหลายปีที่ผ่านมา และเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศทั่วโลก ในเรื่องคุณภาพ ความปลอดภัย รวมถึงความหลากหลายของรูปแบบและรสชาติอาหาร ซึ่งเห็นได้จากความเติบโตของมูลค่าการส่งออกที่มากกว่า 1 ล้านล้านบาท/ปี โดยสินค้าข้าวโพดหวานแปรรูปของไทยก็เป็นสินค้าที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นพืชอาหารเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ เป็นพืชอายุสั้นให้ผลตอบแทนค่อนข้างสูง สามารถจำหน่ายได้ทั้งตลาดบริโภคสดและโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ซึ่งสามารถส่งจำหน่ายตลาดต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี จีน และกลุ่มประเทศแถบยุโรป

แม้ไทยเป็นประเทศที่มีการปลูกข้าวโพดหวานมาก แต่เนื่องจากผู้บริโภคภายในประเทศไม่นิยมรับประทานข้าวโพดหวานกระป๋อง การผลิตข้าวโพดหวานกระป๋องจึงเป็นไปเพื่อการส่งออกเพียงอย่างเดียว จึงทำให้ไทยขึ้นเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตและการแข่งขันในตลาดสินค้าข้าวโพดหวาน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไทยถูกประกาศใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าจากสหภาพยุโรป เมื่อปี 2550 กล่าวคือคณะกรรมมาธิการสหภาพยุโรปได้ออกประกาศมาตรการ AD สินค้าข้าวโพดหวานจากไทย 2 ครั้ง ครั้งละ 5 ปี โดยมี AD Duty 3.1-14.3% จากสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้สินค้าข้าวโพดหวานส่งออกจากไทยไปสหภาพยุโรปได้รับผลกระทบอย่างมาก นับตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา โดยมีมูลค่าการส่งออกที่ลดลงจาก 48.1 ล้านยูโร ในปี 2551 เหลือเพียง 40.8 ล้านยูโร ในปี 2552 และลดปริมาณลงมาเรื่อยๆ จนในปี 2561 เหลือเพียง 17.8 ล้านยูโร หรือคิดเป็นอัตราลดลง 63%

และปริมาณการส่งออกลดลงจาก 67,525 ตัน ในปี 2551 เหลือเพียง 22,984 ตัน ในปี 2561 หรือคิดเป็นอัตราลดลง 66% ส่งผลให้จำนวนผู้ผลิตข้าวโพดหวานลดลง แต่ไม่ได้เป็นการลดความสามารถของผู้ผลิตในไทย โดยผู้ผลิตมีการหาตลาดทดแทนไปยังประเทศในตะวันออกกลางและเอเชียเพิ่มขึ้น จนปัจจุบันไทยสามารถขึ้นเป็นผู้ส่งออกข้าวโพดหวานอันดับ 1 ของโลก ในปี 2560 ไทยเป็นประเทศที่มีปริมาณและมูลค่าการส่งออกในสัดส่วนสูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยมีส่วนแบ่งมูลค่าและปริมาณในตลาดเฉลี่ย 3 ปี (2558-2560) ที่ 22% และ 27% ตามลำดับ ปี 2561 มีมูลค่าการส่งออก 6,855 ล้านบาท หรือ 214.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นอัตราเติบโต 3.3% และ 9.2% ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะเป็นผู้ส่งออกข้าวโพดหวานอันดับ 1 ของโลก แต่ถ้าสามารถยุติการต่ออายุมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดของสหภาพยุโรปได้ จะเป็นการเพิ่มโอกาสและศักยภาพการแข่งขัน เนื่องจากมีจุดแข็งด้านการเพาะปลูกข้าวโพดหวาน เช่น พื้นที่เพาะปลูกที่เหมาะสม สามารถเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี คุณภาพของวัตถุดิบที่ดีเยี่ยม สำหรับภาคอุตสาหกรรมนั้นก็มีโรงงานแปรรูปที่มีศักยภาพในการผลิต รวมทั้งคุณภาพสินค้าของไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยังช่วยเหลือเกษตรกรในการปรับตัว โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อช่วยลดต้นทุนด้านแรงงาน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยจัดตั้งแปลงสาธิตให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีแก่เกษตรกร เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในแปลงเพาะปลูก เช่น การติดตั้งโซลาร์เซลล์ การให้น้ำโดยระบบน้ำหยด การให้ปุ๋ยและสารปราบศัตรูพืชโดยใช้โดรน การใช้เครื่องตรวจวัดความชื้นในดินและอากาศ เป็นต้น

นายองอาจกล่าวต่อว่า กลุ่มผู้ผลิตข้าวโพดหวาน สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ได้เล็งเห็นความสำคัญของของการพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวโพดหวานของไทย ให้มีโอกาสเติบโตในตลาดโลกมากยิ่งขึ้นในอนาคต และเล็งเห็นว่าการแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือเทคโนโลยีต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกันในอุตสาหกรรม จะช่วยให้อุตสาหกรรมข้าวโพดหวานในไทยสามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ประกอบกับการรักษาความเป็นผู้นำในการส่งออกสินค้าข้าวโพดหวาน กลุ่มจึงจัดงาน 1st Thailand Sweet corn Conference 2019 ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีที่ผู้ผลิต นักวิชาการ ผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจข้าวโพดหวานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างกัน เพื่อเผยแพร่ ความรู้ ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ข้าวโพดหวานในปัจจุบัน และเพื่อส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเกิดความเข้าใจร่วมกัน และหาแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวโพดหวานให้เติบโตในตลาดโลก