แบงก์ชาติชี้ ศก.ใต้ปี’62 ชะลอ นักท่องเที่ยวจีนหด-สงครามการค้า

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคใต้ รายงานภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ครึ่งหลังปี 2561 ยังชะลอตัว แม้นักท่องเที่ยวจีนหดตัว แต่ได้แรงส่งจากกลุ่มมาเลเซีย-อินเดีย-ยุโรป-รัสเซีย การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 2.4% ด้านเกษตรหดตัว สะท้อนจากราคายาง-ปาล์ม-กุ้ง ชี้ปี 2562 ยังเป็นปีที่ท้าทายสำหรับเศรษฐกิจภาคใต้ คาดการผลิต-ส่งออกอุตสาหกรรมจะปรับตัวดีขึ้นช่วงหลังปี 2562

โดย นายสันติ รังสิยาภรณ์รัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท. สำนักงานภาคใต้ เปิดเผยว่า ภาคการท่องเที่ยวมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน 13.1% เช่น มาเลเซีย อินเดีย ยุโรป และรัสเซีย ส่วนนักท่องเที่ยวจีนยังคงหดตัวจากปัจจัยลบด้านความเชื่อมั่น แต่เริ่มทยอยฟื้นตัวช่วงปลายไตรมาส 4/2561 หากพิจารณาตามพื้นที่ชายแดนภาคใต้ขยายตัว ฝั่งอันดามันชะลอตัว ส่วนฝั่งอ่าวไทยหดตัว

ขณะเดียวกันการลงทุนภาคเอกชนมีการขยายตัวจากปีก่อน 2.4% มีปัจจัยมาจากการขยายตัวภาคก่อสร้าง การลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์ สอดคล้องกับภาคอสังหาริมทรัพย์มีการลงทุนโครงการใหม่ต่อเนื่อง ประกอบกับปัจจัยหนุนจากมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวจากปีก่อน 0.6% และการใช้จ่ายหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัว

ขณะที่รายได้ภาคการเกษตรหดตัว ราคายางพาราลดลง ด้านปาล์มน้ำมันและกุ้งขาวลดลงตามตลาดโลก รวมถึงมูลค่าการส่งออกลดลงจากปีก่อน 9.6% ส่งผลให้รายได้หดตัวต่อเนื่อง 17.3% ซึ่งกระทบต่อกำลังซื้อผู้บริโภคฐานราก สำหรับภาคการผลิตอุตสาหกรรมหดตัวจากปีก่อน 4.1% ตามการผลิตยางพาราแปรรูปที่ลดลง เพราะความกังวลจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐ และเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ความต้องการใช้ยางลดลง ส่วนเรื่องอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปลดลงต่อเนื่องจากปัญหาวัตถุดิบตึงตัว ทั้งหมึกและปลา ประกอบกับการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของสินค้ากุ้ง

สำหรับด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.76% ตามราคาพลังงาน ลดลงจากไตรมาสก่อน 1.51% อัตราการว่างงานหลังปรับฤดูกาลอยู่ที่ 1.3% การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากปีก่อน 2.4% ตามรายจ่ายการลงทุนที่ลดลง 10.3% ส่วนรายจ่ายประจำเพิ่มขึ้น 3% ตามการเบิกจ่าย และสิ้นไตรมาส 4/2561 เงินฝากทั้งระบบเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3% จากเงินฝากประเภทออมทรัพย์และประจำ ด้านสินเชื่อคงค้างทั้งระบบเพิ่มขึ้น 5.2% ตามการขยายตัวของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากมีการรับโอนพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อจากบริษัทในเครือ

ด้าน นางสาวจิดาภา ช่วยพันธุ์ เศรษฐกรอาวุโส ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปี 2562 ถือเป็นอีกหนึ่งปีที่ท้าทายสำหรับเศรษฐกิจภาคใต้ เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจภาคใต้ปี 2561 ขยายตัวได้ดีในช่วงครึ่งแรกของปี และเริ่มชะลอตัวในครึ่งปีหลัง เนื่องจาก 2 ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น คือ 1.กรณีเรือนักท่องเที่ยวล่มที่จังหวัดภูเก็ต รวมถึงเหตุการณ์ทำร้ายนักท่องเที่ยวที่สนามบิน ทำให้นักท่องเที่ยวจีนลดลงตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561 เป็นต้นมา 2.สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ทั้งนี้คาดว่าปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้ปี 2562 เศรษฐกิจภาคใต้มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง

ทั้งนี้คาดว่าภาคการท่องเที่ยวจะชะลอตัวลง ตามภาวะเศรษฐกิจโลก และการแข่งขันจากหลายประเทศที่รุนแรงขึ้น ทำให้การขยายตัวของนักท่องเที่ยวเกือบทุกสัญชาติชะลอลง แม้ว่าทางฝั่งอุปทานจะยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ แต่ด้านอุปสงค์คาดว่าจะขยายตัว โดยการใช้จ่ายครัวเรือนจะยังขยายตัวได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งได้รับแรงส่งจากการใช้จ่ายของกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูง ขณะที่การผลิตและส่งออกในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น อาหารทะเลกระป๋อง และถุงมือยาง ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง และการผลิตและส่งออกไม้ยางแปรรูป คาดว่าจะปรับดีขึ้นช่วงครึ่งหลังของปี 2562 หลังจากที่โรงงานในจีนบางส่วนสามารถปรับปรุงมาตรฐานตามเกณฑ์และกลับมาเปิดดำเนินการได้

ขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยยังได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ และยังคงกดดันรายได้เกษตรกร และรายได้นอกภาคเกษตร ที่คาดว่าจะชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจ แม้ว่าครัวเรือนบางส่วนจะได้รับผลดีจากมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐก็ตาม สำหรับการลงทุน ทั้งภาครัฐและเอกชน จะยังเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญต่อเศรษฐกิจภาคใต้ต่อเนื่องในปี 2562 โดยเฉพาะภาคก่อสร้างสอดคล้องกับความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีมากขึ้น ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงทั้งภายนอกและภายในประเทศที่จะเข้ามากระทบ

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!