แนวเชื่อมป่า เขาใหญ่-ทับลาน ใกล้เสร็จ หมีควาย-กวาง-เลียงผา ใช้บริการบ่อย

หมีควาย-กวาง หากินไม่ห่างแนวถนน ขณะที่”เลียงผา”เคยโชว์ตัวใกล้ปากอุโมงค์เชื่อมป่า อุทยานฯ เร่งติดตั้งกล้องถ่ายภาพสัตว์

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่พร้อมนายครรชิต ศรีนพวรรณ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และเจ้าหน้าที่อุทยานทับลาน เพื่อติดตามการก่อสร้างแนวเชื่อมต่อป่าเขาใหญ่-ทับลาน เส้นทางหลวง 304 กบินทร์บุรี-ปักธงชัย ทั้งนี้ได้รับฟังสรุปผลการก่อสร้างอุโมงค์และเส้นทางยกระดับเพื่อเชื่อมเส้นทางเดินสัตว์ป่าระหว่างอุทยานฯ เขาใหญ่และอุทยานฯ ทับลาน โดยมีวิศวกรผู้ควบคุมโครงการก่อสร้างเส้นทางหลวง 304 ช่วงกบินทร์บุรี-ปักธงชัย กรมทางหลวง ได้บรรยายสรุปและนำชมพื้นที่ โดยเส้นทางหลวง 304 ช่วงกบินทร์บุรี-ปักธงชัย เป็นเส้นทางหลวงตัดผ่านอุทยานฯ เขาใหญ่และอุทยานฯทับลาน มีการประเมินในปี 2559 ว่ามีรถวิ่งผ่านเส้นทางนี้ 2.9 หมื่นคันต่อวัน เป็นรถบรรทุกหนัก 7,500 คันต่อวัน หลังการประกาศกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก ในปี 2548

“มีข้อตกลงต้องจัดทำแนวเชื่อมป่าข้ามเส้นทางหลวง 304 ช่วงกบินทร์บุรี-ปักธงชัย รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ จึงจัดงบประมาณ 2,908 ล้านบาทให้กรมทางหลวงก่อสร้างขยายถนนและสร้างแนวเชื่อมป่าในภาพรวม โดยแบ่งการก่อสร้างเป็น 3 ส่วน มีความก้าวหน้าเบื้องต้น ดังนี้ ส่วนแรกบริเวณ ช่วง กม.26-29 ระยะทาง 2.41 กม. ก่อสร้างเป็นอุโมงค์ 2 ช่วง ความยาวรวม 430 เมตร และสะพานยกระดับให้สัตว์ป่าเดินลอดระยะทางยาว 570 เมตร ซึ่งปัจจุบันนี้เสร็จเรียบร้อยและเปิดใช้งานแล้วส่วนที่ 2 ขยายถนนเส้นทางหลวง 304 ช่วงกบินทร์บุรี-ปักธงชัย ตั้งแต่ กม.41 ขึ้นไปเป็นเส้นทางชันขึ้นลงเขาระยะทาง 8.8 กม. โดยบริเวณ กม.42 สร้างเป็นสะพานยกระดับยาวประมาณ 330 เมตร ตัวสะพานสร้างเสร็จแล้วกำลังปลูกบำรุงรักษาต้นไม้ตามแนวทางเดินเชื่อมผืนป่าใต้สะพาน เส้นทางช่วงนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนเมษายน นี้ ส่วนที่ 3 เป็นการขยายถนนเส้นทางหลวง 304 ต่อจากส่วนที่ 2 ถึง กม.57 เป็นเส้นทางชันขึ้นลงเขาไปทางฝั่งอำเภอปักธงชัย ระยะทาง 6.7 กม. งานยังล่าช้ามาก แต่ไม่มีผลกระทบกับเส้นทางเชื่อมป่าในส่วนที่หนึ่งและสอง” นายธีรภัทร กล่าว

นายธีรภัทร กล่าวว่า จากรายงานการสำรวจสัตว์ป่าของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช พบว่า มีสัตว์ป่าหากินใกล้เส้นทาง 304 กบินทร์บุรี-ปักธงชัย ทั้งสองฝั่ง โดยการพบเห็นตัวและร่องรอยของหมูป่า กวาง เสือโคร่ง กระทิง หมีควายและช้างป่า ซึ่งสัตว์ป่าเหล่านี้หากินไม่ห่างจากแนวถนน ทั้งนี้เมื่อเดือน กรกฎาคม 2558 พบซากกระทิงและเดือน กรกฎาคม 2561 พบซากหมีควายถูกรถชนตายขณะเดินข้ามถนนเส้นทาง 304 แสดงให้เห็นว่าสัตว์ป่ามีการเดินหากินข้ามไปมาตามสัญชาตญาณเดิมในพื้นที่ดังกล่าวตลอดเวลา โดยตนพร้อมด้วยหัวหน้าอุทยานฯ เขาใหญ่และผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานฯ ทับลาน ได้ร่วมเดินสำรวจพื้นที่เส้นทางเชื่อมผืนป่าพบว่า บริเวณทางลอดใต้สะพานยกระดับ กม.42 เส้นทางหลวง 304 ช่วงกบินทร์บุรี-ปักธงชัย ตอนนี้ยังไม่พบร่องรอยสัตว์ป่าเดินผ่านให้เห็นชัด เพราะกำลังปลูกบำรุงรักษาต้นไม้ ส่วนบริเวณเส้นทางเชื่อมป่าหลังอุโมงค์ช่วง กม.26-29 ได้พบร่องรอยใหม่มากของกวางป่า 1 ตัวและเลียงผา 1 ตัว เดินหากินและใช้ประโยชน์บนเส้นทางเชื่อมป่าหลังคาอุโมงค์เส้นทางหลวง 304 แล้ว ซึ่งฝั่งตะวันออกเป็นภูเขาและหน้าผาสูงชันของป่าทับลานและฝั่งตะวันตกเป็นห้วยลำพระยาธารของป่าเขาใหญ่ ทั้งนี้เมื่อกลางเดือนกันยายน 2561 มีคนเห็นและถ่ายคลิปวีดีโอรูปเลียงผาตัวหนึ่งยืนหากินอยู่บนหน้าผาฝั่งตะวันออกใกล้ปากอุโมงค์ที่กำลังก่อสร้าง ทั้งนี้ร่องรอยสัตว์ป่าที่พบนี้อาจจะเป็นเลียงผาตัวดังกล่าวที่เริ่มเดินหากินข้ามจากหน้าผาฝั่งตะวันออกของป่าทับลานไปป่าเขาใหญ่ทางฝั่งตะวันตก โดยหัวหน้าอุทยานฯเขาใหญ่จะประสานให้เจ้าหน้าที่สถานีวิจัยสัตว์ป่านำกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติมาติดตั้งเพื่อถ่ายภาพสัตว์ป่าต่างๆที่เดินข้ามไปมาต่อไป

“การพบร่องรอยสัตว์ป่าในพื้นที่ที่สร้างเชื่อมต่อป่าทั้งสองพื้นที่นี้ นับเป็นตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรมของความสำเร็จเบื้องต้นของการสร้างเส้นทางเชื่อมต่อป่าเขาใหญ่และทับลาน คุ้มค่ากับการลงทุนงบประมาณที่สูงเพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่หายากหลายล้านชีวิตในกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ มรดกทางธรรมชาติของโลกและมรดกของประเทศไทย”รองประธานฯ กล่าว

 

 

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์