บสย.อีสานบนพุ่งเป้า 20 จว. ค้ำประกันหนี้ปีนี้กว่าหมื่นล.

บสย.สำนักงานเขตภาคอีสานตอนบนขานรับยุทธศาสตร์ทรานส์ฟอร์ม ดันเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อ หลัง สนญ.ตั้งเป้าปี 2562 ค้ำประกันสินเชื่อครอบคลุมอีสาน 20 จังหวัด ภาคกลาง 7 จังหวัด วงเงินค้ำหนี้ 20,000 ล้านบาท หวังอุ้ม SMEs 20,000 ราย

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกิจการสาขาจังหวัดอุดรธานีว่า ได้มอบนโยบายการทำงานปี 2562 ให้ฝ่ายกิจการสาขาในพื้นที่ความรับผิดชอบโซนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) 20 จังหวัด และโซนพื้นที่ภาคกลาง 7 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 27 จังหวัด ปรับแนวทางสู่การทำงานแบบเชิงรุก ตอบโจทย์แผนงานรัฐและแผนวิสาหกิจของ บสย. เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ใหม่ของ บสย.ทรานส์ฟอร์ม องค์กรในทุก ๆ ด้าน เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เปลี่ยนไป ลดการพึ่งพา พร้อมก้าวสู่ news business model ปรับพอร์ต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อในรูปแบบ direct guarantee และแผนการบริหารจัดการหนี้อย่างเข้มข้น

แผนงานปี 2562 บสย. 4.0 เคียงคู่ผู้ประกอบการ SMEs ไทย ภายใต้แนวคิด “New Business Model 2019” ปรับโรดแมป มุ่งยกระดับการทำงานองค์กรเต็มประสิทธิภาพ คิดใหม่ ทำใหม่ ขับเคลื่อนสู่องค์กรดิจิทัลเต็มรูปแบบ พัฒนาระบบฐานข้อมูล data man-agement เชื่อมการทำงาน บสย.ทั้งภายในและภายนอก ขับเคลื่อนด้วยกลยุทธ์ SOS ได้แก่

1.SMEs Capacity Enhancer 2.Opportunity Gateway 3.Second Change Provider เพื่อให้การสนับสนุน SMEs เข้าถึงแหล่งทุนในระบบมากขึ้น พร้อมให้ความรู้ทางการเงิน การขยายฐานการสนับสนุน SMEs ที่ต้องการขยายการลงทุนในต่างประเทศ ผู้ประกอบการกลุ่ม S-curve และ startup และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs กลุ่ม NPLs กลุ่มฟื้นฟูกิจการมีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อเช่นกัน

ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกปี 2562 จะเปิดสู่ New Business Model คือ โครงการ “บสย.รักพี่วิน” เพื่อเติมทุนให้กลุ่มอาชีพอิสระกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างเป็นกลุ่มแรก และจะขยายสู่กลุ่มอาชีพอื่น เช่น ฟรีแลนซ์ ช่างแต่งหน้า รับเหมา เป็นต้น

นอกจากนี้ ได้ลงพื้นตรวจเยี่ยมลูกค้า เพื่อสำรวจความต้องการสินเชื่อและค้ำประกันสินเชื่อ และให้ความช่วยเหลือลูกค้า SMEs ที่ต้องการเข้าถึงสินเชื่อ

ภายใต้แนวคิดใหม่ บสย. 4.0 จะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการกลุ่มอาชีพต่าง ๆ มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น

ด้านนายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไป สายงานธุรกิจ กล่าวว่า แผนงานในส่วนของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อในปีนี้ จะเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์แบบเฉพาะกลุ่มมากขึ้น เจาะตลาดแบบรายเซ็กเมนต์จับต้องได้ โดยสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้น เช่น การเปิดตัวโครงการแรกของปี 2562 คือ โครงการ “บสย.รักพี่วิน” โดยมี บสย.ค้ำประกันสินเชื่อผ่าน 5 ธนาคารพันธมิตร คือ ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งจะเริ่มจากพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นลำดับแรก เช่นเดียวกับที่ก่อนหน้านั้น บสย.ได้สร้างการรับรู้และสื่อสารตรงในกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs เฉพาะกลุ่ม อาทิ SMEs นิติบุคคลบัญชีเล่มเดียว SMEs รายเล็ก SMEs กลุ่มประชารัฐและนโยบายรัฐ SMEs รายจิ๋ว นอกจากนี้ บสย.ยังได้เตรียมพัฒนาการค้ำประกันสินเชื่อให้ตรงกับความต้องการและให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดยการสำรวจความต้องการ การลงพื้นที่ แบบเข้มข้น

ในปีนี้ บสย.ตั้งเป้าการค้ำประกันสินเชื่อ ในเขตพื้นที่จังหวัดภาคอีสาน และภาคกลาง ในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบรวม 27 จังหวัด ครอบคลุมภาคอีสาน 20 จังหวัด และโซนพื้นที่ภาคกลาง 7 จังหวัด วงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการให้เข้าถึงสินเชื่อ 20,000 ราย

ด้านนายมโนฑ ศรีพรมทอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายกิจการสาขา 2 และรักษาการผู้จัดการเขต สำนักงานเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน กล่าวว่า ผลดำเนินงานปี 2561 ครอบคลุมพื้นที่ 10 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน วงเงินอนุมัติค้ำประกันและภาระสำนักงานเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 10 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น อุดรธานี สกลนคร กาฬสินธุ์ หนองบัวลำภู นครพนม เลย บึงกาฬ หนองคาย และมุกดาหาร อนุมัติวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ จำนวน 6,969.85 ล้านบาท รวม 6,544 ราย โดยมี ภาระค้ำประกันคงเหลือ 6,890.74 ล้านบาท จำนวน 6,509 ราย โดยค้ำประกันสินเชื่อสูงสุด 3 อันดับแรก ผ่านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ตามขอบข่ายความรับผิดชอบพื้นที่ดูแลพื้นที่ 4 เขต รวม 27 จังหวัด ภาคอีสาน 20 จังหวัด และภาคกลาง 7 จังหวัด ได้เตรียมลงพื้นที่ทั้ง 27 จังหวัด ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ของ บสย. อาทิ กิจกรรมมหกรรมเข้าถึงแหล่งเงินทุน การให้ความรู้ด้านการเงิน การเข้าร่วมกิจกรรมกับหน่วยงานพันธมิตร การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมลูกค้า และการสร้างการรับรู้แนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ SMEs มากขึ้น ภายใต้แผนและกลยุทธ์เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย ปี 2562 จะครอบคลุมทั้งด้านการตลาด โดยร่วมกับสถาบันการเงินรายสถาบันออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อและค้ำประกันสินเชื่อร่วมกับสถาบันการเงินของรัฐ และสถาบันการเงินของเอกชน ด้านบุคลากร จัดอบรมพัฒนาบุคลากร ให้มีความพร้อมในการปฏิบัติงาน สอดรับกับแผนทรานส์ฟอร์มขององค์กร

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!