“พะเยา” จัดงาน “ประเพณีปู่จาพญาลอ” กระตุ้นท่องเที่ยวก่อนสงกรานต์

นางอุบลวรรณ เข็มเพชร นายกเทศมนตรีตำบล (ทต.)เวียงลอ อ.จุน จ.พะเยา กล่าวว่า ทต.เวียงลอ ร่วมกับชุมชนใน ต.ลอ และปกครอง อ.จุน จัดงานประเพณีปู่จาพญาลอ ประจำปี 2562 ขึ้น ณ วัดประธาตุศรีปิงเมือง ต.ลอ อ.จุน วันที่ 8-9 เมษายน 2562 เพื่อเป็นการสืบสานวัฒนธรรมและประเพณีที่ดีงามของชาว ต.ลอ ซึ่งประเพณีดังกล่าวมีการจัดและสืบสานมายาวนานหลายชั่วคน ให้ลูกหลานชาวจุนทราบถึงความเป็นมาว่า เมื่อถึงช่วงเวลาของการปู่จาพญาลอ ทุกคนจะกลับมาบ้านเกิดใน อ.จุน ช่วงสงกรานต์ เพื่อมาร่วมงานสักการะปู่จาพญาลออย่างพร้อมหน้า ให้ระลึกถึงคุณความดีของพญาลอผู้สร้างเมืองให้ลูกหลานได้อยู่เย็นเป็นสุขมาถึงทุกวันนี้

นางอุบลวรรณกล่าวต่อว่า กิจกรรมงานประเพณีปู่จาพญาลอ ประจำปี 2562 จัดขึ้น 2 วัน โดยวันแรก 8 เมษายน 2562 ประกอบด้วย กิจกรรมนุ่งซิ่นเวียงลอ ซึ่งเป็นผ้าทอมือของชาว ต.ลอ ที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรมและประเพณีดีทางล้านนาที่ดีงามและมีคุณค่า วันที่ 9 เมษายน 2562 เป็นกิจกรรมหลัก งานบวงสรวงพญาลอ จัดใหญ่ทุกปีด้วยขบวนแห่เครื่องสักการะบูชาพญาลอ ที่มีอนุสาวรีย์ตั้งโดดเด่นอยู่ด้านข้างของวัดศรีปิงเมือง ในบริเวณเขตโบราณสถานเวียงลอ พร้อมกับการแสดงแสง เสียงเล่าขานตำนานเวียงลอ ให้ลูกหลานพญาลอและนักท่องเที่ยวได้ชมอีกด้วย

ทั้งนี้แผนแม่บทของ ทต.เวียงลอ ในปี 2562 จะให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ประเพณี เพื่อดึงนักท่องเที่ยวให้เข้ามาร่วมสัมผัสกลิ่นอายธรรมชาติ เมืองโบราณและวิถีชีวิตพอเพียง อีกทั้งยังเป็นแหล่งแหล่งผลิตข้าวเกษตรอินทรีย์

อย่างไรก็ตาม เวียงลอ เป็นเมืองโบราณเมืองหนึ่ง สันนิษฐานว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 900 ปีมาแล้ว อยู่ในเขตอำเภอจุน ห่างจากที่ว่าการอำเภอจุนประมาณ 15 กิโลเมตร จากซากโบราณสถานที่ยังคงเหลืออยู่ แสดงว่าเวียงลอน่าจะเป็นเมืองใหญ่มาก่อน พงศาวดารกล่าวแต่เพียงว่า ในสมัยพญาเจือง หรือขุนเจิง (ประมาณปี พ.ศ.1625-1705) ได้เกณฑ์คนจากเวียงลอ เวียงเทิง ไปต้านพวกแกวที่มาเมืองเชียงแสน บ้างก็สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเมืองลอ ในลิลิตพระลอ

โดยในเดือนเมษายนของทุกปี ชาวอำเภอจุน จะจัดพิธีบวงสรวงบูรพกษัตริย์ที่ครองเวียงลอทุกองค์ เรียกงานนี้ว่างานปูจาพญาลอ มีอยู่สิบสองขบวนด้วยกัน เริ่มจากขบวนอัญเชิญดวงวิญญาณ และปราสาทนฤมิต หมายถึง ดวงวิญญาณของกษัตริย์ผู้ครองเวียงลอในอดีต ขบวนสุดท้ายเป็นขบวนทวยราษฎร แสดงถึงการอพยพไพร่พลของขุนคงคำแถน เข้าสู่ดินแดนหุบผาดอยจิ และกิ่วแก้ว ดอยยาว จำนวน 36 ครัวเรือน เพื่อรำลึกถึงครอบครัวของผู้เสียสละ เพื่อรักษาอาณาเขตเมืองลอ และพระเจดีย์ศรีปิงเมือง