“เหนือ-อีสาน-กลาง-ใต้” จ่อวิกฤตภัยแล้ง รร.-หอพัก-ธุรกิจเกษตรเร่งหาแหล่งน้ำสำรอง

หลังจากกรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศว่า ไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562 ยาวไปจนกระทั่งกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งปีนี้ฤดูร้อนมาเร็วและนานกว่าทุกปี ส่งผลให้หลายภาคส่วนทั่วทุกภูมิภาค เช่น โรงแรม หอพัก ภาคการเกษตร ฯลฯ ต่างเริ่มทยอยเตรียมการรับมือก่อนสถานการณ์ภัยแล้งมาเยือน ขณะที่บางพื้นที่ได้รับผลกระทบแล้ว

“เขื่อนทับเสลา-ขุนแก้ว” วิกฤต

ฝั่งพื้นที่ภาคกลาง “ชลอ โนรี” ประธานหอการค้าจังหวัดอุทัยธานี กล่าวว่า จ.อุทัยธานีเพิ่งประกาศภาวะภัยแล้ง ขณะนี้เริ่มส่งผลกระทบต่อภาคเกษตร ทั้งข้าวและผลไม้ เนื่องจากฝนเว้นช่วงนาน 3 เดือน ทั้งนี้ หากมีนาคม-เมษายน ฝนยังคงทิ้งช่วงต่อเนื่อง อาจส่งผลต่อภาคเกษตรในระยะยาว ทั้งนี้ อุทัยธานีมีเขื่อนใหญ่ 2 เขื่อน ได้แก่ 1.เขื่อนทับเสลา ที่สามารถรับน้ำได้ 140 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แต่ปัจจุบันไม่สามารถปล่อยน้ำได้ เพราะเพิ่งปล่อยน้ำเมื่อพฤศจิกายน และยังไม่มีฝนตกเหนือเขื่อน 2.เขื่อนขุนแก้ว ความจุ 60 ล้าน ลบ.ม. ก็ไม่สามารถปล่อยน้ำได้เช่นกัน

ส่วน “พัฒนะ พลศรี” หัวหน้าฝายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 3 เขื่อนระบายน้ำฝายวังยาง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนกลาง กล่าวว่า ลำน้ำชีเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายจังหวัด รวมถึงเป็นแหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิตน้ำประปา โดยปี 2562 ปริมาณน้ำในลำน้ำชีลดต่ำกว่าทุกปี ซึ่งต่ำกว่าระดับเก็บกักราว 65 เซนติเมตร แต่ยังมั่นใจว่าน้ำจะพอใช้ไปถึงฤดูฝน หากเกษตรกรไม่ทำนาปรังเพิ่มขึ้นอีก แม้ขณะนี้มีประกาศห้าม แต่พบเกษตรกรในพื้นที่ตั้งแต่หน้าฝายวังยาง-ฝายคุยเชือกทำนาปรังแล้วกว่า 40,000 ไร่

B2 เชียงใหม่หาแหล่งซื้อน้ำ

“พิชัย จาวลา” กรรมการบริหารกลุ่มจาวลาเชียงใหม่ กรุ๊ป ผู้ประกอบการโรงแรมแบรนด์ B2 เปิดเผยว่า ช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมาทางโรงแรมยังไม่เคยประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำประปา ซึ่งปัจจุบันในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มีสาขาโรงแรม B2 รวมทั้งสิ้น 12 สาขา มีค่าใช้จ่ายในการใช้น้ำประปารวมทุกสาขาเฉลี่ย 200,000 บาท/เดือน ทั้งนี้ หากในปี 2562 สภาพอากาศมีความแห้งแล้งมากกว่าทุกปี และอาจเกิดสภาวะภัยแล้ง ทางโรงแรมจะต้องเตรียมแผนรับกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยเตรียมหาแหล่งซื้อน้ำเพื่อสำรองไว้ให้กับทุกสาขา

ด้าน “สุรนุช สนองคุณ” นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดพิษณุโลก และเจ้าของโรงแรมพิษณุโลกออร์คิด กล่าวว่า ที่ผ่านมานอกจากภาวะเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวแล้ว ปัญหาภัยแล้งยังเป็นอีกส่วนหนึ่งด้วย โดยธุรกิจโรงแรมทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ ได้รับผลกระทบจากการที่นักท่องเที่ยวลดลง แม้ช่วงต้นปี 2562 สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดพิษณุโลกได้เปิดฤดูการท่องเที่ยวภูลมโล เชิญชวนนักท่องเที่ยวชมดอกนางพญาเสือโคร่ง แต่ปรากฏว่ามีนักท่องเที่ยวลดลงกว่าปี 2561 ถึง 50%

รร.-หอพักสารคามตั้งรับสำรองน้ำ

เช่นเดียวกับ จ.มหาสารคาม เริ่มเตรียมสำรองน้ำรับมือภัยแล้ง “ณรงค์ เหล่าสุวรรณ” เจ้าของธุรกิจโรงแรมตักสิลา จ.มหาสารคาม เปิดเผยว่า ปี 2562 หลายพื้นที่ในมหาสารคามเริ่มได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค โดยเฉพาะโซนที่ไม่มีแม่น้ำไหลผ่าน สำหรับโรงแรมในเครือตักสิลามีการเตรียมรับมือทุกปี แม้ช่วงหลายปีที่ผ่านมาไม่เคยเกิดเหตุการณ์ถึงขั้นไม่มีน้ำจ่าย โดยมีการจัดเตรียมน้ำสำรองไว้รองรับอย่างต่ำนาน 3 วัน

“ลักขณา เมธานิธิกุล” เจ้าของธุรกิจหอพักใกล้มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ขามเรียง) กล่าวว่า ทางหอพักได้เตรียมสำรองน้ำไว้ตลอดเวลา โดยมีถังสต๊อกน้ำไว้ใช้เผื่อฉุกเฉินได้ประมาณ 3 วัน เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมาพบปัญหาน้ำประปาไม่พอใช้ เนื่องจากมีธุรกิจหอพักเกิดขึ้นใหม่จำนวนมาก ทั้งนี้ มั่นใจว่าแม้จะประสบภัยแล้งขนาดไหน คงไม่มีการงดจ่ายน้ำ เพราะมหาสารคามมีลำน้ำชี ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบไหลผ่าน

“สุทัศน์ แพรสุรินทร์” เลขาธิการสมาคมโรงแรมไทยภาคอีสานตอนบน กล่าวว่า ตอนนี้ในสมาคมยังไม่มีการพูดคุยกันถึงเรื่องภัยแล้ง แต่เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ในสมาคมมีโครงการเกี่ยวกับเรื่องประหยัดพลังงาน ทั้งหากผู้เข้าพักเป็นรายเดียวกันและพัก 1-2 วัน จะไม่เปลี่ยนผ้าปูที่นอน ยกเว้นเปื้อนหรือสกปรก รวมถึงมีป้ายสำหรับผู้เข้าพักว่าต้องการเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนผ้าเช็ดตัว อีกทั้งมีการ์ดวางไว้ในห้องพักเพื่อให้ช่วยกันประหยัดไฟ น้ำ และโรงแรมที่มีขนาด 50 ห้องขึ้นไป จะนำน้ำในระบบบำบัดน้ำเสียมาใช้หมุนเวียน เช่น รดน้ำต้นไม้ หญ้า เป็นต้น

โคพัทลุงขาดแคลนหญ้า

“ประเสริฐ วงศ์นราทิพย์” ผู้อำนวยการโครงการชลประทานตรัง กล่าวว่า ชลประทานตรังได้เตรียมเครื่องสูบน้ำและรถบรรทุกน้ำขนาด 6,000 ลิตร ไว้คอยช่วยเหลือประชาชน และเกษตรกรที่ร้องขอความช่วยเหลือ โดยเกษตรกรที่อยู่บริเวณริมคลองชลประทานควรปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย ระยะเวลาสั้น ส่วนเกษตรกร อ.นาโยง สามารถทำนาได้เพียง 300 ไร่เท่านั้น หากมากเกินกว่านี้ทำให้มีน้ำไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร ทั้งนี้ ปัจจุบันปริมาณน้ำในแม่น้ำตรังวัดได้อยู่ที่ 6.57 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 7 เมตร ขณะที่คลองปะเหลียนวัดได้ 0.82 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 4 เมตร และสถานีวัดระดับ ต.ย่านตาขาว อยู่ที่ 0.59 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 4-5 เมตร แต่ถือว่ายังไม่แห้ง สามารถนำไปผลิตน้ำประปาได้

แหล่งข่าวจากเกษตรกรเลี้ยงโคขนาดรายเล็ก อ.ตะโหมด จ.พัทลุง กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูแล้งและร้อนจัด หญ้าที่ใช้สำหรับเลี้ยงโคเริ่มทยอยแห้งเหี่ยวตาย เนื่องจากไม่มีน้ำฝนมาหล่อเลี้ยง ผู้เลี้ยงโคแห่ไปซื้อหญ้าฟางจากซังข้าวที่เพิ่งเก็บเกี่ยวเสร็จและอยู่ระหว่างเก็บเกี่ยวมาเก็บสต๊อก โดยราคาที่นาข้าวอยู่ที่ 25 บาท/ก้อน และเมื่อนำขึ้นมาจากนาข้าวราคาอยู่ที่ 50 บาท/ก้อน ซึ่งมีแนวโน้มราคาสูงขึ้น ทำให้คาดว่าปี 2562 หญ้าอาหารโคจะขาดแคลน

เช่นเดียวกับ “ฤชัย วงศ์สุวัฒน์” อุปนายกสมาคมผู้บำรุงพันธุ์โคไทยพันธุ์พื้นเมือง จ.พัทลุง กล่าวว่า ขณะนี้ควายน้ำ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง รอยต่อ อ.ระโนด จ.สงขลา เป็นควายลุยทุ่งหลายพันตัวกำลังขาดแคลนอาหาร เพราะหญ้ากำลังเหี่ยวแห้ง จึงต้องหันไปกินดอกบัว ใบบัวกลางทะเลน้อย อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เป็นอาหารแทน

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!