ปูพรม “โคบาลบูรพา” เฟส 2 ตั้ง “ชุมนุมสหกรณ์โคขุนสระแก้ว”

เกือบ 2 ปีหลังจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2560 มีมติอนุมัติงบฯกลางเพื่อดำเนินงานโครงการ “โคบาลบูรพา” ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ เพื่อจัดหาโคและแพะ รวมทั้งการปลูกพืชอาหารสัตว์ 970 ล้านบาท และขอรับการสนับสนุนงบฯจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร 358 ล้านบาท ใช้สร้างคอกและบ่อน้ำ มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 6 ปี (2560-2565) เพื่อดึงให้เกษตรกรลดพื้นที่ปลูกข้าวในที่ดินที่ไม่เหมาะสม และช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยแล้งหันมาเลี้ยงปศุสัตว์แทน ปรากฏว่า ช่วงแรกการดำเนินโครงการมีปัญหา เช่น วัวไม่ได้มาตรฐาน มีปัญหาเรื่องโรค มีการลักลอบนำเข้าวัวจากประเทศเพื่อนบ้าน ค่าก่อสร้างคอกราคาสูง ฯลฯ จนกระทั่ง นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เข้ามารับตำแหน่ง และสั่งชะลอโครงการ ซึ่งช่วงนั้นกรมปศุสัตว์ได้เข้าไปวางมาตรการ และจะไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยวัวพลาสติกอย่างในอดีต

ล่าสุด นายอุดมเขต ราษฎร์นุ้ย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว พร้อมด้วย นายพจน์ภิรัชต์ เนียมจุ้ย ปศุสัตว์เขต 2 นายชัยยุทธ เหลืองบุศราคัม ปศุสัตว์จังหวัดสระแก้ว นายสวนิต สุริยกุล ณ อยุธยา นายอำเภออรัญประเทศ ปศุสัตว์อำเภอ ลงพื้นที่บ้านนายพีระ คมทา บ้านหนองหญ้าปล้อง หมู่ที่ 4 ต.ป่าไร่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ติดตามความก้าวหน้าโครงการโคบาลบูรพา จังหวัดสระแก้ว

นายอุดมเขต ราษฎร์นุ้ย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า จังหวัดสระแก้วมีนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมโคเนื้ออย่างครบวงจร ระยะแรก เป็นการส่งเสริมการเลี้ยงแม่โคเนื้อผลิตลูก เป้าหมายเกษตรกร 6,000 ราย สนับสนุนแม่โคเนื้อรายละ 5 ตัว เป้าหมายโคเนื้อรวม 30,000 ตัว ส่งเสริมการปลูกพืชอาหารสัตว์ ระยะที่ 2 เป็นการขยายผลส่งคืนลูกโคให้แก่เกษตรกรรายต่อไป รวมทั้งการหาตลาด ส่งเสริมเลี้ยงเป็นโคขุนและส่งคืนเงินกู้บางส่วนแบบปลอดดอกเบี้ย และระยะที่ 3 ต่อยอดระยะที่ 2 คืนลูกโคตัวเมียและเพิ่มมูลค่า เช่น สิ่งที่เกิดขึ้น มูลโค การทำปุ๋ยอินทรีย์ ไบโอแก๊ส เป็นต้น

นายพจน์ภิรัชต์ เนียมจุ้ย ปศุสัตว์เขต 2 กล่าวว่า ปศุสัตว์ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการโคบาลบูรพา ข้อมูลปัจจุบัน ณ วันที่ 21 ก.พ. 2562 ได้ส่งมอบโคแก่เกษตรกรไปแล้ว จำนวน 5,378 ราย รายละ 5 ตัว เป็นจำนวน 26,890 ตัว เกษตรกรที่ยังไม่ได้รับ 600 กว่าราย เนื่องจากทำงานประจำต่างจังหวัดและอยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก.ยึดคืนไม่สามารถเข้าอยู่อาศัยได้ อย่างไรก็ตาม ทางจังหวัดได้เร่งดำเนินการประสานดำเนินโครงการแล้ว ในส่วนของผลผลิตที่ได้โดยขณะนี้ได้มีลูกเกิดใหม่ จำนวน 570 ตัว เป็นลูกโคเพศผู้ 357 ตัว เพศเมีย 213 ตัว ถือว่าเป็นผลสำเร็จและเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการต่างมีความพึงพอใจ ถือเป็นการเริ่มต้นเปลี่ยนอาชีพจากทำการเกษตรที่ไม่เหมาะสมมาทำอาชีพเลี้ยงโค มีการดำเนินการขับเคลื่อนโดยสหกรณ์ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่

นายพิษณุ คล้ายเจตน์ดี สหกรณ์จังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า จังหวัดสระแก้วได้มีส่วนร่วมในการบูรณาการโครงการโคบาลบูรพา คือ ระยะแรก มีการจัดตั้งสหกรณ์โคบาลบูรพาขึ้น โดยการรวมเกษตรกรเป็นสหกรณ์ มีการจดทะเบียนเป็นสหกรณ์โคบาลบูรพาเรียบร้อยแล้ว มีสมาชิกรวม 6,000 ราย จำนวน 3 แห่ง คือ อำเภอโคกสูง มีสมาชิก 1,700 ราย ที่อำเภอวัฒนานคร 1,800 ราย ที่อำเภออรัญประเทศ 2,500 ราย ในระยะที่ 2 หลังจากที่จัดตั้งสหกรณ์ จะมีการจัดอบรมสอนให้มีการทำงานโดยระบบบริหารจัดการในลักษณะของกลุ่มร่วมกัน มีการถือหุ้นแล้วกว่า 10 ล้านบาท และในระยะที่ 2 จะระดมกำลังสหกรณ์ทั้งหมดในจังหวัดสระแก้ว โดยมีพื้นที่ส่วนกลางกว่า 200 ไร่ ใช้ในการผลิตพืชอาหารสัตว์ จะจัดตั้งเป็นชุมนุมสหกรณ์ปศุสัตว์โคขุนสระแก้ว มีแนวทางขับเคลื่อนเชื่อมโยงทุกภาคส่วน โคที่เกิดขึ้นในแต่ละปีกว่า 1,500 ตัว ต่อยอดไปสู่เกษตรกรในรายอำเภออื่นของจังหวัดต่อไป มีการบริหารจัดการพึ่งพาตนเองได้ เกิดความยั่งยืนในกลุ่มผู้เลี้ยงโค

นายชัยยุทธ เหลืองบุศราคัม ปศุสัตว์จังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า โครงการโคบาลบูรพาในระยะที่ 2 เป็นเกษตรกรที่จะรอรับลูกโคจากเกษตรกรระยะที่ 1 ทางคณะกรรมการโครงการโคบาลบูรพาสระแก้ว ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ในพื้นที่ 3 อำเภอซึ่งเป็นพื้นที่ภัยแล้ง ถ้าดำเนินโครงการได้ครบถ้วนแล้วจะขยายไปในพื้นที่อำเภออื่นซึ่งอยู่ในจังหวัดสระแก้ว เพราะเกษตรกรมีความต้องการในระยะที่ 2 จำนวนมาก มีการขึ้นบัญชีไว้แล้ว ซึ่งในระยะ 2 ได้เฉพาะแม่โค จะประชาสัมพันธ์ชี้แจงให้เกษตรกรเข้าใจ รวมทั้งทำงานร่วมกับสหกรณ์อย่างใกล้ชิด และจะดำเนินการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ในเรื่องตลาดกับผู้ประกอบการ

ด้านเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ทุกคนต่างพึงพอใจ อาทิ นางจันทา คมทา เกษตรกรเลี้ยงโคอรัญฯ กล่าวว่า รู้สึกดีใจ แต่ก่อนทำไร่ทำนา แห้งแล้งไม่ประสบผลสำเร็จ พอมาเข้าร่วมโครงการนี้มีชีวิตที่ดีขึ้น ด้าน นายพีระ คมทา เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการบ้านหนองหญ้าปล้อง ต.ป่าไร อ.อรัญประเทศ กล่าวว่า เดิมทำเกษตรที่ใช้น้ำมากไม่ได้ผลเท่าที่ควร พอมีผู้นำมาชวนเข้าร่วมโครงการก็เลยมาทำดู ค่อนข้างจะได้ผลดี รับโคมารุ่นแรก ต.ค. 2561 ขณะนี้ลูกเกิดใหม่แล้ว 5 ตัว เป็นเพศผู้ 3 ตัว เป็นเพศเมีย 2 ตัว ซึ่งใช้ผสมเทียมโดยใช้พ่อพันธุ์ชาโลเล่ มีเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์คอยแนะนำ ดูแลตลอด

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!