ราคาโคเนื้อหล่นฉุด ส่งออกวูบ50% “จีน-เวียดนาม” บล็อกนำเข้าคุมเข้มโรค-สารเร่ง

โคมีชีวิต-เนื้อโคชำแหละลดลง 10-20% หวั่นย่ำรอยสินค้าเกษตรตกต่ำ เหตุตลาดส่งออกหลัก “จีน เวียดนาม” ชะลอซื้อ พร้อมคุมเข้มตรวจโรคปากเท้าเปื่อยและสารเร่งเนื้อแดง คาดปีนี้มูลค่าส่งออกวูบแน่ 50% ขณะที่กำลังซื้อในประเทศยังซบเซา คนแห่บริโภคหมู ไก่ราคาถูกกว่าทดแทน

ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาประเทศจีนและเวียดนามมีการกว้านซื้อและนำเข้าโคเนื้อมีชีวิตจากประเทศไทย ประกอบกับปริมาณการเลี้ยงโคไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศด้วย ส่งผลให้ราคาโคเนื้อมีชีวิตปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยราคาขายปลีกเนื้อโค/วัวทั่วไปอยู่ที่ 300 กว่าบาท/กิโลกรัม (กก.) ส่วนเนื้อโคเกรดพรีเมี่ยมจะมีราคาสูงกว่านี้ จึงสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาเลี้ยงโคเนื้อกันมากขึ้น แต่สถานการณ์ล่าสุดราคาเริ่มปรับตัวลดลง ทั้งโคมีชีวิตและเนื้อวัวชำแหละ

นายสุรชัย เปี่ยมคล้า ผู้จัดการสหกรณ์โคเนื้อกำแพงแสน จำกัด และเลขานุการสมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นับตั้งแต่มีการปิดด่านสิบสองปันนาและงดการส่งออกโคเนื้อไปจีนตอนใต้เมื่อปลายปี 2559 เนื่องจากรัฐบาลจีนตรวจพบสารเร่งเนื้อแดงและโรคปากและเท้าเปื่อยในโคเนื้อของไทย ส่งผลให้ในปี 2560 โคเนื้อของไทยมียอดการส่งออกและราคาปรับตัวลง

สำหรับโรคปากและเท้าเปื่อยถูกกำหนดให้เป็นโรคในองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) หากประเทศใดที่มีการระบาดของโรคนี้ จะไม่สามารถส่งออกเนื้อโคหรือโคมีชีวิตไปยังต่างประเทศได้ ซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิกอยู่ด้วย ทำให้ไม่สามารถส่งออกได้มากนักในปัจจุบัน

นายสุรชัยกล่าวต่อว่า ปัจจุบันโคเนื้อมีชีวิตที่ไทยส่งออกราคาลดลงจากปี 2559 ราคาเฉลี่ยน้ำหนักประมาณ 500 กก. ตัวละประมาณ 95-100 บาท/กก. หรือตัวละ 47,500-50,000 บาท ราคาเครื่องใน 85-90 บาท/กก. ราคาหนัง 25-26 บาท/กก. เนื้อชำแหละแล้วประมาณ 240 บาท/กก. ส่วนปี 2560 โคเนื้อมีชีวิตราคาลดลงอยู่ที่ 90-95 บาท/กก. เครื่องใน 65-70 บาท/กก. หนังราคา 19 บาท/กก. แต่ราคาเนื้อที่ชำแหละแล้วยังอยู่เท่าเดิม

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาตลาดส่งออกหลักคือจีนและเวียดนาม แต่โคเนื้อจากไทยมีราคาถูกกว่าประเทศในอาเซียน 20-25 บาท/กก. ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์บราห์มันนำเข้าจากเมียนมาแล้วมาขุนในประเทศไทย และวัวลูกผสมชาร์โรเลย์กับบราห์มัน ส่วนใหญ่นิยมซื้อโคเนื้อมีชีวิต เพราะจีนและเวียดนามนิยมเนื้อร้อนที่เชือดสด ๆ มากกว่าเนื้อที่ชำแหละแล้ว และตอนนี้เมียนมาเริ่มส่งออกโคเนื้อไปยังตลาดจีนโดยตรง

ปัจจุบันจีนและเวียดนามได้หันไปนำเข้าเนื้อวัวจากออสเตรเลียและอเมริกามากขึ้น เพราะราคานำเข้าใกล้เคียงกับของไทย ต่างกันเพียง 3-5 บาท/กก. ส่วนตลาดมาเลเซียยังคงนำเข้าโคเนื้อจากไทยแต่มีปริมาณไม่มากนัก

ขณะที่โคเนื้อเกรดพรีเมี่ยมของประเทศไทยยังไม่ได้รับการยอมรับ เพราะสู้โคเนื้อจากออสเตรเลียและอเมริกาไม่ได้
ขณะเดียวกันส่วนแบ่งตลาดภายในประเทศอยู่ที่ 1-2% เท่านั้น คาดว่าจะส่งผลให้ปีนี้การส่งออกโคเนื้อของไทยลดลงจากปีที่แล้วกว่า 50%

ราคาตก – ราคาโคเนื้อมีชีวิตเริ่มปรับตัวลดลงจากเดิมเฉลี่ยน้ำหนักตัวละ 500 กิโลกรัม ราคา 95-100 บาท/กก. หรือตัวละ 47,500-50,000 บาท ขณะนี้ลดลงมาอยู่ที่ 90-95 บาท/กก. หรือตัวละ 45,000-47,500 บาท แต่ราคาเนื้อหน้าเขียงส่วนใหญ่ลดลงเพียงเล็กน้อยในระดับราคา 300 บาท/กก.

ด้านข้อมูลจากสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตรปี 2559 มีการส่งออกโคมีชีวิต 251,960 ตัว มูลค่า 1,040 ล้านบาท และกรมศุลกากรมีรายงานเกี่ยวกับการลักลอบสินค้าปศุสัตว์ ประเภทเนื้อโคเนื้อ-กระบือ จำนวน 27,000 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าของกลางประมาณ 4 ล้านบาท

ราคาโคเนื้อสารคามตกลง 20%

ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดมหาสารคามได้ลงพื้นที่สำรวจการซื้อขายโค-กระบือมีชีวิตในตลาดนัดโค กระบือ บ้านหัน ต.เขวา อ.เมือง จ.มหาสารคาม เมื่อวันที่ 23 ส.ค.60 พบว่าการซื้อขายลดน้อยในช่วงนี้ อีกทั้งราคาโค-กระบือก็ลดลงประมาณ 20% โดยมีหลายสาเหตุ เช่น อยู่ในช่วงฤดูฝนและการที่โรงเชือดไม่ออกใบอนุญาตฆ่าโคเพศเมีย ทำให้พ่อค้าที่หาซื้อโคเพศเมียหายหน้าไปจากตลาด รวมทั้งพ่อค้าจาก จ.นครสวรรค์ ลพบุรี เพชรบุรี สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ที่เคยมาซื้อโคจำนวนมากเพื่อนำไปเลี้ยงขุนส่งออกตลาดต่างประเทศช่วงนี้ก็หายไปจากตลาดมากกว่าครึ่ง เพราะมีปัญหาการส่งออก

นอกจากนั้นยังถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา จากเดิมที่เคยรับซื้อไม่ต่ำกว่า 110 บาท/กก. ขณะนี้รับซื้อ 80-90 บาท/กก. แต่ช่วงนี้แม้ว่าแรงซื้อจากพ่อค้าต่างจังหวัดอาจลดลงบ้าง แต่กลับมีกำลังซื้อจากชาวบ้านในพื้นที่แทรกเข้ามาตามโครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสม ส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาเลี้ยงโค-กระบือ สร้างรายได้เข้าครัวเรือน

รัฐหนุนเลี้ยงโค-กระบือแทนทำนา

ด้านนายสำราญ สมสวาท พ่อค้าโคจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ช่วงนี้ราคาโคเนื้อลดลงประมาณ 10-20% ส่วนหนึ่งสาเหตุมาจากช่วงเปิดเทอม ผู้ปกครองได้นำโคออกมาขาย เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายการเรียนให้บุตรหลาน ทำให้ราคาโคลดลงตั้งแต่เดือน พ.ค.มาจนถึงขณะนี้ อีกทั้งพ่อค้าที่เคยมาซื้อโคไปขุนส่งออก ก็มีจำนวนลดน้อยลง ส่งผลให้ราคาตกต่ำ

แหล่งข่าวจากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคามเปิดเผยถึงกรณีราคาโคมีชีวิตลดลงในช่วงนี้ว่า ไม่กระทบกับโครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสม ส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาเลี้ยงสัตว์พวกโค-กระบือ เพราะมั่นใจว่าตลาดในประเทศยังมีความต้องการบริโภคเนื้อโคสูงมาก ซึ่งเป็นโครงการช่วยเหลือเกษตรกรปีการผลิต 2559/60 ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2559

สำหรับ จ.มหาสารคามได้ดำเนินการรวม 3 โครงการ ประกอบด้วย 1.เลี้ยงกระบือ 2.เลี้ยงโคเนื้อ 3.เลี้ยงแกะ โดยให้เงินสนับสนุนเกษตรกรเป็นกลุ่มและรายบุคคล เกษตรกรจะเป็นผู้หาซื้อแม่พันธุ์โค-กระบือเอง โดยรัฐบาลสนับสนุนดอกเบี้ย 3% เกษตรกรรับผิดชอบเอง 2% ระยะเวลา 6 ปี วงเงินกู้ประมาณ 500 ล้านบาท

นายก ส.โคเนื้ออีสานชี้ ศก.ไม่ดี

นายสมศักดิ์ คุณเงิน ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดขอนแก่น และนายกสมาคมโคเนื้ออีสาน กล่าวว่า ในระยะนี้อัตราการฆ่าวัวเพื่อการบริโภคลดลง เพราะความต้องการบริโภคลดลง ทำให้ราคาเนื้อวัวหน้าเขียงตกต่ำไปด้วย แต่อาจจะเป็นเพียงแค่สภาวการณ์ที่ไม่ถาวรอะไร เป็นช่วงเฉพาะฤดูกาลเท่านั้น ไม่ใช่เกิดจากผลผลิตวัวล้นตลาด ส่วนเรื่องเวียดนาม จีน ที่มีปัญหาเรื่องสารเร่งเนื้อแดง ทำให้การส่งออกมีปัญหานั้น ก็เป็นตลาดคนละส่วนกัน วิธีการแก้ก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาด

“ช่วงนี้ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมมีปัญหา อำนาจในการจับจ่ายใช้สอยลดน้อยลงมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนระดับรากหญ้า เมื่อเนื้อวัวราคากิโลกรัมละ 300 กว่าบาท ก็ต้องงดลาบก้อยแล้วหันไปบริโภคเนื้อสัตว์อย่างอื่นแทน เช่น หมู ไก่ ราคาไม่แพง ปลาก็พอหากินเองได้ เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี เงินในกระเป๋าไม่มี ก็ต้องหันไปบริโภคอย่างอื่นแทน” นายสมศักดิ์กล่าว

โพนยางคำยังส่งออกไม่ได้

นายสุชิน วันนาพ่อ รองประธานกรรมการที่ 1 สหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กรป.กลาง โพนยางคำ จำกัด เปิดเผยว่า โคขุนโพนยางคำ ราคาเนื้อชำแหละส่งตลาดอยู่ที่ 200-220 บาท/กก. แต่ถ้าเป็นเนื้อคัดพิเศษเฉพาะส่วนจะมีราคาที่หลากหลายจนถึง 1,000 บาท /กก. ส่วนโคเนื้อทั่วไปที่ชำแหละแล้ว ราคาอยู่ที่ประมาณ 300 บาท/กก. ปัจจุบันโคขุนโพนยางคำยังไม่สามารถส่งออกได้อย่างเป็นทางการ หากภาครัฐมีการรับรองคุณภาพและควบคุมโรคปากเท้าเปื่อยได้ คาดว่าจะส่งออกไปยังตลาดเวียดนามและจีนได้กว่า 500-700 ตัวต่อเดือน และสิงคโปร์ก็มีความต้องการโคขุนโพนยางคำด้วย