นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เปิดเผยว่า จ.เชียงราย มีกำหนดจัดงานประเพณีนมัสการสรงน้ำพระธาตุดอยตุง ใช้ชื่อว่า ” 2,001 ปีสืบมา หกเป็งล่องฟ้า ไหว้สาพระธาตุดอยตุง” ขึ้นระหว่างวันที่ 19-20 มี.ค.นี้ โดยกิจกรรมมีการปฏิบัติธรรมบนวัดพระธาตุดอยตุง การเดินจาริกแสวงบุญไปตามเส้นทางภูเขาหรือวิ่งเทรล จากวัดศาลาเชิงดอย ต.ห้วยไคร้ ขึ้นไปบนดอยตุงระยะทาง 12 กิโลเมตร และปั่นจักรยานยานต์ไปตามเส้นทางปกติระยะทาง 23 กิโลเมตร
ในปีนี้ยังมีการจัดพิธีสืบชะตาหลวงล้านนาให้กับผู้ที่ร่วมงาน การจัดรวมพลคนปีกุนและทุกราศีเนื่องจากดอยตุงเป็นพระธาตุปีกุนและปี 2562 ก็ตรงกับปีกุนด้วย มีการแสดงศิลปวัฒนธรรม พิธีตักและสมโภชน้ำทิพย์และสวดเบิก พิธีเจริญพระพุทธมนต์ อบรมสมโภช ทำบุญตักบาตร บวงสรวงพระธาตุดอยตุง โดยจะมีขบวนแห่เครื่องสักการะและอัญเชิญน้ำสรงพระราชทาน ผ้าไตรและน้ำทิพย์ ด้วยขบวนแห่ตุง 12 ราศี 20 วา ขบวนแห่รัตนสัตตนัง พิธีสรงน้ำพระราชทานและห่มผ้ารอบองค์พระธาตุ ฯลฯ
นายประจญ กล่าวว่า พระธาตุดอยตุงมีตำนานความเป็นมาที่ยาวนาน กระทั่งครูบาศรีวิชัยนักบุญล้านนาในอดีต ได้บูรณะจนทำให้เกิดประเพณีการเดินขึ้นดอยตุงเพื่อสรงพระธาตุ ต่อมาปี 2516 ได้บูรณะอีกครั้งโดยสร้างพระธาตุศิลปะใหม่ครอบองค์เดิมเอาไว้ด้วยเหตุผลบางประการ ต่อมาปี 2550 จึงได้รื้อองค์ครอบเดิมออกและสร้างด้วยศิลปะล้านนาแบบเดิมจนถึงปัจจุบัน ส่วนองค์ครอบเดิมยังคงเก็บเอาไว้ซึ่งตนมีโครงการร่วมกับศิลปินในการนำมาจัดสร้างมวลสารเพื่อเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่อไป
ปัจจุบันจังหวัดได้พยายามส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและประเพณีรวมถึงสถานที่สำคัญต่างๆ และนำมาพัฒนาสู่การส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายทั้งนักกีฬา ท้องถิ่น และประชาชนทั่วไป ขณะเดียวกันดอยตุงถือเป็นหนึ่งในเทือกเขาดอยนางนอน ซึ่งเมื่อมองจากที่กว้างจะอยู่ส่วนหน้าอกแต่ถ้ำหลวงซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุการณ์ช่วยเหลือทีม 13 หมูป่าเมื่อกลางปี 2561 จะอยู่ส่วนมวยผมของนางนอนพอดีด้วย
ทั้งนี้ พระธาตุดอยตุงถือเป็นปูชนียสถานสำคัญทางพระพุทธศาสนาและเป็นที่เคารพสักการะ ดังนั้นที่ผ่านมาจึงมีการจัดพิธีนมัสการและสรงน้ำพระธาตุทุกวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 4 ของทุกปี ซึ่งปีนี้ถือว่าเป็นปีที่สำคัญมากเพราะมีอายุครบรอยกว่า 2,001 ปีแล้ว รวมทั้งยังตรงกับคืนวันเพ็ญซึ่งเป็นวันพุธหรือเป็งปุ๊ด รวมทั้งยังเป็นปีกุนซึ่งตรงกับพระธาตุดอยตุงที่ประจำปีกุนด้วย ดังนั้นจึงมีการจัดพิธีอย่างยิ่งใหญ่ โดยก่อนกิจกรรมจะมีการปั่นจักรยานและวิ่งเทรลไม่ต่ำกว่า 1,000 คน จากพื้นราบสู่องค์พระธาตุดอยตุงผู้ที่ถึงที่หมายจะได้รับเหรียญที่ระลึกออกแบบโดยอาจารย์ทรงเดช ทิพย์ทอง ศิลปินจากขัวศิลปะเชียงราย และได้รับการตรวจแบบโดยอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงรายด้วย นอกจากนี้ 10 คนแรกยังจะได้รับโล่ห์รางวัลดีเด่นจากศิลปินดังกล่าวอีกด้วยต่อไป
ด้านนายอมร กิตติกวางทอง วัฒนธรรม จ.เชียงราย กล่าวว่า สำหรับปีนี้จะเริ่มเดินแสวงบุญขึ้นสู่ดอยตุงตั้งแต่เช้าเวลา 07.00 น.เพราะจะมีการจัดให้มีพิธีสืบชะตาหลวงล้านนา ณ พระธาตุดอยตุง เวลา 10.30 น.ให้กับผู้ที่ร่วมงานด้วย ทางศิลปินได้จัดเตรียมเหรียญที่ระลึกมอบให้ทุกคนเอาไว้จำนวน 3,000 เหรียญแรก ซึ่งเพิ่มเติมจากเดิมที่เคยกำหนดเอาไว้ว่ามีจำนวน 2,000 เหรียญ เนื่องจากมีผู้สนใจจะร่วมกิจกรรมจำนวนมาก ทำให้ปีนี้งานจะมีความยิ่งใหญ่อลังการโดยเฉพาะคนเกิดปีกุนไม่ควรพลาด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับพระธาตุดอยตุงมีตำนานและประวัติความเป็นมาว่าพระมหากัสสปะ ซึ่งเป็นพระอรหันต์ครั้นพุทธกาล ได้นำพระบรมสารีริกธาตุมามอบให้กับพระเจ้าอชุตราช กษัตริย์องค์ที่ 3 ของอาณาจักรโยนกนาคพันธ์ ซึ่งพระเจ้าอชุตราชได้เสี่ยงทายด้วยการนำตุงยาว 7,000 วาไปปักเอาไว้เพื่อหาจุดสร้างพระธาตุ และได้ตรงยอดดอยตุงในปัจจุบันนั่นเอง ต่อมาอีก 100 ปี มีพระมหาวชิรโพธิเถระซึ่งเป็นอรหันต์อีกรูปนำพระบรมสารีริกธาตุมามอบให้กับพระเจ้ามังรายณะกษัตริ์ที่ครองราชสืบต่อกันมาอีก ทำให้มีการสร้างเป็นประธาตุคู่แฝดกันมา จนปี 2470 ครูบาศรีวิชัยนักบุญล้านนาได้ไปบูรณะทำให้พุทธศาสนิกชนสืบทอดการเดินขึ้นดอยตุงเพื่อสรงน้ำพระธาตุจนถึงปัจจุบัน โดยแต่ละปีจะมีคนไทย เมียนมา สปป.ลาว และจีนตอนใต้ ไม่น้อยกว่า 10,000 คน พากันเดินแสวงบุญไปตามเส้นทางดังกล่าว