“คมนาคม” ลุยบิ๊กโปรเจ็กต์เหนือ ไฮสปีดเทรน-สนามบิน-มอเตอร์เวย์

อีก 5 ปีข้างหน้าการเดินทางไปยังจังหวัดต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคเหนือจะมีโครงข่ายคมนาคมที่มีความสะดวกมากขึ้น ทั้งระบบถนน และระบบราง โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ทางกระทรวงคมนาคมได้จัดงานนิทรรศการและการเสวนา “ONE Transport for All 2019 : Mobility Connect Technology” ครั้งที่ 2 ณ โรงแรมเลอ เมอริเดียน เชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีเปิดงาน มีผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 300 คน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า รัฐบาลได้กำหนดนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมของประเทศในทุกรูปแบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางของประชาชนและการขนส่งสินค้าทั้งในประเทศและระหว่างประเทศให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยกระทรวงคมนาคมได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580)

และยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายการบริหารจัดการระบบการขนส่ง เพิ่มประสิทธิภาพการเป็นประตูการค้าหลักและเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ และนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาคตามกรอบแนวคิดการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง

ทั้งนี้ ภาพรวมยุทธศาสตร์พัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี แบ่งการพัฒนาออกเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2561-2565) วงเงินลงทุนรวม 1,714,241 ล้านบาท โครงการส่วนใหญ่ดำเนินการเห็นเป็นรูปธรรม และบางโครงการใกล้แล้วเสร็จ เช่น สะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-โคราช และท่าอากาศยานเบตง ระยะที่ 2 โครงการที่ดำเนินการในปี 2566-2570 วงเงินลงทุนรวม 636,863 ล้านบาท ระยะที่ 3 ดำเนินการในปี 2571-2575 วงเงินลงทุนรวม 418,121 ล้านบาท และระยะที่ 4 ดำเนินการในปี 2576-2580 วงเงินลงทุนรวม 318,436 ล้านบาท

โครงการสำคัญที่เร่งรัดผลักดันเพื่อให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ภาคเหนือ ประกอบด้วย 1.ทางราง ได้แก่ รถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 673 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 526,028 ล้านบาท ล่าสุดทางกระทรวงได้หารือกับญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้ร่วมทุนในการปรับลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการลงทุนให้ต่ำลง โดยโครงการระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 380 กิโลเมตร จะเปิดให้บริการปี 2568 จากนั้นจะเริ่มระยะที่ 2 พิษณุโลก-เชียงใหม่

ขณะที่รถไฟทางคู่ ก็จะเร่งโครงการช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กิโลเมตร ปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กิโลเมตร เด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กิโลเมตร และเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ (สายใหม่) ระยะทาง 326 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ในช่วงสำรวจการเวนคืนที่ดิน โดยรถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เป็นโครงการที่รอการพัฒนามานานถึง 50 ปี

นอกจากนี้โครงการรถไฟฟ้ารางเบาจังหวัดเชียงใหม่ก็อยู่ระหว่างดำเนินการ ขณะนี้ รฟม.ได้เดินหน้าสำรวจแนวเขตทางที่เหมาะสม ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างเส้นทางสายสีแดงก่อนในช่วงปี 2562-2564 โดยหากรวมมูลค่าลงทุนทั้งเส้นทางสายสีแดง เขียว น้ำเงิน จะอยู่ที่ราว 80,000 ล้านบาท และเมื่อรวมกับการพัฒนาระบบ feeder โครงการจะมีมูลค่าลงทุนรวมทั้งสิ้นกว่า 100,000 ล้านบาท

2.ทางอากาศ เพิ่มศักยภาพท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ระยะที่ 1 มูลค่าลงทุน 14,473 ล้านบาท เพื่อรองรับผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นราว 20 ล้านคน ภายในปี 2568 ขณะเดียวกันจะเร่งการพัฒนาสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมของทำเลที่ตั้ง คาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างได้ภายในปี 2568 ในส่วนของการพัฒนาท่าอากาศยานอื่น ๆ

ในภาคเหนือก็อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ ท่าอากาศยานนานาชาติแม่สอด เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นและส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ จะเปิดให้บริการในปี 2564 นอกจากนี้อยู่ระหว่างเร่งการพัฒนาท่าอากาศยานลำปาง เปิดให้บริการปี 2568 และท่าอากาศยานแพร่ เปิดให้บริการปี 2569

3.ทางถนน ประกอบด้วยถนนไฮเวย์ช่วงเชียงใหม่-ลำปาง-พะเยา-เชียงราย ระยะทาง 185 กิโลเมตร ให้เป็น 4 ช่องจราจร อยู่ระหว่างดำเนินการ รวมถึงการผลักดันโครงการมอเตอร์เวย์เชียงใหม่-เชียงราย ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาออกแบบ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ตาก-แม่สอด สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ สถานีขนส่งสินค้าภูมิภาค จุดพักรถบรรทุก และทางลอดฟ้าฮ่าม

4.ทางน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางน้ำ เพื่อลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ได้แก่ ท่าเรือเชียงแสน ท่าเรือเชียงของ และการพัฒนาท่าเรือบกที่จังหวัดนครสวรรค์

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!