“ภัยแล้ง” พ่นพิษสารคาม “ลำน้ำชี” เหือด “กระทบ” นาปรัง” สูญรายได้ 400 ล้าน

ส่อวิกฤต - เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ซึ่งส่งน้ำหล่อเลี้ยงลำน้ำชีประสบปัญหาปริมาณน้ำเหลือน้อย ทำให้ลำน้ำชีได้รับผลกระทบด้วย

ภัยแล้งพ่นพิษ “มหาสารคาม” เหตุ “แม่น้ำชี” เส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงภาคอีสานหลายจังหวัด ปริมาณน้ำค่อนข้างต่ำกว่าทุกปี วอนเกษตรกร 4 อำเภอ “โกสุมพิสัย-เชียงยืน-กันทรวิชัย-เมือง” งดทำนาปรัง คาดเกษตรกรสูญรายได้กว่า 400 ล้าน

นายพัฒนะ พลศรี หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 3 เขื่อนระบายน้ำฝายวังยาง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนกลาง เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน กำลังส่งผลกระทบในหลายพื้นที่ เนื่องจากปีนี้ลำน้ำชี ซึ่งถือเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงประชาชนในภาคอีสานหลายจังหวัด เป็นแหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิตน้ำประปา มีปริมาณน้ำค่อนข้างลดต่ำกว่าทุกปี คือระดับน้ำที่หน้าฝายวังยางต่ำกว่าระดับเก็บกักประมาณ 65 ซม. และน้ำลดลงเฉลี่ยวันละ 2.3 ซม.

เนื่องจากเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นหัวใจหลักที่ต้องบริหารจัดการส่งน้ำหล่อเลี้ยงให้กับลำน้ำชี เพื่อช่วยเหลือประชาชนในการอุปโภคบริโภค การประปา และรักษาระบบนิเวศมีน้ำน้อย จึงต้องบริหารให้ผ่านวิกฤตหน้าแล้งที่เกิดขึ้นไปได้จนกว่าจะเข้าสู่ฤดูฝน

แต่สิ่งที่น่าห่วง คือ เกษตรกรมีการทำนาปรังไปแล้วกว่า 40,000 ไร่ ใน 4 อำเภอ ทางโครงการจึงออกประกาศแจ้งขอความร่วมมือไปยังเกษตรกรในพื้นที่ให้งดการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งประจำปี 2561/2562 เนื่องจากสถานการณ์น้ำต้นทุนคือเขื่อนอุบลรัตน์ปล่อยน้ำลงมาวันละประมาณ 5 แสนลูกบาศก์เมตร แต่หากเกษตรกรไม่ขยายพื้นที่ทำนาปรังน้ำน่าจะพอใช้ไปจนถึงหน้าฝน

รายงานข่าวจากจังหวัดมหาสารคามแจ้งว่า สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดทำให้ปริมาณน้ำในลำชีตั้งแต่ฝายคุยเชือกมาจนถึงฝายวังยาง ระยะทางกว่า 100 กม. ผ่านพื้นที่ 4 อำเภอ ประกอบด้วย อ.โกสุมพิสัย อ.เชียงยืน อ.กันทรวิชัย และ อ.เมือง ปริมาณลดน้อยลง และจากการที่มีการประกาศขอความร่วมมือจากทางราชการให้เกษตรกรใน 4 อำเภองดการปลูกพืชฤดูแล้งโดยเฉพาะข้าวนาปรังนั้น จากข้อมูลการทำนาปรังทุกปีที่ผ่านมา พบว่ามีเกษตรกรปลูกข้าวนาปรังปีละไม่ต่ำกว่า 1.7 แสนไร่ เมื่อมีการขอความร่วมมือคาดว่าพื้นที่ทำนาปรังจะหายไปกว่า 1.2 แสนไร่ ทำให้ผลผลิตข้าวนาปรังหายไปกว่า 8.4 หมื่นตัน หากราคาข้าวนาปรังเฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 5,000 บาท ปีนี้เกษตรกรเขตลุ่มน้ำชีสูญรายได้กว่า 400 ล้านบาท ในรอบการทำนาปรังปีนี้ และยังไม่รวมกับปลากระชังที่งดเลี้ยงในรุ่นต่อไปคาดว่าคงหลายล้านบาท

ด้านนายณรงค์ เหล่าสุวรรณ ประธานหอการค้าจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า เม็ดเงินที่หายไปไม่น่าจะมาก แต่อาจส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อในท้องถิ่นบ้าง สำหรับการทำนาปรังมีต้นทุนสูงกว่าการทำนาปี อาทิ ค่าปุ๋ย ค่าสูบน้ำ เป็นต้น คือการทำนาปรังมีกำไรน้อยมาก เม็ดเงินจากการทำนาปรังปีนี้เมื่อเฉลี่ยหักต้นทุนออก ภาคธุรกิจที่จะได้อานิสงส์จากเม็ดเงินก้อนนี้จึงไม่มาก แต่ผลที่จะตามมาคือจะทำให้ราคาข้าวในปีต่อไปราคาสูงขึ้นเพราะภัยแล้งและผลทางด้านจิตใจของเกษตรกร

ส่วนแพทย์หญิงโสรยา คณาสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสริมไทยคอมเพล็กซ์ จำกัด ห้างค้าปลีกยักษ์ท้องถิ่น กล่าวว่า เศรษฐกิจเมืองมหาสารคามอาจจะมีความแตกต่างกว่าจังหวัดอื่น ๆ ปัญหาภัยแล้งส่งผลให้เกษตรกรไม่ได้ทำนาปรังปีนี้ แต่เศรษฐกิจเมืองมหาสารคามยังเดินหน้าไปได้ เนื่องจากกำลังซื้อไม่ได้ผูกติดกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง กำลังซื้อมาจากหลายกลุ่ม อาทิ จากภาคการศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาน่าจะเกือบแสนคน จากภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ข้าราชการผู้มีรายได้ประจำ และพาณิชย์ เป็นต้น หากเม็ดเงินรายได้จากการทำนาปรังหายไปยังมีกำลังซื้อทดแทนจากกลุ่มอื่น นี่คือจุดแข็งของเศรษฐกิจเมืองมหาสารคาม

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!