ยอดค้าชายแดน “มาเลย์” พุ่ง3.6แสนล้าน ดีเดย์1เม.ย. เปิด “ด่านสะเดา” นำร่องบริการ24ชม.

ศุลกากรดีเดย์นำร่องเปิดบริการ “ด่านสะเดา” สงขลา 24 ชม. วันที่ 1 เมษายนนี้แห่งแรกในไทย หลังยอดค้าชายแดนมาเลย์ปี 2561 ยอดพุ่ง 3.6 แสนล้าน ด้าน “นายด่านสะเดา” เผยการก่อสร้างด่านแห่งใหม่คืบหน้ากว่า 80% คาดแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้

นายศิริพงษ์ วุฑฒินันท์ นายด่านศุลกากรสะเดา กรมศุลกากร เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 เมษายน 2562 ด่านศุลกากรสะเดาจะเริ่มเปิดให้บริการ 24 ชม. สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป เป็นการทดลองนำร่องแห่งแรก โดยหลังจากนี้ 3 เดือนจะประเมินผลและปรับปรุงการให้บริการ เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ 100% เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาการค้าชายแดนบริเวณด่านสะเดามีผู้มาใช้บริการมากขึ้น โดยในปี 2561 มีมูลค่าการค้าผ่านด่าน 364,140.57 ล้านบาท สูงกว่าปี 2560 ซึ่งมีมูลค่า 326,781 ล้านบาท และในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ (ต.ค. 2561-ก.พ. 2562) มีมูลค่าการค้าผ่านด่าน 161,825.44 ล้านบาท และมีการจัดเก็บรายได้ทุกประเภททั้งอากรขาเข้า-ขาออก และค่าธรรมเนียมในปี 2561 มูลค่า 3,437.20 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่เก็บได้ 3,097.65 ล้านบาท ส่วนในช่วงต้นปี 2562 เก็บได้ 1,606.55 ล้านบาท

สำหรับสินค้าที่มีการนำเข้าผ่านด่านสะเดา เช่น เครื่องประมวลผลข้อมูล อุปกรณ์เกี่ยวกับการบันทึกเสียง ส่วนประกอบเครื่องจักร เครื่องยนต์สันดาป ส่วนสินค้าส่งออกสำคัญที่ผ่านด่านนี้ เช่น ยางธรรมชาติ เครื่องประมวลข้อมูล ส่วนประกอบเครื่องจักร เครื่องสันดาปภายใน เป็นต้น

นายศิริพงษ์กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ว่า ขณะนี้มีความคืบหน้าไปกว่า 85% แล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2562 โดยโครงการนี้ใช้งบประมาณลงทุนก่อสร้าง 1,352 ล้านบาท จัดจ้างบริษัท พาวเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ก่อสร้างในพื้นที่ห่างออกไปจากด่านเดิม 1 กม. เพื่อแก้ไขปัญหาความแออัดของด่านสะเดา ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวประกอบด้วย อาคารที่พักอาศัย 39 ยูนิต จำนวน 3 หลัง อาคารที่พักอาศัยข้าราชการ 20 ยูนิต บ้านพักข้าราชการและนายด่าน อาคารหอคอยแลนด์มาร์ก อาคารโรงอาหาร อาคารอเนกประสงค์ อาคารศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อาคารเก็บของกลาง ถังเก็บน้ำและท่อสูบน้ำ อาคารผู้โดยสาร อาคารตรวจสินค้า ซึ่งสามารถให้บริการคอนเทนเนอร์ได้ 6 ช่อง และซุ้มประตูเข้า-ออก

รายงานข่าวระบุว่า ด่านศุลกากรสะเดาเป็นด่านการค้าชายแดนที่มีมูลค่าการค้ามากที่สุดเป็นอันดับ 1 โดยเฉลี่ยแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท มีผู้โดยสารเดินทางผ่านพรมแดน 5.5 ล้านคน ยานพาหนะเข้าออก 8.4 แสนคัน ซึ่งได้มีการศึกษาโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระบุว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มว่าจะมีการใช้บริการด่านนี้เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ทางกรมศุลกากรร่วมกับจังหวัดสงขลา จึงได้ขอใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติจากกรมป่าไม้ที่อยู่ติดกัน เนื้อที่ 20-3-38 ไร่ เพื่อสร้างอาคารด่านพรมแดนแห่งใหม่ แก้ไขปัญหาความแออัด

สำหรับการเพิ่มมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับผู้ประกอบการ โดยการนำระบบการเชื่อมโยงระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน หรือ ASEAN Single Window (ASW) มาใช้เพื่อแลกเปลี่ยนหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า หรือ ATIGA e-Form D นับตั้งแต่ช่วงตุลาคม 2561-กุมภาพันธ์ 2562 มีการใช้สิทธิพิเศษยกเว้นภาษีอากรผ่าน e-Form D จำนวน 779 ฉบับ คิดเป็นสัดส่วน 10% ของจำนวนการออก Form D ซึ่งมี 7,860 ฉบับ และในส่วนนี้มีผู้ประกอบการออกฟอร์มด้วยระบบ self certificaiton 5,330 ฉบับ

“ทางคณะกรรมการระดับจังหวัดจะเร่งประชาสัมพันธ์ เพื่อส่งเสริมให้ใช้ระบบ ASW มากขึ้น หลังจากเริ่มทดลองใช้ระบบดังกล่าว พบว่าผู้ประกอบการยังไม่เข้าใจ จึงมีการใช้แบบฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ประมาณ 10% การใช้ระบบนี้จะทำให้ออกเอกสารได้เร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับความพร้อมของเอกสารที่ชิปปิ้งด้วย หากเอกสารครบและถูกต้องจะทำให้ออกฟอร์มได้รวดเร็ว”

หากย้อนดูมูลค่าสินค้านำเข้า-ส่งออกที่ผ่านด่านสะเดา ช่วงปี 2558-2561 มูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นเกือบทุกปี โดยปี 2558 มูลค่ารวม 344,690 ล้านบาท ปี 2559 มูลค่ารวม 324,053.24 ล้านบาท ปี 2560 มูลค่รวม 326,781 ล้านบาท ปี 2561 มูลค่ารวม 364,140.57 ล้านบาท ปี 2562 (ต.ค. 61-ก.พ. 62) มูลค่ารวม 161,825.44 ล้านบาท โดยสินค้านำเข้ามูลค่าสูงสุด 5 อันดับแรกปี 2561 ได้แก่ 1.เครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ มูลค่านำเข้า 39,448.387 ล้านบาท 2.สื่อบันทึกที่ยังไม่ได้บันทึกที่จัดทำไว้เพื่อการบันทึกเสียงหรือปรากฏการณ์อื่น ๆ ด้วยวิธีที่คล้ายกัน มูลค่านำเข้า 20,931.659 ล้านบาท 3.ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบใช้กับเครื่องจักร มูลค่านำเข้า 17,143.486 ล้านบาท 4.เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ มูลค่านำเข้า 16,920.545 ล้านบาท 5.วงจรรวมและไมโครแอสเซมบลีที่ใช้ในทางอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่านำเข้า 16,846.443 ล้านบาท

ขณะที่ปีงบประมาณ 2562 (ต.ค. 61-ก.พ. 62) สินค้านำเข้ามูลค่าสูงสุด 5 อันแรก ได้แก่ 1.เครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ มูลค่านำเข้า 22,478.2431 ล้านบาท 2.เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบเคลื่อนตรงหรือลูกสูบหมุน มูลค่านำเข้า 8,510.541 ล้านบาท 3.จานบันทึกเทป อุปกรณ์หน่วยเก็บความจำ มูลค่านำเข้า 8,157.867 ล้านบาท 4.วงจรรวมและไมโครแอสเซมบลีที่ใช้ในทางอิเล็กทรอนิกส์ 8,018.998 ล้านบาท และ 5.ส่วนประกอบและอุปกรณ์ใช้กับเครื่องจักร มูลค่านำเข้า 6,515.998 ล้านบาท

ด้านสินค้าส่งออกมูลค่าสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ 1.ยางธรรมชาติ มูลค่าส่งออก 24,652.100 ล้านบาท 2.เครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ มูลค่าส่งออก 20,923.620 ล้านบาท 3.ส่วนประกอบและอุปรกรณ์ประกอบใช้กับเครื่องจักร 17,131.907 ล้านบาท 4.เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ มูลค่าส่งออก 16,183.619 ล้านบาท และ 5.ไม้ยางพาราแปรรูป มูลค่าส่งออก 8,986.997 ล้านบาท

ขณะที่ปีงบประมาณ 2562 (ต.ค. 61-ก.พ. 62) สินค้าส่งออกมูลค่าสูงสุด 5 อันแรก ได้แก่ 1.เครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ มูลค่าส่งออก 11,018.33 ล้านบาท 2.ยางธรรมชาติ มูลค่าส่งออก 8,898.90 ล้านบาท 3.ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบใช้กับเครื่องจักร 7,081.86 ล้านบาท 4.เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบเคลื่อนตรงหรือลูกสูบหมุน 5,047.12 ล้านบาท และ 5.วงจรรวมและไมโครแอสเซมบลีที่ใช้ในทางอิเล็กทรอนิกส์ 3,074.50 ล้านบาท

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!