“สังขละบุรี” ดิ้นจัดอีเวนต์ หลังศก.ซบนักท่องเที่ยวไทย-เทศลด

“สังขละบุรี” หนึ่งในพื้นที่สุดเขตแดนทางตอนเหนือของจังหวัดกาญจนบุรี และได้ชื่อว่า “เมืองสามหมอก ดินแดนสามวัฒนธรรม” เป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวที่ต้องการพักผ่อนกับธรรมชาติ สูดอากาศบริสุทธิ์ และสัมผัสวิถีชุมชน โดยมีสัญลักษณ์โดดเด่นคือสะพานมอญ หรือสะพานอุตตมานุสรณ์ข้ามแม่น้ำซองกาเรียไปยังหมู่บ้านมอญ

“ปกรณ์ กรรณวัลลี” นายอำเภอสังขละบุรี เล่าให้ “ประชาชาติธุรกิจ” ฟังว่า สังขละบุรีมีพื้นที่ป่ากว่า 90% อยู่ติดกับประเทศเมียนมา และเป็นส่วนหนึ่งของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร มีพื้นที่สำหรับอยู่อาศัยเพียง 10% แบ่งเป็นประชากรสัญชาติไทยประมาณ 2-3 หมื่นคน และประชากรที่เป็นชาติพันธุ์อื่น ๆ หรือไม่มีสัญชาติอีกประมาณ 2 หมื่นคน เช่น ชาติพันธุ์กะเหรี่ยง มอญ เป็นต้น

ซึ่งล้วนแต่เป็นกลุ่มคนที่อพยพเข้ามาทั้งสิ้น ฉะนั้นวิถีชุมชนดั้งเดิมจึงมีให้เห็นอยู่ โดยเฉพาะวัฒนธรรมการใส่บาตรที่สะพานมอญในตอนเช้า ทั้งยังมีกิจกรรมอื่นที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวบางส่วน เช่น การล่องแพ เดินป่า และไหว้พระ

“นักท่องเที่ยวที่มาสังขละบุรีส่วนใหญ่ตั้งใจมา เพราะเส้นทางนี้ไม่สามารถเชื่อมต่อไปยังแหล่งท่องเที่ยวอื่นได้ และมักจะมาเพียง 2 วัน 1 คืน บางคนมาเพียงแค่สูดอากาศบริสุทธิ์หรือนั่งกินข้าว เพราะอากาศที่นี่ดีมาก ไม่มีมลพิษ ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว ซึ่งเป็นฤดูท่องเที่ยวของสังขละบุรี นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นคนไทย ทั้งพนักงานออฟฟิศ กลุ่มนักเรียน นักศึกษาที่มีช่วงวันหยุดยาว ส่วนชาวต่างชาติมีเพียง 5% ซึ่งสะพานมอญยังเป็นจุดขายที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้”

“ปกรณ์” บอกว่า จำนวนนักท่องเที่ยวของสังขละบุรีในปี 2562 คาดการณ์ว่าน่าจะลดน้อยลงกว่าปี 2561 เล็กน้อย โดยมีปัจจัยหลักมาจากเรื่องเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน แม้จะไม่ได้ซบเซาแต่เห็นสัญญาณหลายอย่าง ทั้งสภาพอากาศในปีนี้อุณหภูมิสูงกว่าปีที่ผ่านมา ที่พักโรงแรมไม่มีการจองล่วงหน้าเต็มอัตราเหมือนที่ผ่าน ๆ มา การจราจรรถไม่ติด และบนสะพานมอญผู้คนไม่หนาแน่น ถึงกระนั้นยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะลดจริงหรือเพิ่มขึ้นอย่างไร ต้องรอดูภาพรวมตลอดทั้งปีอีกครั้ง

“ปีที่แล้วอะไรก็ขายได้ ทั้งของถูกของแพง ร้านอาหารอร่อยขึ้นชื่อและร้านอาหารธรรมดา โดยเฉพาะช่วงสุดสัปดาห์ เสาร์-อาทิตย์ มีรถวิ่งเข้ามาเที่ยวไม่ต่ำกว่า 1,000 คันต่อวัน จำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่หลักหมื่นคนขึ้นไป เห็นได้จากกระแสสื่อโซเชียลต่าง ๆ มากมาย แต่ในปีนี้ไม่ค่อยเห็นภาพนั้น หากจะสร้างสังขละบุรีให้กลับมาบูมอีกครั้งน่าจะต้องมีการจัดอีเวนต์ รวมถึงการที่ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนการท่องเที่ยวชุมชนอย่างโครงการโอท็อปนวัตวิถีได้รับกระแสตอบรับดี”

“ปิยพัชร์ วงศ์โดยหวัง” ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานจังหวัดกาญจนบุรี บอกว่า การท่องเที่ยวของสังขละบุรี โดดเด่นตั้งแต่ช่วงฤดูหนาวไปจนถึงช่วงเดือนเมษายน ที่มีเทศกาลสงกรานต์ เนื่องจากมีกิจกรรมสงกรานต์มอญ ซึ่งเป็นการสรงน้ำพระแบบมอญ ที่เหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย เป็นการรินน้ำให้ไหลไปตามรางไม้ไผ่จนสุดปลายทางที่พระพุทธรูป

โดยผู้มาร่วมงานสามารถรดน้ำบนรางไม้ไผ่จากส่วนใดของรางก็ได้ ซึ่งในช่วงสงกรานต์สังขละบุรียังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวไทยอย่างต่อเนื่อง แต่จะเป็นสงกรานต์ที่เกิดขึ้นก่อนสงกรานต์พระประแดง 2-3 วัน เพราะใช้กำหนดวันตามจันทรคติ มีจุดขายอีกอย่างคือ การแต่งกายของคนไทยเชื้อสายมอญในวันเทศกาลสงกรานต์

ด้านอาหารถิ่นเป็นอีกหนึ่งจุดขายของสังขละบุรี และเป็นจุดสำคัญที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้ความสนใจ ทั้งขนมทองโยะ เป็นขนมแป้งปิ้ง ขนมจีนแบบมอญที่มีเอกลักษณ์ที่ได้อิทธิพลมาจากเมียนมาและมอญ ที่ได้รับความสนใจและมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการสนับสนุนของส่วนราชการในการปรับปรุงถนนเส้นไปสังขละบุรี สร้างให้มีความสะดวกสบายมากขึ้นในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม จังหวัดกาญจนบุรีมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือนปี 2561 กว่า 9 ล้านคน แบ่งเป็นคนไทย 8 ล้านคน ต่างชาติ 4 แสนคน มีรายได้ประมาณ 27,000 ล้านบาท หากเทียบกับปี 2560 พบว่ารายได้เพิ่มขึ้นถึง 10% โดยอำเภอสังขละบุรีนั้น มีความสำคัญกับการท่องเที่ยวมาก สังเกตได้จากช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาสะพานมอญเต็มไปด้วยคนแน่นขนัด แสดงให้เห็นได้ว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยังได้รับความนิยมอยู่ จะมีกิจกรรมไฮไลต์คือการใส่บาตรที่สะพานในช่วงเช้า จะมีทั้งนักท่องเที่ยวคนไทยและชาวสังขละบุรีที่เป็นคนไทยเชื้อสายมอญนิยมมาใส่บาตร