หนองคายหนุนละมุดไข่ห่าน ลาวแห่ซื้อผลผลิตขาดตลาด

ตลาดต้องการ - ปัจจุบันชาวลาวนิยมบริโภคไม้ผลของไทยหลายชนิด โดยเฉพาะละมุดพันธุ์ไข่ห่าน ทำให้ผลผลิตที่ปลูกได้ไม่เพียงพอกับความตอ้ งการของตลาด ส่งผลให้ชาวบ้าน อ.สังคม จ.หนองคาย บางส่วนหันมาโค่นกล้วยปลูกละมุดจำนวนมาก
หนองคายหนุนเกษตรกรปลูกละมุดพันธุ์ไข่ห่านหลังชาวลาวนิยมบริโภคผลผลิตไม่พอขาย

นายเวียน ธรรมสอน นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการพิเศษ/หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร สำนักงานเกษตรจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า ขณะนี้ผู้บริโภคใน สปป.ลาวนิยมบริโภคผลไม้ของไทยหลายชนิด โดยเฉพาะละมุด ทุเรียน เงาะ ลิ้นจี่ และลำไย โดยชาวลาวนิยมเดินทางเข้ามาซื้อผลไม้ของไทยบริเวณจุดผ่อนปรนไทย-ลาวจำนวนมาก ดังนั้นทางสำนักงานเกษตรจังหวัดหนองคายจึงส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย ปลูกผลไม้หลายชนิด เนื่องจากพื้นที่บริเวณดังกล่าวมีความเหมาะสมในการปลูกไม้ผล โดยเฉพาะการปลูกละมุดถือเป็นพืชทางเลือกที่เกษตรกรเลือกปลูก เพราะไม่มีปัญหาเรื่องการตลาด

เดิมพื้นที่อำเภอสังคมนิยมปลูกกล้วย โดยมีพื้นที่ปลูกประมาณ 10,000 กว่าไร่ แต่ขณะนี้เริ่มปลูกลดลง เหลือพื้นที่ปลูกอยู่ประมาณ 5-6 พันไร่ เพราะกล้วยเป็นตลาดเฉพาะ เมื่อเปรียบเทียบการปลูกไม้ผลอื่น การปลูกไม้ผลจะลดความเสี่ยงเนื่องจากมีอายุยืนยาวกว่ากล้วยที่มีอายุปีต่อปี ซึ่งปีไหนที่ได้รับผลกระทบจากโรคกล้วยจะประสบปัญหาเรื่องผลผลิต แต่ไม้ผลยืนต้นได้ยาวนานกว่า

ยกตัวอย่างเช่น ละมุดสามารถอยู่ได้ถึง 20 ปี ความเสี่ยงเรื่องการตลาดมีความเสี่ยงน้อยกว่า ในส่วนของทุเรียนนั้น พื้นที่อำเภอสังคมถือว่ามีความเหมาะสมในการปลูกด้วยสภาพอากาศและภูมิประเทศที่เป็นภูสูงสลับกับพื้นที่ราบ

นายธงชัย ศรีงาม อายุ 43 ปี เกษตรบ้านงิ้ว ต.นางิ้ว อ.สังคม จ.หนองคาย หนึ่งในเกษตรกรผู้ปลูกละมุดพันธุ์ไข่ห่านหรือพันธุ์มาเลย์ กล่าวว่า เดิมทำสวนกล้วยเช่นเดียวกับเกษตรกรในพื้นที่อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย แต่ในช่วงหลังพบว่าการปลูกกล้วยซ้ำที่เดิมหลายครั้งจะทำให้เกิดโรค เมื่อ 4 ปีที่ผ่านมาจึงได้นำละมุดมาปลูกแซมระหว่างต้นกล้วย ในพื้นที่ 5 ไร่ เป็นต้นละมุดจำนวน 160 ต้น เป็นละมุดพันธุ์ไข่ห่านที่มีผลโต รสชาติหวานกรอบและผิวเปลือกสวย หลังจากเห็นว่าต้นละมุดที่ปลูกเจริญเติบโตเร็ว จึงตัดต้นกล้วยออก ดูแลต้นละมุดเพียงอย่างเดียว ผลผลิตที่ได้นำไปขายที่ตลาดจุดผ่อนปรนไทย-ลาว ในเขต ต.บ้านม่วง อ.สังคม ที่อยู่ไม่ไกลจากสวนนัก ปรากฏว่าละมุดที่นำไปขายรสชาติเป็นที่ถูกใจของลูกค้าทั้งชาวไทยและชาวลาว ผลผลิตที่ออกมาไม่เพียงพอกับความต้องการ

ส่วนราคาได้สูงกว่าละมุดที่มาจากที่อื่น ราคาขายไม่ต่ำกว่า 20 บาท/กิโลกรัม แต่โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 30-40 บาท/กิโลกรัม เนื่องจากละมุดที่นำไปขายมีความสดและรสชาติอร่อยกว่า ที่สำคัญสามารถเก็บขายได้ทุกวัน การดูแลง่าย โรคแมลงน้อย นอกจากแบ่งพื้นที่ปลูกละมุด 5 ไร่แล้ว พื้นที่เหลืออีกกว่า 40 ไร่ เริ่มปลูกไม้ผลอื่น ๆ โดยเฉพาะทุเรียน ปลูกรวม 300 ต้น นอกจากนี้ยังมีการปลูกเงาะ ลิ้นจี่ ลำไย มะพร้าว มะกอกน้ำ และมะยงชิด เป็นต้น