ชงโมเดล Green City ตามรอย “เยอรมนี-จีน-สิงคโปร์”

ล่าสุดเครือข่ายแก้ไขหมอกควันเชียงใหม่ได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ โดยเสนอการแก้ปัญหา 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน ประกาศปัญหาหมอกควันเป็นวาระเร่งด่วน งดการเรียนการสอนในช่วงวิกฤต ติดตั้งเครื่องวัดค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ทุกพื้นที่ ศูนย์รับแจ้งการเผาต้องดำเนินการ 24 ชั่วโมงและตลอดปี สร้างเครือข่ายออนไลน์ ขอความร่วมมือกองทัพอากาศ หรือหน่วยงานทำฝนเทียมในสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย แจ้งเตือนระดับความอันตรายของฝุ่นควัน และแจกหน้ากากป้องกันฝุ่นขนาด PM 2.5

สนับสนุนประชาชนใช้บริการระบบขนส่งมวลชน จัดระบบจราจรในพื้นที่เมือง ให้รถยนต์สลับวิ่งวันคู่วันคี่ ขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ตรวจจับควันดำ และงดใช้รถที่มีควันดำเกินค่ามาตรฐาน รวมถึงดูแลและควบคุมการก่อสร้างไม่ให้ก่อให้เกิดฝุ่นละออง

ขณะที่ระยะกลาง ช่วง 1-3 ปี ได้แก่ บูรณาการสถาบันการศึกษา หน่วยงานรัฐ และองค์กรเอกชน เพื่อรวบรวมรายชื่อหน่วยงานและองค์ความรู้ เทคโนโลยี การสื่อสาร เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลเพื่อวางแผนแก้ไขปัญหา และระยะยาว โดยจัดการการเผาอย่างเป็นระบบ มีแผนการจัดการขยะ ติดตั้งเครื่องตรวจวัดฝุ่นในระดับชุมชน ตั้งเป้าให้คนเชียงใหม่มีสุขภาพที่ดีขึ้น และมีดัชนีชี้วัดที่ชัดเจน

ส่วนระยะยาว 3 ปี ผลักดันให้เรื่องหมอกควันเป็นวาระจังหวัด มีการวางแผน 10 ปี บูรณาการหน่วยงานสถาบันการศึกษา หน่วยงานรัฐ และองค์กรเอกชน รวมถึงใช้ข้อมูลจากการศึกษาแหล่งกำเนิดควันในการวางแผนปฏิบัติงาน ตั้งเป้าลดมลพิษลง ย้ายสนามบินออกไปตั้งนอกตัวเมือง ส่งเสริมให้เกิดระบบขนส่งมวลชน ปรับปรุงเส้นทางจักรยานและทางเดิน ปลูกต้นไม้ริมทาง ส่งเสริมการทำเกษตรทางเลือก เกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ กำหนดมาตรการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เป็นต้นเหตุของการเผา โดยผู้รับซื้อต้องรับผิดชอบจัดการตอซัง ซากพืชที่เหลือจากการเก็บเกี่ยว รวมถึงประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ให้เล็งเห็นความสำคัญของการร่วมกันแก้ไขปัญหา


รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับนานาชาติ ศึกษาโมเดลต่างประเทศ เช่น เมือง Stuttgart เยอรมนี ด้านการศึกษา airflow และวางแผนการใช้ที่ดิน รวมถึงนำยุทธศาสตร์การท้าให้ท้องฟ้าเป็นสีฟ้าทุกวันที่เมืองปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน และส่งเสริมการปลูกต้นไม้ในป่าให้เป็นไม้เศรษฐกิจแทนพืชเชิงเดี่ยว เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง รณรงค์ให้มีการปลูกต้นไม้ในพื้นที่บ้าน ตามพื้นที่สาธารณะ นำนโยบาย green city ของสิงคโปร์มาปรับใช้ ส่งเสริม green building ให้มีการปลูกต้นไม้คลุมอาคารมากที่สุด เพื่อช่วยดูดซับมลพิษ มีแรงจูงใจด้านภาษีโรงเรือน เป็นต้น