เอกชนเชียงใหม่ดันศูนย์แก้หมอกควัน 9 จว. เร่งเดินหน้า 8 เดือน ลดวิกฤตการเผาปี’63

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดเชียงใหม่ว่า วันนี้ (4 เมษายน 2562) จังหวัดเชียงใหม่ได้จัดเวทีเสวนาการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าอย่างยั่งยืน 9 จังหวัดภาคเหนือ โดยมีภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษาจาก 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จ.เชียงใหม่

นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า เวทีในครั้งนี้จะเน้นแลกเปลี่ยนในเชิงวิชาการ โดยให้ทั้ง 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้เสนอแนวทางสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาหมอกควันอย่างยั่งยืน ซึ่งจะกำหนดแผนการแก้ปัญหาระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อนำมาสู่การจัดทำแผนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าอย่างเป็นระบบ สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่จะนำไปสู่การหารือในระดับภูมิภาคในประเด็นความร่วมมือร่วมกัน

นายวิทยา ครองทรัพย์ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหมอกควันจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้ภาคเอกชนจังหวัดเชียงใหม่ได้นำเสนอและผลักดันให้มีการจัดตั้งศูนย์บริหารการแก้ไขปัญหาหมอกควัน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้เห็นชอบกับข้อเสนอดังกล่าว และได้จัดตั้งคณะกรรมการเข้ามาขับเคลื่อนแล้ว และในขั้นตอนต่อไปจะนำเสนอให้อีก 8 จังหวัด เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการขับเคลื่อนด้วย ซึ่งศูนย์นี้จะดูแลทั้ง 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน เนื่องจากหมอกควันไม่มีพรมแดน ที่สำคัญคือ เพื่อให้การทำงานเป็นเอกภาพและต่อเนื่อง โดยจะมีบอร์ดระดับภาคและระดับจังหวัด ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ มีกำลังเจ้าหน้าที่ มีงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ เพราะวิกฤตนี้ได้ยกระดับเป็นวาระแห่งชาติแล้ว จึงควรมีคณะทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายโดยเร็ว

สำหรับศูนย์บริหารการแก้ไขปัญหาหมอกควัน 9 จังหวัดภาคเหนือ จะแก้ไขปัญหาหมอกควันในห้วง 8 เดือน (พฤษภาคม-ธันวาคม 2562) เพื่อไม่ให้มีวิกฤตหนักในปีหน้า (2563) ซึ่งภารกิจสำคัญของศูนย์ คือ การลดปัจจัยทุกด้านที่ก่อให้เกิดการเผา อาทิ การดึงสาเหตุการเกิดการเผา แบ่งกลุ่มให้ชัดเจน เพื่อให้มีการแก้ไขที่ถูกต้องได้ผล โดยเฉพาะการให้บทบาทผู้ใหญ่บ้าน-ชุมชนแต่ละพื้นที่เข้ามาร่วมขับเคลื่อนในการแก้ปัญหาการเผา โดยภาครัฐในพื้นที่เป็นฝ่ายสนับสนุน จัดให้มีการเยียวยา สร้างรายได้ทดแทน การพักหนี้ การให้บริษัทเอกชนที่เข้าไปส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และผู้รับซื้อผลผลิตเข้ามาร่วมหาทางออกต่อปัญหานี้ร่วมกัน และใช้มาตรการควบคุมกันเอง เช่น ปัจจุบันมีร้านค้าและซุปเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่ง จ.เชียงใหม่ ประกาศไม่ขายเห็ดถอบกระป๋อง เพื่อสร้างกระแสสังคมงดการบริโภค เป็นต้น

ด้านนางสาวชนเขต บุญญขันธ์ ประธานหอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า สถานการณ์หมอกควันในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนล่าสุดในระยะเผชิญเหตุ ยังคงอยู่ในช่วงวิกฤต โดยเฉพาะ อ.ปางมะผ้า เมือง และแม่สะเรียง ซึ่งแผนระยะสั้นของจังหวัดได้แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ให้ได้รับรู้ถึงผลกระทบและวิธีป้องกันดูแลสุขภาพ โดยพบว่าการเผาในพื้นที่แม่ฮ่องสอนเป็นการเผาตามวิถีชาวบ้าน อาทิ การเผาข้าวไร่ที่ปลูกเพื่อการบริโภคภายในครัวเรือนเป็นหลัก ส่วนการเผาแบบเกษตรอุตสาหกรรมถือว่ามีค่อนข้างน้อย

สำหรับข้อเสนอของภาคเอกชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน อยากให้ภาครัฐส่งเสริมให้ชาวบ้าน-เกษตรกรในพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยมีตลาดรองรับ เพื่อลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยวในเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งจะลดปริมาณการเผาลงได้มาก นอกจากนี้อยากผลักดันให้มีศูนย์สั่งการ (Single Command) ในพื้นที่ ให้เป็นระบบสั่งการที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ขณะเดียวกันภาครัฐต้องเข้มงวดกับบริษัทเอกชนที่เข้ามาส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งขณะนี้ต้องยอมรับว่าในพื้นที่แม่ฮ่องสอนเริ่มมีเกษตรในเชิงอุตสาหกรรมเกิดขึ้นแล้ว

นายปัญญารัตน์ รังศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตาก กล่าวว่า การแก้ปัญหาหมอกควันและไฟป่าของจังหวัดตากขณะนี้ ในระยะสั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดตากได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 50,000 บาท เพื่อสร้างเครือข่ายประชาชนในพื้นที่ในการเฝ้าระวัง

ส่วนแผนระยะกลาง ทางจังหวัดได้เร่งส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อทดแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) โดยพืชเศรษฐกิจที่ส่งเสริมมาเป็นเวลาราว 3 ปีแล้ว คือ หัวบุก ซึ่งเป็นพืชที่ไม่มีการเผาพื้นที่ภายหลังการเก็บเกี่ยว มีพื้นที่ปลูกอยู่ใน อ.ท่าสองยาง แม่ระมาด อุ้มผาง และพบพระ มากกว่า 10,000 ไร่ โดยมีบริษัททุนไทยและจีนเข้ามารับซื้อโดยตรงเพื่อส่งออกไปยังญี่ปุ่น เฉลี่ยกิโลกรัมละ 25 บาท โดยมีผลผลิตต่อปีราว 5 พันตัน คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่กระจายรายได้ให้กับเกษตรกรราว 125 ล้านบาท

ขณะที่ในระยะยาวจะเร่งส่งเสริมการปลูกไม้ยืนต้นคลุมพื้นที่การปลูกหัวบุก อาทิ อโวคาโด แมคคาดีเมีย เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว