เศรษฐกิจ “อุดรธานี” ปี62 ทะยาน 3% เลือกตั้งดัน “อุตสาหกรรม-เกษตร-ท่องเที่ยว” โต

เพิ่งจบไตรมาส 1 ของปี 2562 ไปหมาด ๆ “ลวรณ แสงสนิท” ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ได้รายงานดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนมีนาคม 2562 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ หรือคาดการณ์ 6 เดือนข้างหน้านั้น อยู่ในเกณฑ์ที่ดีทุกภูมิภาค ซึ่งนำโดยภาคกลาง 73.1 ตามด้วยภาคเหนือ 72 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 69.7 ภาคตะวันออก 69.4 ภาคใต้ 67.4 ภาคตะวันตก 64.7 และกรุงเทพฯ-ปริมณฑล 61.5 โดยได้รับปัจจัยหนุนหลักจากภาคอุตสาหกรรมและการเกษตร 

เมื่อเจาะลึกลงไปที่จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นอีก 1 จังหวัดเศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศจำนวนมาก พบว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลังจังหวัดอุดรธานี มีการคาดการณ์เศรษฐกิจในจังหวัดปี 2562 จะขยายตัว 3% ปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ นโยบายและยุทธศาสตร์ ทั้งของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ที่ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรอย่างต่อเนื่อง มาตรการส่งเสริมผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ คาดว่าอยู่ที่ 0.6% ต่อปี ลดลงจากปี 2561 ปัจจัยหลักมาจากแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลง ด้านการจ้างงานคาดอยู่ที่ 638,988 คน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 16,000 คน หรือ 2.6% ประกอบกับมาตรการขยายระยะเวลายกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการขอวีซ่า (visa on arrival) อีกทั้งอุดรธานีมีสนามบินที่สามารถรองรับผู้โดยสาร และมีเที่ยวบินมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และการเตรียมตัวสู่ฮับการบินของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนเชื่อมกับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยมากขึ้น และหลังจากมีการเลือกตั้งและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีการปรับขึ้นเช่นกัน และอีกหนึ่งปัจจัยที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือ การใช้จ่ายของภาครัฐที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ในด้านอุปทานมีแนวโน้มขยายตัว 2.9% เป็นผลจากการคาดการณ์ด้านเกษตร ขยายตัว 3.8 ด้วยปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น เช่น ข้าวเจ้านาปี 5.6% มันสำปะหลัง 6.8% ยางพารา 4.5% โคเนื้อ 4.3% และสุกร 2.8% เป็นต้น ภาคอุตสาหกรรมคาดว่ามีการขยายตัว 2.5% เนื่องจากภาวะการผลิตยังขยายตัวได้ดี คาดการณ์ภายในสิ้นปี 2562 จะมีโรงแรมทั้งสิ้น 1,400 แห่ง และเงินลงทุนจดทะเบียนโรงงานอุตสาหกรรม 30,185.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 27 แห่ง เงินลงทุน 700.3 ล้านบาท ตามลำดับ สะท้อนถึงการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมขยายตัวขึ้น 3% ขณะที่ปริมาณนักท่องเที่ยวคาดขยายตัว 4.5% และจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนธุรกิจโรงแรมคาดการณ์ขยายตัว 3.3%

นอกจากนี้ ด้านอุปสงค์คาดว่ามีการขยายตัว 2.8% เป็นผลจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 2.6% และ 2.4% ตามลำดับ และจากภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะขยายตัวดีต่อเนื่อง รวมถึงหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บได้คาดว่าจะขยายตัว 2.5% มีจำนวนการจดทะเบียนรถยนต์นั่งไม่เกิน 7 คน เพิ่มขึ้น 3% รถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้น 3.8% พื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างรวมขยายตัว 2.5% ต่อปี และการใช้จ่ายภาครัฐคาดว่าขยายตัว 5%

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากการที่ผู้บริโภคยังกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพ และราคาสินค้ายังทรงตัวอยู่ในระดับสูง รายได้ของผู้บริโภคเองยังไม่ฟื้นตัวดี และหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง อีกทั้งสถาบันการเงินมีแนวโน้มเพิ่มความเข้มงวดในมาตรการการให้สินเชื่อมากขึ้น ผลจากปัญหาหนี้เสียเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งยังมีปัจจัยอื่น ๆ อาจส่งผลกระทบต่อภาคเกษตร เช่น ปริมาณน้ำฝน อุทกภัย ภาวะโลกร้อน ภาวะฝนทิ้งช่วง การแปรปรวนและความผันผวนของสภาพภูมิอากาศ โรคระบาด ฯลฯ