ระยองเล็งผุดโรงไฟฟ้าขยะเฟส 2 รับ EEC ตั้งแท่นศึกษาเป็นศูนย์รวมใหญ่ขยะชุมชน 3 จังหวัด

โรงไฟฟ้าขยะเ
โรงไฟฟ้าขยะเพื่อการจัดการขยะในจังหวัดระยอง
อบจ.ระยองเร่งสปีดโรงไฟฟ้าขยะ RDF หลังได้ใบอนุญาตรับซื้อไฟฟ้า เริ่มสร้างกลางปีนี้ คาดเสร็จปลายปี 2563 รองรับขยะ 500-700 ตัน/วัน ผลิตไฟฟ้า 9.8 เมกะวัตต์ ตั้งเป้าดึงขยะ 1,000 ตัน/วันทั่วระยองแปรรูป ประสานงาน อปท.จัดเก็บรวบรวม พร้อมศึกษาต่อเนื่องเตรียมแนวทางโรงไฟฟ้าแห่งที่ 2 วอนครัวเรือนจัดการขยะก่อนทิ้ง หนุนจัดการง่าย เพิ่มประสิทธิภาพผลิตไฟฟ้า

นายสุริยะ ศิริวัฒน์ รักษาการผู้อำนวยการกองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง (อบจ.ระยอง) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง (Refuse Derived Fuel : RDF) จังหวัดระยองเพิ่งได้รับใบอนุญาตการรับซื้อไฟฟ้าจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นโรงไฟฟ้าขนาด 9.8 เมกะวัตต์ รองรับขยะได้ 500-700 ตัน/วัน เริ่มต้นก่อสร้างในอีก 3 เดือนข้างหน้า หรือช่วงกลางปี 2562 มีระยะเวลาในการก่อสร้างเดิม 2 ปี แต่ได้เร่งรัดให้เสร็จภายใน 1 ปีครึ่ง หรือภายในปลายปี 2563 ตามนโยบายรัฐบาลนั้นได้มอบหมายให้กลุ่ม ปตท.ภายใต้บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือจีพีเอสซี ร่วมมือกับ อบจ.ระยองสร้างโรงไฟฟ้าใน ต.น้ำคอก อ.เมือง จ.ระยอง โดยจีพีเอสซีเป็นผู้ลงทุนทั้งค่าจัดทำและที่ดินเป็นมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท บนพื้นที่ทั้งหมด 429 ไร่ ซึ่งกลุ่ม ปตท.มีองค์ความรู้ด้านการจัดทำพลังงานทำให้สามารถเข้ามาสนับสนุนการจัดการปัญหาขยะระยองได้อย่างสมบูรณ์

โครงการดังกล่าวตั้งเป้าใช้ขยะเป็นวัตถุดิบทั้งจังหวัดระยอง ตามการรวมกลุ่มคลัสเตอร์ของกระทรวงมหาดไทย ซึ่ง อบจ.ระยองจะทำหน้าที่ในการรวบรวมขยะจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทุกแห่งในจังหวัดระยอง ปริมาณขยะประมาณ 1,000 ตัน/วัน เป็นขยะชุมชนทั้งหมด โดยในส่วนที่เกินจากการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าขยะ RDF จะทำการฝังกลบในหลุมขยะบริเวณโครงการ และจะทยอยขุดขึ้นมาใช้ ซึ่งที่ผ่านมาโครงการจัดการขยะ RDF จังหวัดระยอง มีขยะสะสมแล้ว 1,000,000 ตัน

ส่วนการขนย้ายขยะจากต่างอำเภอเข้ามาจะส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ไม่พอใจหรือไม่นั้น ได้มีการสอบถามรับฟังความคิดเห็นประชาชนตลอด เพราะเดิมที่บริเวณนี้เป็นหลุมฝังกลบขยะ ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็น น้ำเสีย และสร้างมลพิษ แต่พอทำเป็นโรงไฟฟ้าขยะจะบรรเทาปัญหาดังกล่าวได้ เพราะทำการเผาเป็นพลังงาน และไม่มีกลิ่น ควัน รวมทั้งมีระบบควบคุมมลพิษที่ได้มาตรฐาน

เตรียมศึกษาเฟสต่อเนื่อง

นายสุริยะกล่าวอีกว่า หากโครงการโรงไฟฟ้าขยะ RDF จังหวัดระยองสามารถดำเนินงานไปได้ด้วยดี อาจมีการเชื่อมโยงรับขยะจากจังหวัดข้างเคียง หรือจังหวัดในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หรือไม่นั้น ต้องดูในรายละเอียดการเพิ่มปริมาณของขยะชุมชน หากขยะชุมชนเพิ่มขึ้นเป็นถึง 1,500-2,000 ตัน/วัน ในอนาคตสามารถเพิ่มกำลังการผลิต และติดต่อทางจีพีเอสซีให้เพิ่มการลงทุนโรงไฟฟ้าเฟส 2 ทำให้สามารถรับขยะจากพื้นที่ใกล้เคียง เช่น พัทยา ได้ในอนาคต

ยิ่งไปกว่านั้นปัจจุบันมีตัวแปรสำคัญ คือ นโยบายอีอีซีของรัฐบาลที่ทำให้มีความจำเป็นต้องศึกษาระยะ 2 ต่อเนื่อง เพราะถึงแม้โรงไฟฟ้าแห่งแรกจะมีศักยภาพในการรองรับขยะทั้งจังหวัดระยองได้ แต่ในอนาคตเมื่อขยะเพิ่มขึ้นต้องมีโรงไฟฟ้าขยะแห่งที่ 2 เกิดขึ้นเพื่อรองรับ โดยทางจีพีเอสซีให้ข้อมูลว่า พร้อมจะสร้างโรงไฟฟ้าแห่งที่ 2 กำลังการผลิตไฟฟ้า 9.8 เมกะวัตต์เท่ากับโรงไฟฟ้าแห่งแรกได้

หนุนครัวเรือนแยกขยะ

นายสุริยะกล่าวเพิ่มเติมว่า การแยกขยะในระดับครัวเรือนจะช่วยสนับสนุนการดำเนินการโรงไฟฟ้าขยะได้มาก เนื่องจากหากนำขยะรวมที่มีขยะอินทรีย์ผสมอยู่ด้วย และมีความชื้นสูงเข้าสู่ระบบโรงไฟฟ้าขยะ จะทำให้ไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพราะการนำขยะเปียกเข้าสู่ระบบใช้พลังงาน ต้องมีกรรมวิธีในการแยกขยะอีกหลายขั้นตอน แต่หากแยกขยะอินทรีย์เสร็จสิ้นตั้งแต่ต้นทาง จะทำให้สามารถนำไปทำวัสดุปรับปรุงดินได้ง่ายและมีคุณภาพ เช่น การล้างถุงพลาสติก หรือบรรจุภัณฑ์ จากนั้นแยกออกจากขยะอินทรีย์ หรือจัดให้มีที่เก็บขยะอินทรีย์ในร้านค้าและตลาดสด เพื่อส่งตรงเข้าระบบหมักก๊าซชีวภาพ ซึ่งจะทำให้ได้พลังงานทดแทน รวมถึงสามารถนำกากตะกอนจากการหมักไปใช้เป็นวัสดุปรับปรุงดินได้อีกด้วย

“ทุกวันนี้ที่ขยะไม่มีคุณภาพ เพราะมีขยะอินทรีย์ปนอยู่กับทุกอย่าง ปนอยู่กับขวดพลาสติก และพลาสติก RDF ที่จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จะถูกปนเปื้อน ซึ่งถ้าเอาออกตั้งแต่ต้นทางขยะจะมีคุณภาพสูง รวมถึงปลายทางจะไม่มีกลิ่นเหม็น เพราะขยะอินทรีย์เป็นต้นเหตุของความเหม็น ทั้งในบ้าน ในถังขยะต้นทาง รถขนส่ง ไปจนถึงปลายทาง ซึ่งถ้าเอาออกตั้งแต่ต้นทางจะแห้งหมด เหมือนการคัดแยกในต่างประเทศ เช่น เรามีกล่องข้าวพลาสติกที่ทานไม่หมด ก็เทเศษอาหารรวมในขยะอินทรีย์ ล้าง จากนั้นทิ้งกล่องในขยะทั่วไป ซึ่งขยะอินทรีย์เองสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในระดับครัวเรือนได้ เช่น ปุ๋ยหมักชีวภาพ ถังหมัก EM เป็นต้น กล่าวคือ ถ้าต้นทางแยกมาดี ปลายทางจะทำงานได้ง่าย มีประสิทธิภาพสูง” นายสุริยะกล่าว

นอกจากนี้ อปท.ควรกำหนดวันเก็บตามประเภทเพื่อสนับสนุนการแยกขยะ โดยแยกวันเก็บขยะอินทรีย์ ขยะทั่วไป และขยะพลาสติก เป็นคนละวันกัน เป็นต้น ซึ่งการกำหนดวันนี้ก็ต้องคุยกันเพื่อดำเนินการเป็นนโยบายรวมในอนาคต เนื่องจากในปัจจุบันต้องเก็บเกือบทุกวัน เพราะมีปริมาณขยะที่มาก รวมไปถึงอาจต้องมีการวางมาตรการระดับท้องถิ่นเพิ่มเติม เช่น การเก็บค่าจัดการ เพิ่มกรณีไม่แยกขยะอีกด้วยจึงจะสามารถลดขยะได้ตั้งแต่ต้นทาง โดยปัจจุบันแม้ทางจังหวัดมีการรณรงค์ผ่านโครงการ 3R ประชารัฐในการรณรงค์การคัดแยกขยะ แต่ในเชิงความเข้มข้นและมาตรการเอาผิดนั้นยังไม่มีชัดเจน