2 ด่านเชียงรายส่งออกยางพุ่ง 5 พันล้าน

บรรทุกยางล่องน้ำโขง - ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งนิยมส่งออกยางพาราไทยไปประเทศจีน โดยการขนส่งลงเรือที่ท่าเรือ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ผ่านทางแม่น้ำโขง เฉพาะปี 2561 มีการส่งออกไปถึง 92,010 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2,957,822,418.67 บาท

หอการค้าเชียงรายเผยบริษัทเอกชนรายใหญ่จีนบุกเปิดกิจการรับซื้อยางพาราจากชนกลุ่มน้อย หลังความต้องการพุ่งปีละกว่า 150,000 ตัน แต่คุณภาพสู้ยางพาราไทยไม่ได้ ส่งผลยอดส่งออกยางไทยด่านเชียงแสน-เชียงของพุ่งเฉียด 5 พันล้านบาท

น.ส.ผกายมาศ เวียร์ร่า รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย ฝ่ายกิจการค้าชายแดน เปิดเผยว่า สถานการณ์ตลาดยางพาราลุ่มแม่น้ำโขงมีความคึกคักต่อเนื่องมาตลอดช่วง 10 ปีถึงปัจจุบัน เนื่องจากประเทศจีนเป็นตลาดใหญ่ มีความต้องการยางพาราจำนวนมาก และมีนโยบายในการส่งเสริมให้เอกชนรายใหญ่ ๆ ติดอันดับต้น ๆ ของประเทศจีนเข้าไปตั้งกิจการเปิดรับซื้อยางพาราจากชนกลุ่มน้อยตามตะเข็บชายแดนจีน-เมียนมา และจีน-สปป.ลาว ด้านที่ติดกับมณฑลทางตอนใต้ของจีน เพื่อให้หันมาปลูกพืชเศรษฐกิจทดแทนและนำส่งไปจำหน่ายให้กับประเทศจีน จึงส่งผลทำให้มีการปลูกยางพารากันเป็นจำนวนมากในเขตรัฐฉานของเมียนมาและแขวงหลวงน้ำทา แขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว แล้วส่งเข้าไปจำหน่ายที่โรงงานรับซื้อของเอกชนจีนกันอย่างต่อเนื่อง

น.ส.ผกายมาศกล่าวว่า ที่ผ่านมามียางพาราจากหลายแหล่งปลูกส่งไปขายให้เอกชนจีนจำนวนมาก แต่ด้วยความต้องการยางพาราปริมาณมาก ทำให้บริษัทเอกชนรายใหญ่ของจีนบางราย เช่น บริษัทระดับติด 1 ใน 5 รายใหญ่ที่สุดในประเทศจีนมีศูนย์กลางการซื้อขายที่มหานครฉงชิ่ง มณฑลเสฉวน ห่างจากชายแดนไทยไปทางทิศเหนือประมาณไม่เกิน 1,000 กิโลเมตร มีความต้องการผลผลิตยางพาราปีละกว่า 150,000 ตัน ทำให้ผลผลิตที่ชนกลุ่มน้อยปลูกมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการ และติดปัญหาเรื่องคุณภาพ ดังนั้น ที่ผ่านมาจึงรับซื้อยางพาราจากประเทศไทยผ่านทางท่าเรือแม่น้ำโขง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย และด่านพรมแดนด้าน อ.เชียงของ จ.เชียงราย อย่างต่อเนื่อง แต่กำไรจากการรับซื้ออยู่ที่กิโลกรัมละเพียง 1 บาท ขณะที่ยางพาราเป็นสินค้าที่มีน้ำหนักมาก ส่งผลให้นักธุรกิจจีนประสบปัญหาในการรับซื้อผลผลิตจากไทยพอสมควร

น.ส.ผกายมาศกล่าวต่อไปว่า จากการสอบถามไปยังผู้ประกอบการจีนทราบว่า ราคารับซื้อจากไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านกิโลกรัมละ 2 บาทขึ้นไป เนื่องจากการส่งออกยางพาราของไทยมีการจัดเก็บเงินค่าธรรมเนียมส่งออก (cess) ในอัตรา กก.ละ 2 บาท ดังนั้น เมื่อรับซื้อก็บวกราคาดังกล่าวเพิ่มเข้าไป ไม่ว่าราคารับซื้อจะขึ้นหรือลงมากน้อยอย่างไร ดังนั้น ที่ผ่านมาปริมาณการส่งออกยางพาราจาก จ.เชียงรายไปยังทั้ง 2 ช่องทางดังกล่าวจึงอาจจะชะลอตัวลงในบางช่วง ตนจึงเห็นว่าเรื่องนี้เป็นนโยบายที่รัฐบาลควรให้ความสนใจ โดยอาจจะพิจารณาจัดโปรโมชั่นลดราคาค่าชดเชยดังกล่าวเป็นเวลา 1 เดือน เป็นการนำร่องเพื่อเปิดให้มีการส่งสินค้าจากไทยไปตามเส้นทางดังกล่าว ซึ่งเชื่อว่าจะมีการเข้ามารับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรไทยจำนวนมหาศาล

“เหมือนกรณีที่คณะรัฐมนตรีเคยเห็นชอบยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราของคนต่างด้าว ซึ่งเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวไม่เกิน 15 วัน ในกรณียื่นขอรับการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (visa on arrival) สำหรับนักท่องเที่ยว 21 ประเทศ เป็นเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา เพื่อเป็นโปรโมชั่นให้นักท่องเที่ยวมาเยือนประเทศไทย แต่ครั้งนี้เป็นการดำเนินการกับผลผลิตทางการเกษตรประเภทยางพารา โดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) สามารถนำไปพิจารณาโดยผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จึงขอฝากรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศในเร็ว ๆ นี้ได้นำไปพิจารณาด้วย เพราะตลาดยางพาราบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงถือว่าเป็นตลาดใหญ่ที่มีความต้องการผลผลิตมหาศาล แต่ปัจจุบันติดปัญหาดังกล่าวเท่านั้น” น.ส.ผกายมาศกล่าว

ด้านนายสงวน ซ้อนกลิ่นสกุล รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย และนักธุรกิจ อ.เชียงของ กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์การส่งออกสินค้ายางพาราที่ชายแดนด้านเชียงของตลาดยังมีความต้องการในปริมาณมากเช่นเดิม และพบว่ายางพารายังอยู่ในช่วงผลัดใบและผลิใหม่ ทำให้มีการหยุดการกรีดยางชั่วคราว ส่งผลทำให้สินค้ามีปริมาณน้อยลง ทั้งนี้ ปัจจุบัน กยท.ได้เข้าไปส่งเสริมการปลูกยางพาราและแปรรูปบริเวณพื้นที่ อ.เชียงของ และอยู่ระหว่างจ่ายเงินค่าชดเชยปัญหาราคาตกต่ำที่ผ่านมาไร่ละ 1,000-1,500 บาท ทำให้เกษตรกรยังคงบำรุงดูแลต้นยางพาราเพื่อรอเก็บผลผลิตสำหรับส่งออกไปอย่างต่อเนื่องด้วย

รายงานข่าวจากด่านศุลกากรเชียงแสนแจ้งว่า ในปีงบประมาณ 2561 ที่ผ่านมา ท่าเรือ อ.เชียงแสนมีการส่งออกยางพาราไปยังประเทศจีนน้ำหนักรวม 92,010 ตัน มูลค่าทั้งสิ้น 2,957,822,418.67 บาท โดยเป็นสินค้าส่งออกมากติดอันดับ 1 ใน 10 เป็นประจำทุกปี โดยใช้การขนส่งทางเรือผ่านแม่น้ำโขงเป็นสำคัญ และเรือที่ใช้ขนส่งสินค้าส่วนใหญ่ขนาด 80-250 ตัน ปัจจุบันแม่น้ำโขงมีปริมาณน้ำลึกอยู่ในระดับที่เรือแล่นได้โดยสะดวก ส่วนด่านศุลกากรเชียงของพบว่ามีการส่งออกยางพาราน้ำหนักรวม 26,934.782 ตัน มูลค่าทั้งสิ้น 1,498,845,166 บาท โดยเป็นสินค้าส่งออกอันดับต้น ๆ ของชายแดนด้านไทย-สปป.ลาวเช่นกัน แต่ใช้การขนส่งทางบกโดยรถบรรทุกผ่านทางถนนอาร์สามเอไทย-สปป.ลาว-จีนตอนใต้ ทั้งนี้ สำหรับ จ.เชียงรายมีพื้นที่ปลูกยางพาราประมาณ 300,000 ไร่ เกษตรกรประมาณ 20,000 ราย มีผลผลิตซึ่งส่วนใหญ่เป็นยางก้อนถ้วยและน้ำยางปีละประมาณ 50,000 ตัน