เปิดปริมาณ “น้ำบาดาล” แหล่งเก็บใหญ่อีสาน-ภาคกลางใช้มากสุด

ปัจจุบันความต้องการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงน้ำบาดาลที่อยู่ใต้ดินด้วย ทั้งนี้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลของประเทศ ได้เผยแพร่สถานการณ์น้ำบาดาล ณ เดือนเมษายน 2560 พบว่าไทยมีปริมาณน้ำบาดาลที่กักเก็บรวมทั้งหมด 1,137,713 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มีการกักเก็บมากสุดที่ภาคกลาง 412,856 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 36.3% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 241,312 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 21.2% ภาคใต้ 199,779 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 17.6% ภาคเหนือ 166,860 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 14.7% ภาคตะวันตก 63,710 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น
5.6% และภาคตะวันออก 53,197 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 4.7%

ขณะที่ปริมาณน้ำบาดาลที่นำมาใช้ในประเทศรวม 45,385 ล้าน ลบ.ม./ปี โดยมีมากสุดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงเป็นภาคใต้ ภาคกลาง เหนือ ตะวันออก และตะวันตก ขณะที่ปริมาณการใช้น้ำในแต่ละปี 14,741 ล้าน ลบ.ม./ปี หรือ 32.48% ถูกนำไปใช้ด้านเกษตรกรรม 12,741 ล้าน ลบ.ม./ปี หรือกว่า 86.43% ด้านอุปโภคบริโภค 1,223 ล้าน ลบ.ม./ปี คิดเป็น 8.3% และอุตสาหกรรม 77 ล้าน ลบ.ม./ปี คิดเป็น 5.27% โดยภาคกลางมาอันดับหนึ่ง ขณะเดียวกัน ปริมาณน้ำบาดาลคงเหลือมีอยู่ 30,645 ล้าน ลบ.ม./ปี คิดเป็น 67.62% พบมากสุดภาคอีสาน 11,162 ล้าน ลบ.ม./ปี และน้อยสุดที่ภาคกลาง 935 ล้าน ลบ.ม./ปี

อย่างไรก็ตาม กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ยังคงเดินหน้าบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาล เพื่อเสริมความมั่นคง โดยปี 2562 ทุ่มงบประมาณเกือบ 2.4 พันล้านบาท รวมถึงดำเนินแผนระยะยาวตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี