ถอดบทเรียนหมอกควันพิษ รัฐต้องทบทวนนโยบาย “ข้าวโพดประชารัฐ”

หลังสงกรานต์มวลน้ำที่สาดในพื้นที่ภาคเหนือยังไม่สามารถทำให้หมอกควันพิษลดลงไปได้ตามที่คาดหวัง มอนิเตอร์ hot spot ในเขตภาคเหนือและประเทศเพื่อนบ้านกลับพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ เป็นปรากฏการณ์ที่ยาวนานในปีนี้

ตัวเลขตำแหน่งจุดความร้อนจากดาวเทียมระบบ MODIS ในวันที่ 15 เมษายน 2562 พบว่าในเขต สปป.ลาวตอนเหนือมีถึง 467 จุด ในเมียนมายังกระจุกที่รัฐฉานมีรวมทั้งหมด 912 จุด

สำหรับประเทศไทยมีทั้งหมด 289 จุด เป็นส่วนภาคเหนือถึง 235 จุด แสดงว่าห้วงระยะปัญหาของหมอกควันพิษปกคลุมห่อตัวในพื้นที่ภาคเหนือของไทย เมียนมา และ สปป.ลาว อย่างต่อเนื่องด้วยจุดความร้อนจากการเผาไม่หยุดหย่อนในช่วงต้นฤดูฝน

แนวทางแก้ไขปัญหาแรก หากผ่าลึกลงไปในปัญหาหมอกควันต้องยอมรับว่าในเขตภาคเหนือเองก็มีส่วนไม่น้อย และมีทฤษฎีที่มีการพิสูจน์หลายปีแล้วว่า หากปีไหนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ราคาดี มีกำไร ปีนั้นจะมีภาวะหมอกควันสูงขึ้นอย่างมีนัย ดังนั้น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จึงเป็นอีกหนึ่งมิติที่มิอาจมองข้ามไปได้ เราจึงต้องเร่งดับไฟในบ้านก่อนถึงจะหาความร่วมมือไปดับไฟในเพื่อนบ้านฤดูกาลปี 2563

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตร ณ วันที่ 17 เมษายน 2562 ได้ระบุว่า การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งประเทศมีพื้นที่ทั้งหมด 1,029,769.75 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 248,374.75 ไร่ และพื้นที่นอกเขตชลประทาน 781,395.00 ไร่ หากย้อนไปเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนิน “โครงการสานพลังประชารัฐ” เพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาผ่านกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งผลการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้งหลังนาปี 2560/61 ใน 31 จังหวัด มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 67,369 ราย คิดเป็นพื้นที่ 452,827.75 ไร่ โดยเป็นเงินสนับสนุนเพื่อการเรียนรู้การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้งหลังนาให้เกษตรกรทั้งสิ้น 905,655,500 บาท (2,000 บาทต่อไร่ คนละไม่เกิน 15 ไร่)

กระทรวงเกษตรฯได้โหมประโคมการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่จะมีมากขึ้น สำหรับพื้นที่เป้าหมาย 2.8 ล้านไร่ ใน 33 จังหวัด โดยใช้หลัก zoning by agri map และลดความเสี่ยงเนื่องจากมีน้ำเพียงพอ โดยประเมินว่าความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศยังมีมาก ไม่เพียงพอต่อความต้องการ และเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 80,000 ล้านบาทต่อปี

โดยประเมินว่าอุตสาหกรรมอาหารสัตว์มีความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ประมาณ 8 ล้านตัน ในขณะที่ปริมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ผลิตได้ในประเทศมีเพียง 5 ล้านตัน ดังนั้น ภาพที่เห็นชัดในฤดูการเพาะปลูกข้าวโพดในปี 2561-2562 จึงขยายตัวทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านอย่างมหาศาล

หากประเมินกระบวนการของโครงการนี้ ถือว่าภาครัฐและเอกชนได้ขานรับและโอบอุ้มอย่างเต็มที่

ประการแรก รัฐบาลได้ใช้กลไกของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อ 3 โครงการ คือ 1.โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา เพื่อให้เกษตรกรใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการผลิตและจัดหาปัจจัยการผลิตผ่านบัตรเกษตรสุขใจ วงเงินกู้รวมไม่เกิน 30,000 บาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 0.01 ต่อปี ระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 6 เดือนนับตั้งแต่วันกู้ วงเงินกู้รวม 4,000 ล้านบาท เริ่มจ่ายเงินกู้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561-31 มกราคม 2562

2.โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนาผ่านสหกรณ์การเกษตร เพื่อให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตร โดยสหกรณ์สามารถกู้ได้สูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่วันกู้

3.โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา โดยสหกรณ์สามารถกู้ได้สูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่วันกู้ วงเงินกู้รวม 7,200 ล้านบาท ระยะเวลาจ่ายเงินกู้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562-30 มิถุนายน 2562

ประการที่สอง คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 ให้กระทรวงเกษตรฯเป็นงบฯดำเนินงาน 461,840,000 บาท รวมวงเงินการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และทบทวนการชดเชยดอกเบี้ยให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2561 โดยอนุมัติการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา อัตราเบี้ยประกันภัยไร่ละ 65 บาท พื้นที่เป้าหมาย 2 ล้านไร่ ใน 33 จังหวัดครอบคลุมเกษตรกรผู้เอาประกันภัยประมาณ 150,000 ราย รวมวงเงินไม่เกิน 130 ล้านบาท

ขณะที่สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ซึ่งสมาชิกเป็นบริษัทเอกชนที่ผลิตอาหารสัตว์ประมาณ 55 แห่ง ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาเช่นกัน โดยได้ระบุว่าปริมาณข้าวโพดในประเทศยังขาดแคลนและต้องการให้เพิ่มผลผลิตอีกปีละ 3 ล้านตัน และประเมินว่าจะต้องขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดเพิ่มอีก 3-4 ล้านไร่ เพื่อโรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์จะมีวัตถุดิบในประเทศที่เพียงพอ

สำหรับการผลิตอาหารสัตว์ และลดการสั่งซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศ หากทฤษฎีราคาข้าวโพดกับหมอกควัน ภายใต้นโยบาย “ตลาดนำการผลิต” ที่ใช้พื้นที่นับล้านไร่ เป็นปัจจัยภายในประเทศที่สร้างรายได้มหาศาล และสร้างเงินหมุนเวียนกับเกษตรกร ซึ่งหากพิสูจน์ได้ว่ามีผลที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้อง “ทบทวน” แนวทางการดำเนินโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนาใหม่ทั้งหมด ทั้งกระบวนการให้สินเชื่อ การให้ความรู้ความเข้าใจในการเพาะปลูกโดยไม่สร้างมลพิษทางอากาศ โดยผ่านกระบวนการตรวจสอบตรวจทานอย่างรอบคอบ

มิเช่นนั้นไฟจากไร่ข้าวโพดประชารัฐในประเทศก็จะยังคุกรุ่นในปีหน้าอย่างมหาศาล และจะรุนแรงขึ้นหากกลไกรัฐมองแต่ด้านการตลาด หากไม่ได้มองตัวเลขผลกระทบทางเศรษฐกิจด้านอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและการท่องเที่ยวของประเทศในอนาคต