ปี’61 ส่งเสริมลงทุนพุ่ง 1.12 แสน ล. “ภาคกลาง-EEC” ขึ้นแท่นโครงการ-มูลค่าสูง

ในช่วงปี 2561 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ได้รวบรวมสถิติภาพรวมการส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม พบการขอรับการส่งเสริมรวม 1,626 โครงการ เงินลงทุน 901,772 ล้านบาท คิดเป็นโครงการใหม่ร้อยละ 53 และโครงการขยายร้อยละ 47 โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ประมาณ 49 โครงการ เงินลงทุน 270,842 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อเจาะลึกในรายละเอียดพบว่าภาคกลางมีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด 828 โครงการ เงินลงทุน 112,885 ล้านบาท รองลงมา ภาคตะวันออก 465 โครงการ เงินลงทุน 694,545 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขอรับการส่งเสริมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 422 โครงการ เงินลงทุน 683,910 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ที่ชลบุรี 193 โครงการ เงินลงทุน 576,910 ล้านบาท ตามด้วยระยอง 156 โครงการ เงินลงทุน 58,700 ล้านบาท และฉะเชิงเทรา 73 โครงการ เงินลงทุน 48,300 ล้านบาท

ตามด้วยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 86 โครงการ เงินลงทุน 8,910 ล้านบาท ภาคเหนือ 85 โครงการ เงินลงทุน 9,928 ล้านบาท ภาคใต้ 79 โครงการ เงินลงทุน 33,971 ล้านบาท ภาคตะวันตก 46 โครงการ เงินลงทุน 12,365 ล้านบาท และอื่น ๆ กิจการที่ไม่สามารถระบุที่ตั้งได้ เช่น กิจการขนส่งทางอากาศ ฯลฯ 37 โครงการ เงินลงทุน 29,168 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน หากพิจารณาลงลึกในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษพบว่ามี 5 โครงการ เงินลงทุน 481 ล้านบาท ด้าน 20 จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ ได้แก่ กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นครพนม บุรีรัมย์ แพร่ มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สกลนคร สระแก้ว สุโขทัย สุรินทร์ หนองบัวลำภู อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ มีการลงทุน 50 โครงการ เงินลงทุน 6,280 ล้านบาท รวมถึงในเขตนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมมี 406 โครงการ เงินลงทุน 139,962 ล้านบาท

ทั้งนี้ เป็นการอนุมัติให้การส่งเสริมในปี 2561 ทั้งหมด 1,469 โครงการ เงินลงทุน 549,481 ล้านบาท โดยเป็นการอนุมัติใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย 695 โครงการ เงินลงทุน 417,132 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกิจการกลุ่มดิจิทัล ขณะที่มูลค่าการลงทุนมากสุดคือ กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งภาคกลางได้รับการอนุมัติโครงการมากที่สุด

ขณะที่พื้นที่ EEC ได้รับอนุมัติ 415 โครงการ 343,392 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในชลบุรี 203 โครงการ 225,498 ล้านบาท รองลงมาเป็นระยอง 148 โครงการ 94,792 ล้านบาท และฉะเชิงเทรา 64 โครงการ 23,102 ล้านบาท สำหรับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 8 โครงการ 646 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าโครงการที่ได้รับอนุมัติทั้งหมด จะทำให้มูลค่าส่งออกของประเทศเพิ่มขึ้นราว 573,527 ล้านบาท/ปี ซึ่งสินค้าที่สำคัญ เช่น ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอาหารแปรรูป อีกทั้งจะเกิดการสร้างงานคนไทย 77,054 ตำแหน่ง