นาเกลือทะเล 8 หมื่นไร่วิกฤตหลายเด้ง พิษ IUU-ถูกเกลืออินเดียถล่มทำยอด2พันล.วูบ

3 จังหวัดสมาพันธ์ชาวนาเกลือทะเลไทย “สมุทรสงคราม-เพชรบุรี-สมุทรสาคร” ชี้นาเกลือทะเลไทย 7.6 หมื่นไร่วิกฤตหนัก เหตุเจอมรสุมกระหน่ำหลายเด้ง ตั้งแต่ผลลูกโซ่จาก IUU ทำพิษ เรือประมงออกทะเลลดจำนวนลง ยอดใช้เกลือจำนวนมหาศาลลดจาก 100% เหลือ 20% แถมเจอพ่อค้าหัวใสนำเข้าเกลืออินเดียมาปั่นราคาตีตลาดหนัก ชี้ชัดรอบ 10 ปี จากเคยนำเข้าแค่ 3 ล้านบาท ล่าสุดพุ่งขึ้นกว่า 300 ล้านบาท แถมปีนี้แล้งจัดทำราคาเกลือดิ่ง คาดแนวโน้มจะร่วงลงต่ำสุดอยู่ที่ 1,000 บาท/เกวียน ส่งผลตลาดเกลือทะเลไทยมูลค่า 2,000 ล้านลดฮวบ

นายเลอพงษ์ จั่นทอง ประธานสหกรณ์กรุงเทพ จำกัด จ.สมุทรสาคร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ชาวนาเกลือทะเลกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปริมาณการใช้เกลือที่ลดลงของภาคการทำประมงจากที่เคยใช้ 100% ปัจจุบันเหลือเพียง 20% เนื่องจากชาวประมงที่เคยใช้เกลือกับน้ำแข็งเพื่อรักษาคุณภาพของปลา ได้รับผลกระทบจากกฎหมายและมาตรการควบคุมการออกเรือของชาวประมงอย่างเคร่งครัด ทำให้ไม่สามารถออกทะเลได้ โดยเฉพาะชาวประมงในจังหวัดสมุทรสาคร ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ และปัจจุบันการใช้เกลือทะเลจำกัดอยู่เพียงอุตสาหกรรมผลิตน้ำปลา การทำกะปิ และการดองผักเพียงไม่กี่แห่ง คาดว่าในอนาคตจะมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวง ทั้งราคา พ่อค้าคนกลาง

นอกจากนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2562 ราคาเกลือทะเลพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 2.5 บาท/กก. หรือประมาณ 4,000 บาท/เกวียน (1,600 กก.) ก่อนจะเริ่มขยับลงมาเหลือประมาณ 3,200 บาท/เกวียน คาดว่าหากปีนี้แล้งมากจะส่งผลให้ราคาเกลือขยับลงมาอีก โดยล่าสุดช่วงเดือนเมษายน ราคาเกลือร่วงลงมาอีกเหลืออยู่ที่ 1,500 บาท/เกวียน และคาดว่าในปี 2562 ราคาของเกลือมีแนวโน้มจะร่วงลงต่ำสุดอยู่ที่ 1,000 บาท/เกวียน เพราะสภาพอากาศที่แล้งจัด ขณะที่จุดคุ้มทุนของชาวนาเกลืออยู่ที่ 1,500-2,000 บาท/เกวียน ซึ่งตลาดเพิ่งเริ่มฟื้นตัวในปี 2560 จากที่ราคาตกต่ำจนวิกฤตสุดในปี 2559 อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาชาวนาเกลือจากทั้ง 3 จังหวัดที่รวมตัวกันจัดตั้งสหกรณ์ยังต้องการเงินเพื่อจะมาประกันราคาเกลือให้อยู่ที่ 2,000 บาท/เกวียน เพื่อไม่ให้พ่อค้าคนกลางเอาเปรียบได้ โดยจะเข้าไปชี้แจงเพื่อขอเงินสนับสนุนจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไป

ด้านนายวิวัฒน์ พิมพามา ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรเกลือทะเลไทยเพชรบุรี จำกัด กล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมามีพ่อค้าคนกลางนำเข้าเกลือจากอินเดีย พยายามไม่ซื้อเกลือจากสมาชิกของสหกรณ์ เพราะสหกรณ์เป็นช่องทางที่คอยช่วยเหลือสมาชิกให้ต่อรองราคาได้ โดยเกลืออินเดียถูกนำเข้ามาผ่านพ่อค้าจีนทางเรือ ราคาประมาณ 1,900 บาท/ตัน คุณภาพดีกว่าเกลือไทย มีลักษณะสีขาว ไม่มีดิน เพราะพื้นที่ทำนาเกลือของอินเดียเป็นดินแข็ง มีความแห้งแล้ง กว่าจะเก็บผลผลิตปล่อยให้เกลือหนามากถึง 10-15 นิ้ว แตกต่างจากนาเกลือในประเทศไทยที่ต้องอัดพื้นดินให้แน่นก่อนจึงจะปล่อยน้ำเค็ม 25 ดีกรีโบเม่ (หน่วยวัดความเค็ม) เข้าไปในนาตกเป็นเม็ดเกลือ และต้องระวังเรื่องฝน ทำให้ผลผลิตไม่สามารถเทียบกับอินเดียได้ แต่รสชาติความเค็มของเกลืออินเดียด้อยกว่าเกลือไทยเช่นเดียวกัน

“ชุมนุมสหกรณ์เกลือประกันราคาเกลือขาวกิโลกรัมละ 1.8 บาท เกลือคุณภาพระดับกลางอยู่ที่กิโลกรัมละ 1.5 บาท เกลือดำปนดินกิโลกรัมละ 1.3 บาท มีการประกันราคาไว้ที่ 2,400 บาท/เกวียน แต่พ่อค้าไม่มาประมูลหรือรับซื้อที่สหกรณ์ ส่วนใหญ่ซื้อเองในราคา 1,700-1,800 บาท/เกวียน การนำเข้าเกลือจากอินเดียจึงถือว่ามีผลกระทบต่อราคาเกลือ ทำให้พ่อค้ากดราคาได้ ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องใส่ใจควบคุมการนำเข้า”

นางสาวเกตุแก้ว สำเภาทอง เลขาสมาพันธ์ชาวนาเกลือทะเลไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมประเทศไทยมี 7 จังหวัดที่ผลิตเกลือทะเล โดย 3 จังหวัดมีการผลิตเกลือมากที่สุด ได้แก่ สมุทรสงคราม มีพื้นที่นาเกลือ 55,000 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นนาเช่า 80% เพชรบุรี มีพื้นที่นาเกลือ 36,000 ไร่ สมุทรสาคร มีพื้นที่นาเกลือ 21,000 ไร่ รวม 3 จังหวัดผลิตเกลือได้ประมาณ 992 ล้านกิโลกรัม และถือเป็นเกลือจากน้ำทะเลก้นอ่าวที่มีความเค็มสูงกว่าเกลือของอีก 4 จังหวัด คือ จันทบุรี ปัตตานี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ผลิตเกลือได้เพียงเล็กน้อย ภาพรวมมูลค่าตลาดเกลือทะเลไทย ประมาณ 1,800-2,000 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ ชาวนาเกลือเริ่มประสบปัญหาหนักตั้งแต่ปี 2558 เกลือราคาตกเพราะผลผลิตล้นตลาด ประกอบกับภาคประมง IUU มีปัญหาการออกเรือ การแช่ปลาในห้องเย็นที่ต้องใช้เกลือหายไป เมื่อถึงปี 2559 ก็แล้งต่อเนื่อง ผลผลิตเกลือออกมาก ชาวนาเกลือต้องขายต่ำกว่าทุนมากกว่า 50% ในปี 2560-2561 ก็ได้ผลผลิตน้อยเพราะฝนหลงฤดูทำให้เกลือราคาสูงมาก จนมีปัญหาเรื่องเกลือนำเข้าจากอินเดีย พ่อค้าคนกลางสามารถนำเข้ามาขายได้อย่างเสรีจนกระทบตลาดเกลือไทย ทำให้ราคาผันผวนไม่มีเสถียรภาพ ล่าสุดมีตัวเลขการนำเข้ามากถึง 2 หมื่นตัน

แหล่งข่าวจากวงการเกลือทะเลเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาราคาขึ้น-ลงของเกลือ เกษตรกรจะไม่สามารถกำหนดราคาได้ แต่จะถูกพ่อค้าคนกลางเป็นผู้กำหนดราคาขาย ปัจจุบันเกลือทะเลไทยได้รับผลกระทบอย่างหนัก ยอดขายลดลงจากการที่มีพ่อค้ากลุ่มหนึ่งมีการนำเข้าเกลือจากประเทศอินเดียมาปั่นราคา ให้เกลือไทยราคาเท่ากับเกลือนอก โดยไม่มีใครมาควบคุมดูแล และจะนำราคาเกลือนำเข้าจากอินเดียมาใช้เป็นฐานในการคำนวณกำหนดราคาเกลือไทยให้สูงกว่า เพื่อดึงให้ลูกค้าหันไปซื้อเกลืออินเดีย

“ปกติเกลือนำเข้าจากอินเดีย บวกค่าขนส่งน่าจะขายสูงกว่าเกลือไทย แต่เกลืออินเดียสามารถขายได้ราคาเท่ากับเกลือไทย เพราะพ่อค้าคนกลางจะใช้วิธีการปั่นราคา เนื่องจากรู้ว่าชาวบ้านไม่มีเงินทุน พอหน้าแล้งจะกดราคาเกลือให้ถูกลง หน้าฝนจะปั่นราคาเกลือให้แพงขึ้น โดยฝีมือของพ่อค้ากลุ่มหนึ่ง”

ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจรายงานจากการรวบรวมข้อมูลสถิติการนำเข้าเกลือจากประเทศอินเดียของกรมศุลกากรในรอบ 10 ปี (2551-2561) พบว่า ประเทศไทยมีการนำเข้าเกลือจากอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2551 มียอดการนำเข้า 3,174,558 บาท มาถึงปี 2561 นำเข้าเพิ่มขึ้นถึง 332,389,589 บาท