แก้หมอกควันเชียงใหม่ “บ้านสองธาร” นำร่อง200ไร่ เลิกปลูกข้าวโพด

กลุ่มบริษัทเชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม เร่งเดินหน้าแก้ปัญหาหมอกควันเชียงใหม่ เปิดพื้นที่ “บ้านสองธาร” อำเภอแม่แจ่ม เป็นต้นแบบเลิกปลูกข้าวโพด จับมือกรมป่าไม้หนุนเกษตรกรพลิก 200 ไร่เป็นผืนป่า จัดโซนนิ่งพื้นที่เกษตรปั้นเศรษฐกิจชุมชนยั่งยืน เผยหมอกควันส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสุขภาพประชาชนกว่า 9.8 พันล้านบาท

นายไพรัช โตวิวัฒน์ กรรมการอำนวยการ บริษัท เชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เปิดเผยว่า ภารกิจหลักของบริษัท เชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด (Chiang Mai Social Enterprise : CSE) ซึ่งเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของนักธุรกิจในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อพัฒนาสังคมเมืองเชียงใหม่ให้ดีขึ้น ทั้งนี้ ปัญหาหมอกควันเป็นภารกิจสำคัญที่กำลังเร่งขับเคลื่อน และรณรงค์ให้เกิดผลทางด้านการปฏิบัติ ซึ่งได้เดินหน้านำร่องโครงการฟื้นฟูพื้นที่การเกษตรบ้านสองธาร ตำบลบ้านทับ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ จำนวนราว 200 ไร่ จากเดิมที่ปลูกไร่ข้าวโพดให้กลายเป็นพื้นที่ป่า โดยได้จัดระบบพื้นที่เน้นสร้างเศรษฐกิจชุมชนแบบยั่งยืน

โดยกลุ่ม CSE ได้เริ่มดำเนินงานในพื้นที่ อบต.บ้านทับ อำเภอแม่แจ่ม ร่วมกับกรมป่าไม้และอำเภอแม่แจ่ม ซึ่งเกษตรกรจำนวนราว 35 ครัวเรือนในพื้นที่บ้านสองธารได้เข้าร่วมโครงการปลูกป่าและทำพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่แทนการปลูกข้าวโพด

สำหรับพื้นที่ 200 ไร่ ได้เริ่มทยอยทำการปลูกป่ารวมแล้ว 4 ครั้ง ซึ่งได้จัดโซนนิ่งปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง คือ ไม้ใช้สอย ไม้ก่อสร้าง ไม้กินได้ เพื่อประโยชน์ 4 อย่างคือ ใช้เป็นฟืนสำหรับหุงต้มและใช้สอยเบ็ดเตล็ด ใช้สร้างและซ่อมแซมที่พักอาศัย ใช้เป็นอาหาร และอนุรักษ์ต้นน้ำ

แก้หมอกควัน – บริษัท เชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด จับมือกรมป่าไม้ นำร่องโครงการฟื้นฟูพื้นที่การเกษตรบ้านสองธาร ตำบลบ้านทับ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 200 ไร่ เลิกปลูกข้าวโพดพลิกฟื้นเป็นพื้นที่ป่า


นอกจากนี้คือ โซนนิ่งเกษตรอินทรีย์ เช่น ปลูกพืชผักผลไม้ พืชสมุนไพร และปศุสัตว์ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพด้านเกษตรอินทรีย์ของชุมชน การเตรียมพื้นที่และแหล่งน้ำ การจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการปัจจัยการผลิตชุมชน การพัฒนาระบบปศุสัตว์ครบวงจร การส่งเสริมการปลูกและจัดจำหน่ายข้าวไร่ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากเปลือกซังข้าวโพดที่เกษตรกรส่วนใหญ่มักใช้วิธีเผาที่ทำให้เกิดปัญหาหมอกควัน ขณะเดียวกัน ในพื้นที่ป่า 200 ไร่ จะมีการปลูกป่าเศรษฐกิจชุมชน เช่น ไม้ไผ่ ไม้สัก ที่สามารถนำมาแปรรูปในเชิงเศรษฐกิจได้

และการจัดการพลังงานทดแทน ในรูปแบบชุมชนพลังงานสีเขียว เช่น การผลิตเชื้อเพลิงอัดแท่งจากซังและเปลือกข้าวโพด รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

นายไพรัชกล่าวว่า พื้นที่บ้านสองธารจะเป็นโมเดลต้นแบบของการเลิกปลูกข้าวโพด โดย CSE จะเข้าไปส่งเสริมการตลาดและการขายให้แก่เกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรเพื่อความมั่นคงทางอาหารให้กับเกษตรกรผู้ปลูกและสังคมใกล้เคียง ภายใต้แนวคิดการผลิตอาหารเพื่อชุมชน (Local Food)

นายอรรฆพจน์ วงศ์พึ่งไชย อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นหมอกควันก่อให้เกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่มูลค่ามากกว่า 8,000 ล้านบาท และส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชน คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 1,800 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมการทำลายศักยภาพทางธุรกิจด้านอื่น ๆ เช่น ภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงศักยภาพของการเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพ (Medical Hub) และการเป็นศูนย์กลางการประชุม (MICE City) เป็นต้น