“เกรียงไกร” ปธ.สหกรณ์ยางตราด บริหารครบวงจร “ต้นน้ำ-ปลายน้ำ”

สัมภาษณ์

ย่างก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 ที่สหกรณ์ยางพาราเนินดินแดงตราด จำกัด ก่อตั้งขึ้นมา เป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ด้วยการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม เริ่มด้วยการแปรรูปทำยางแผ่นรมควัน จากนั้นลงทุนโรงงานน้ำยางข้น สามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ กลายเป็นสหกรณ์หนึ่งเดียวในประเทศที่ทำครบลูปตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

“เกรียงไกร เทพินทร์อารักษ์” ประธานสหกรณ์ยางพาราเนินดินแดงตราด จำกัด ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เริ่มแรกเป็นการรับน้ำยางจากสมาชิกมาแปรรูปทำยางแผ่นรมควัน ซึ่งเป็นการแปรรูปขั้นกลางเท่านั้น แต่ตอนนี้เรามีโรงงานน้ำยางข้นเป็นของตัวเอง

โดยขอซื้อโรงงานน้ำยางข้นต่อจากประธานสหกรณ์คนเก่าที่เลิกทำมา 10-20 ปีแล้ว เริ่มแรกทดลองใช้ฟรี เวลาผ่านไป 2-3 ปี ธุรกิจเริ่มเดินได้ สามารถสร้างกำไร ให้ประโยชน์เกษตรกร ก็มีการตกลงซื้อขายกันที่ราคา 60 ล้านบาท ขณะนี้สหกรณ์อยู่ระหว่างทำเรื่องกู้เงิน

ทำให้ตอนนี้สหกรณ์ยางพาราเนินดินแดงตราดเป็นสหกรณ์เดียวที่มีโรงงานน้ำยางข้น 60% เป็นของตัวเอง ทำครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ นำมาแปรรูปและทำตลาดเองในหลายช่องทาง เช่น ออกทีวี ไดเร็ค ช่องทางออนไลน์ ออกบูท และตลาดหลัก 70-80% คือ ส่งออก ไม่ใช่แค่จีน มีส่งไปมาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม กัมพูชา แต่ผลตอบรับอาจจะดีสู้จีนไม่ได้ และตลาดใหม่ที่ไปเปิดขณะนี้ คือ ออสเตรเลีย

“ลูกค้าส่วนใหญ่ คือ คนจีน เริ่มแรกทำหมอน ซึ่งทุกคนที่มาซื้อต้องถามคำถามว่ามีที่นอนไหม ทำให้เรามานั่งคิดว่าเริ่มศึกษาตลาด เห็นว่าตลาดที่นอนก็มีความต้องการสูงก็เลยหันมาทำที่นอนด้วย เป็นที่นอนเด็กเล็ก 60 เซนติเมตร คูณ 1 เมตร มีสายรัดหูหิ้ว ผมได้ไอเดียที่นอนเด็กมาจากลูกเราเองที่เวลาไปโรงเรียนอนุบาลจะต้องถือที่นอนไป เราก็คิดทำที่นอนเด็กพับมีสายรัดให้ถือไปเรียน สินค้าตัวนี้ขายดีมากในตลาดออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น ลาซาด้า หรือ ช้อป 24”

ปัจจุบันสหกรณ์มีสมาชิก 50 กว่าคน เป็นเกษตรกรชาวสวนยางในจังหวัดตราด ที่จะนำน้ำยางมาขาย แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกจะรับน้ำยางมาแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควันก่อน ขายตลาดได้เท่าไหร่ก็จ่ายสมาชิกเต็ม หักแค่ค่าการจัดการเท่านั้น อาจจะต่างจากที่อื่นที่ซื้อน้ำยางสดเลย พอแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควันขายได้กำไรก็เข้าสหกรณ์

“พอรับน้ำยางมาก็จะเอาไปแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควัน เวลาขายจะดูที่ราคาเป็นเกณฑ์ สมมุติขายได้ 60 บาท เราหักค่าบริหารจัดการแปรรูป 4 บาทเข้าสหกรณ์ เหลือ 56 บาท สมาชิกจะได้เต็มตรงนี้ เราจะคุยกับสมาชิกตลอดว่าจะขายกันวันไหนดี ช่วงหน้าร้อนเฉลี่ย 10-15 วันขาย 1 ครั้ง แต่หน้าฝนอาจจะยาวนานซักนิด 3 อาทิตย์ขายครั้งหนึ่ง ถามว่าราคายางทุกวันนี้ก็อาจจะอยู่ลำบากหน่อย แต่การทำแบบนี้ผมคิดว่าจะลดความเสี่ยงของสหกรณ์ และเป็นการลดการเอาเปรียบระหว่างสหกรณ์กับสมาชิก ที่อื่นอาจจะซื้อน้ำยางสด เช่น 50 บาท แล้วเอาไปแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควัน 60 บาท กำไรเข้าสหกรณ์ แต่ของเราขายได้เท่าไหร่ หักค่าการจัดการแล้วคืนให้สมาชิกเต็ม สหกรณ์ก็ไม่มีความเสี่ยงเรื่องราคายางจะขึ้นจะลง แต่เกษตรกรได้เต็ม”

ส่วนที่ 2 ส่งเข้าโรงงานน้ำยางข้น 60% โดยสหกรณ์จะนำถัง 200 ลิตรไปลงให้ตามสวนเกษตรกร เกษตรกรก็จะเก็บไว้ดองไว้ ดูราคาอยากขายเมื่อไหร่ก็โทรเรียกสหกรณ์ สหกรณ์ก็จะมีรถไปรับมา พอรับเสร็จก็ทำดีอาร์ซี (Dry Rubber Contest) ทันที เนื้อยางมีเท่าไหร่ก็จ่ายเงินให้สมาชิกเท่านั้น และเนื่องจากเราเป็นสหกรณ์จึงไม่เคยซื้อตามราคาตลาด เราซื้อนำตลาดทุกครั้ง 1-3 บาท เพราะการแปรรูปมันเกิดผลกำไรอยู่แล้ว และเมื่อแปรรูปขายได้เท่าไหร่ เกษตรกรจะได้ปันผลคืนเช่นกัน

“กำไรเท่าไหร่เราปันคืนไป เราจะใช้คำว่าให้เป็นเงินสวัสดิการสมาชิก แนวคิดของผมสหกรณ์ไม่ต้องมีกำไร ไม่รู้จะมีทำไมให้สมาชิกดีกว่า ไม่จำเป็นต้องมี เพราะสหกรณ์ยิ่งมีกำไรเยอะเท่าไหร่ ยิ่งมีมูลค่ามากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นบ่อเกิดของการทุจริตมากขึ้น ฉะนั้นไม่จำเป็นต้องมีกำไร คืนสมาชิกไป ขอแค่สหกรณ์มีค่าบริหารการจัดการ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าจ้างพนักงานก็พอแล้ว”

ปัจจุบันสหกรณ์ยางพาราเนินดินแดงตราดเป็นที่เดียวที่มีครบ ตั้งแต่ยางแผ่นรมควัน อัดก้อน ยางแท่ง STR 20 มีโรงน้ำยางข้น 60% ปัจจุบันมี 6 หัวปั่น โดย 1 หัวปั่นสามารถผลิตได้ชั่วโมงละ 2.5 ตัน ทำวันละ 8 ชั่วโมง ซึ่งถือว่ากำลังการผลิตยังขนาดเล็กถ้าเทียบกับบริษัทเอกชน และตอนนี้เรามีการวางแผนเพิ่มหัวปั่นจาก 6 หัว เป็น 12 หัว

เกรียงไกรบอกอีกว่า การแข่งขันทุกวันนี้สูงมาก ความเห็นส่วนตัวหลังจากทำมา 2 ปี มองว่าตลาดหมอนและที่นอนไม่น่าจะเกิน 2 ปีจากนี้ก็เต็มที่แล้วเพราะตอนนี้มีโรงงานขึ้นมาเยอะมากในเมืองไทย ตั้งแต่ขนาดเล็กกำลังการผลิตวันละ 100 ใบ ไปจนถึงวันละ 10,000 ใบ ทำให้มองว่าตลาดจะแคบลงเรื่อย ๆ

ที่สำคัญ คือ จีนที่ต้องการสูงเวลานี้มีการก๊อบปี้ทำของปลอมขึ้นมา ทางออกคือ เราต้องมองไปที่การแปรรูปผลิตภัณฑ์อื่น ๆ โดยฉีกแนวไปเลย เช่น รองเท้าแตะ หรือกระเป๋าแฟชั่น หรืออะไรก็ตามที่พยายามนำวัตถุดิบในจังหวัดมาใช้ให้มากที่สุด