พิโกฯร้องคลังแก้ 3 ปมเข้าถึงแหล่งทุน ออก PN สั้น-ปล่อยกู้ 3 ปี-ขยายวงเงินลูกค้า 20 ล.

ร้องปรับแนวทาง - การดำเนินงานของพิโกไฟแนนซ์ในปัจจุบันยังติดปัญหาเรื่องการเข้าถึงเงินทุน เนื่องจากสินเชื่อที่ทางภาครัฐจัดทำขึ้นเพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนมีเงื่อนไขไม่สอดคล้องกับการดำเนินงานในความเป็นจริง ส่งผลให้ที่ผ่านมามีผู้ยื่นขอกู้เพียง 8 ราย

สมาคมพิโกไฟแนนซ์ฯร้องกระทรวงการคลังเร่งแก้ไขหลักเกณฑ์เข้าถึง “แหล่งเงินทุน” จี้ 2 ปรับ 3 เงื่อนไขให้ “ออกตั๋ว PN ระยะสั้น” คู่ขนานการปล่อยแหล่งเงินกู้ระยะยาว 3 ปีให้สอดคล้องสัญญาเงินกู้ระยะยาวของลูกค้า พร้อมขยายวงเงินกู้ให้ลูกค้าจาก 10 ล้านบาท/ราย เป็น 20 ล้านบาท/รายได้กรณีผู้ประกอบการพิโกฯที่เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 10 ล้านบาท เผยเงื่อนไขออมสินไม่เวิร์ก ที่ผ่านมาผู้ประกอบการขอกู้เพียง 8 ราย

นายสมเกียรติ จตุราบัณฑิต นายกสมาคมพิโกไฟแนนซ์ประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ยังติดปัญหาเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เนื่องจากสินเชื่อที่ทางภาครัฐจัดทำขึ้นเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์นั้นไม่ตอบโจทย์ความเป็นจริงของการทำธุรกิจ เพราะเป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน (PN) ที่มีอายุ 180 วัน สามารถต่ออายุ 1 ครั้ง หรือราว 1 ปี ในขณะที่การปล่อยสินเชื่อของผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์ให้แก่ลูกค้านั้น โดยมากมักมีระยะเวลาอยู่ที่ 3 ปี ทำให้มีความลำบากในการดำเนินงานการจัดทำบัญชีเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น ทางสมาคมพิโกไฟแนนซ์ฯจึงมีข้อเสนอว่า หากจะปรับระบบเพื่อป้อนเงินให้เกิดการหมุนเวียนในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบนั้น กระทรวงการคลังอาจปรับใน 2 ประเด็น คือ 1.การปล่อยสินเชื่อด้วยการออกตั๋ว PN ระยะสั้น 2.การปล่อยสินเชื่อในลักษณะเงินกู้ระยะยาว 3 ปี เพื่อให้มีเงินไหลเวียนในระบบ แต่มีการผ่อนทุกเดือน โดยใช้กรณีที่ผู้ประกอบการทำสัญญากู้เงินกับลูกค้าในระยะยาว เพราะหากพิโกไฟแนนซ์เลือกปล่อยสินเชื่อระยะสั้น จะไม่จูงใจแก่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีหนี้นอกระบบ

นอกจากนี้ ในการปรับเปลี่ยนระเบียบให้พิโกไฟแนนซ์สามารถปล่อยสินเชื่อได้สูงสุด 100,000 บาท/ราย จากพิโกไฟแนนซ์ที่จะดำเนินการได้ต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 5 ล้านบาท เป็น 10 ล้านบาทนั้น ทางผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์จึงเสนอว่าหากจะเพิ่มวงเงินจดทะเบียนแล้ว ควรขยายวงเงินให้กู้จาก 10 ล้านบาท/ราย เป็น 20 ล้านบาท/ราย

นายสมเกียรติกล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการสามารถกู้สินเชื่อได้เพียง 50% ของยอดการปล่อยสินเชื่อในระยะเวลา 30 วัน แม้จะมีเพดานการปล่อยกู้สูงถึงรายละไม่เกิน 10 ล้านบาทก็ตาม ทำให้ปัจจุบันหลังจากกระทรวงการคลังกำหนดมาตรการสินเชื่อสำหรับพิโกไฟแนนซ์ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 มีผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์ขอสินเชื่อจากธนาคารออมสินจำนวนเพียง 8 ราย

“ลูกค้าพิโกไฟแนนซ์จำนวนหนึ่งมีหนี้ประมาณ 50,000-100,000 บาท ทำให้การกำหนดวงเงิน 50,000 บาทไม่เพียงพอต่อการหักกลบลบหนี้เพื่อประกอบธุรกิจหรือตั้งตัว แม้ปัจจุบันจะมีการปรับเปลี่ยนระเบียบให้พิโกไฟแนนซ์สามารถปล่อยสินเชื่อได้สูงสุด 100,000 บาท/ราย จากเดิม 50,000 บาท/ราย ควรปรับเงื่อนไขวงเงินปล่อยกู้ให้สอดคล้องกันด้วย” นายสมเกียรติกล่าว

นายสมเกียรติกล่าวต่อไปว่า ทางสมาคมยังได้มีการทำหนังสือร้องขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปลดระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์เข้าถึงแหล่งเงินทุนของระบบธนาคารภาครัฐได้มากขึ้น รวมไปถึงการแก้ไขเรื่องเงื่อนไขในการขอการสนับสนุนสินเชื่อจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์สามารถใช้ค้ำประกันการกู้เงินเพิ่มได้ผ่านค่าธรรมเนียมปีละ 1.75% โดยหากจัดทำได้จะทำให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบผ่านพิโกไฟแนนซ์มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

อนึ่ง รายงานข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยสถิติสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2562 มียอดสินเชื่ออนุมัติสะสมจำนวน 60,273 บัญชี รวมเป็นจำนวนเงิน 1,678.05 ล้านบาท หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่ออนุมัติเฉลี่ยจำนวน 27,840.78 บาทต่อบัญชี ประกอบด้วยสินเชื่อแบบมีหลักประกันจำนวน 32,700 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 1,004.00 ล้านบาท หรือคิดเป็น 59.83% ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม และสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกันจำนวน 27,573 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 674.05 ล้านบาท หรือคิดเป็น 40.17% ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม

ขณะที่ยอดสินเชื่อคงค้างรวมมีจำนวนทั้งสิ้น 16,856 บัญชี คิดเป็นจำนวนเงิน 525.73 ล้านบาท สำหรับสินเชื่อคงค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน มีจำนวน 1,683 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 55.50 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10.56% ของยอดสินเชื่อคงค้างรวม และมีสินเชื่อคงค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือน (NPL) จำนวน 588 บัญชี คิดเป็นจำนวนเงิน 18.54 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.53 ของยอดสินเชื่อคงค้างรวม