เปิดผลวิจัยลึก MBI 8 บ.ยึด “เมียนมา” ฐานส่งออกอาหารสัตว์ บทพิสูจน์มลพิษภาคเหนือ-รัฐฉาน

ตลอดระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา โจทย์ในการแก้ไขปัญหาหมอกควันพิษที่ปกคลุมภาคเหนือในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ประเด็นหนึ่งที่ชัดเจนคือมวลหมอกควันที่ไม่จางหาย ไม่ได้มาจากพื้นที่ภาคเหนือของไทยเพียงฝ่ายเดียว เพราะหลังจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาก็ทำให้จุดความร้อนลดลงโดยการบัญชาการของกองทัพภาคที่ 3

ทว่า หากมอนิเตอร์จุดความร้อนต่อเนื่องแล้ว จะพบว่ายังเกิดจุดไฟไหม้เป็นวงกว้างในพื้นที่รัฐฉานของเมียนมา และลาวตอนเหนือ จึงเกิดคำถามว่าทำไมจึงมีการเผาเป็นฤดูกาลต่อเนื่องในห้วงเวลาเดียวกันก่อนช่วงฤดูฝนทุกปี เป็นหมอกควันพิษข้ามพรมแดนที่มีต้นเหตุมาจากเรื่องใด

ที่ผ่านมามีการเปิดประเด็นจากคนในแวดวงการเกษตรว่า ต้นเหตุมาจากผลพวงจากการทำเกษตรพันธสัญญา (contract farming) ที่ทุนข้ามชาติเข้าไปส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อส่งต่อไปขายยังประเทศจีน โดยระบุว่าการปลูกข้าวโพดในเมียนมา 60-70% ดำเนินการโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านปศุสัตว์ครบวงจรของไทย

ขณะที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมกับกรีนพีซ ได้ออกรายงานการวิเคราะห์เบื้องต้นมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนจากแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน (เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา) ช่วงปี พ.ศ. 2559-2561 บทสรุปตรงประเด็นว่าวิกฤตหมอกควันและฝุ่น PM 2.5 นั้น มีความคาบเกี่ยวกับการขยายตัวของพืชเชิงเดี่ยวทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกอย่างชัดเจน

สอดคล้องกับรายงานการวิจัยของ MEKONG BUSINESS INITIATIVE (MBI) ซึ่งโครงการให้คำปรึกษา เพื่อส่งเสริมการพัฒนาภาคเอกชน ในประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ด้วยการสนับสนุนการช่วยเหลือภาคธุรกิจ แหล่งเงินทุนทางเลือก และนวัตกรรม ทั้งนี้ MBI ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งออสเตรเลีย (Australian Agency for International Development-AusAID) ของรัฐบาลออสเตรเลีย

โดยได้จัดทำงานวิจัยเรื่อง MYANMAR”S CORN VALUE CHAIN หรือห่วงโซ่อุปทานการปลูกข้าวโพดในเมียนมา เมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 ระบุว่าข้าวโพดคือภาคการเกษตรที่ใหญ่มาก ทั้งด้านการส่งออกและการสร้างเศรษฐกิจในประเทศเมียนมา ในรายงานการวิจัยได้เจาะลึกถึงกระบวนการผลิตที่สำคัญตั้งแต่การค้า การตรวจสอบคุณภาพผู้เล่นสำคัญ รวมถึงแนวโน้มด้านเกษตรอุตสาหกรรมในเมียนมาระบุว่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเมียนมาติด 10 อันดับของพืชเกษตร มีมูลค่าการตลาดในปี 2559-2560 ถึง 357 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 530,000 เฮกตาร์ หรือ 3,312,500 ไร่ และมีแนวโน้มพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  โดยเมล็ดพันธุ์จะเป็นแบบไฮบริด และผู้เล่นสำคัญคือ CP Myanmar โดยพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในรัฐฉาน

ผลผลิตประมาณกว่า 50% ส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่ 98% จะส่งออกไปยังจีนผ่านด่านการค้าชายแดนที่ด่านมูเซเป็นหลัก โดยขนส่งถึง 7,000 กระสอบต่อวัน (กระสอบละ 50 กิโลกรัม) ส่วนด่านการค้าชายแดนอื่นผ่านทางด่าน Kunlon, Nanfu, Ho-pang และด่าน Hsenwi ที่เหลือรองลงมาคือ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และปากีสถาน ส่วนข้าวโพดที่เหลือประมาณ 40% จะใช้ภายในประเทศ โดยจะใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ที่ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และในรัฐฉานเอง

ปัจจุบันมี 8 บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่เข้าไปลงทุนด้านอาหารสัตว์ในเมียนมา ประกอบด้วย CP (ประเทศไทย), Japfa (อินโดนีเซีย), Sunjin (เกาหลี), New Hope (จีน), DeHeus (เนเธอร์แลนด์), Green Feed (เวียดนาม), Betagro (ประเทศไทย) และ Cargill (สหรัฐ)

อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่า 2 ใน 8 บริษัทยักษ์ใหญ่ที่เข้าไปปลูกข้าวโพดในเมียนมา ประกอบด้วยบริษัทสัญชาติไทย 2 ราย

สอดคล้องกับข้อมูลของเครือ ซี.พี.ที่ได้เริ่มเข้าไปส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้านตั้งแต่ปี 2550 จำนวน 3.2 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ส่งเสริมในประเทศกัมพูชา 500,000 ไร่ ประเทศลาว 300,000 ไร่ เมียนมา 700,000 ไร่ และเวียดนาม 1,700,000 ไร่ เนื่องจากไม่เสียภาษี เพราะดำเนินการส่งเสริมภายใต้กรอบ ACMECS (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy) หรือโครงการยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ซึ่งถือเป็นโอกาสและช่องทางการค้าปกติที่พ่อค้าทุกคนจะไขว่คว้าไว้

แต่ปัญหามลพิษหมอกควันที่เกิดขึ้นในภาคเหนือ และได้ข้ามพรมแดนมายังประเทศไทยหลายเดือนที่ผ่านมาจนถึงวันนี้กับการเดิมพันปัญหาสุขภาพประชากรในลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนทั้งเมียนมา ลาวตอนเหนือ และภาคเหนือของไทย ที่ได้มีการประเมินว่าจะสูญกว่า 1.6 แสนล้านบาทต่อปี…น่าจะไม่ใช่เรื่อง “ปกติ”

ประเด็นนี้จึงเป็นคำถามที่จะสะท้อนไปยังบริษัทข้ามชาติทั้งหลายว่า ถึงเวลาที่จะ “ทบทวนวิธีการดำเนินธุรกิจใหม่” สำหรับการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเมียนมาและลาวตอนเหนือ เพื่อจะร่วมด้วยช่วยกันในการแก้ไขปัญหากับเกษตรกรอย่างไร “เรียนผูก คงต้องเรียนแก้”…ด้วย หรือจะดีดลูกคิด…แต่ “ผลกำไร” ของบริษัทเพียงอย่างเดียว


ทั้งหมดนี้นับเป็นโจทย์ท้าทายอย่างมากในการแก้ปัญหาหมอกควัน ทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน ควรต้องเร่งแก้ไข ก่อนเริ่มครอปฤดูการเพาะปลูกใหม่ในฤดูฝนที่จะมาถึง !