ชาวสวนปาล์มชุมพรโวยมาตรการรัฐไร้ผลทำราคาดิ่ง

สมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดชุมพรโวยมาตรการรัฐไร้ประสิทธิภาพ ส่งผลราคาดิ่งต่ำกว่าทุน แนะรัฐบาลตั้ง “องค์กรอิสระ” มาบริหารเหมือนมาเลเซีย

นายสัญญา ปานสวี นายกสมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดชุมพร ซึ่งมีสมาชิก 8 อำเภอ ประมาณหมื่นกว่าคน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ราคาปาล์มน้ำมันยังตกลงเรื่อย ๆ แม้ว่ารัฐบาลระบุว่าสต๊อกล้น และมีมาตรการต่าง ๆ ในการนำน้ำมันปาล์มดิบออกไปใช้แล้ว แต่เหตุใดจึงมีสต๊อกเข้ามาใหม่ ส่งผลให้ปัจจุบันราคาหน้าลานปาล์มอยู่ที่ กก.ละ 1.60 บาท ส่วนหน้าโรงงาน กก.ละ 1.80 บาท ในขณะที่ต้นทุนการผลิตของชาวสวนอยู่ที่ กก.ละ 3.38 บาท ดังนั้น ราคาที่ชาวสวนจะอยู่ได้ต้อง กก.ละ 4-5 บาท โดยในปี 2560 ราคา กก.ละ 3 บาท และปี 2561 กก.ละ 2 บาท และลดลงมาจนเหลือเพียง 1.60-1.80 บาท/กก. เทียบกับในอดีตราคาปาล์มเคยขึ้นไปสูงสุด กก.ละ 11 บาท อยู่ 1 เดือน สมัยที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2554 จากนั้นราคาก็ตกต่ำมาโดยตลอด

“ตอนนี้จังหวัดชุมพรมีปั๊มน้ำมัน B 20 จำนวน 6 ปั๊มแล้ว ได้แก่ อ.เมือง อ.ละแม อ.หลังสวน อ.สวี อ.ท่าแซะ และ อ.ปะทิว รวมถึงนโยบายที่ให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เตรียมนำน้ำมันปาล์มดิบ 1.6 แสนตันไปใช้ผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง หลังเดือนเมษายน 2562 คงมีการส่งมอบกันได้ โดยรับซื้อในราคา 3.20 บาท/กก. แต่คงไม่มีผลกับชาวสวน”

นายสัญญากล่าวต่อไปว่า ราคาปาล์มน้ำมันที่ตกลงเรื่อย ๆ ชาวสวนสงสัยว่า สิ่งที่รัฐบาลระบุว่าสต๊อกล้น และมีมาตรการต่าง ๆ นำออกไปแล้ว แต่เหตุใดจึงมีเข้ามาใหม่ การแก้ปัญหาปาล์มน้ำมันทุกกระทรวงต้องทำงานร่วมกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ จนไม่เป็นเอกภาพ ต้องดูสต๊อกของแต่ละโรงงานว่ามีอยู่เท่าไร นำไปใช้อะไรบ้าง เพื่อเปรียบเทียบว่าราคาในตลาดเท่าไร และแจงให้สาธารณชนทราบ ทั้งนี้ รัฐบาลควรตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาบริหารปาล์มน้ำมันเหมือนมาเลเซียที่มีการวิเคราะห์ วิจัย สามารถนำเมล็ดในมาเป็นสินค้าได้ แต่ไทยกลับใช้แค่เปลือกของปาล์ม โดยรัฐบาลไม่สนใจแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติไม่มีการกำหนดสัดส่วนกรรมการฝ่ายเกษตรกร ฝ่ายอุตสาหกรรม ฝ่ายวิชาการที่เหมาะสม ทำให้วงจรน้ำมันปาล์มล้มเหลวทั้งประเทศ

“ขณะนี้มีชาวสวนบางส่วนเริ่มโค่นปาล์มน้ำมันหันไปปลูกทุเรียนที่ราคาดี ต่อไปทุเรียนจะล้นตลาด เหมือนครั้งหนึ่งรัฐบาลเคยบอกให้ชาวสวนโค่นกาแฟทิ้งแล้วปลูกปาล์มและยางพารา ในที่สุดล้นตลาดราคาตก”

นายอุดม ศรีสมทรง พาณิชย์จังหวัดชุมพร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปีนี้จังหวัดชุมพรมีเกษตรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน 44,403 ครัวเรือน มีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน 768,764.75 ไร่ แบ่งเป็นเนื้อที่เก็บเกี่ยวผลผลิต 694,786.75 ไร่ ส่วนผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้จำนวน 1,469,753.49 ตัน คิดเป็นผลผลิตเฉลี่ย 2,115.40 กิโลกรัม ซึ่งการปลูกปาล์มน้ำมันถือเป็นพืชเศรษฐกิจของชุมพรที่มีพื้นที่ปลูกมากที่สุด มีต้นทุนการผลิตต่อไร่อยู่ที่ 8,964.30 บาท หรือ 2.95 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ราคารับซื้อเฉลี่ยอยู่ที่ กก.ละ 2 บาท ซึ่งยังต่ำกว่าต้นทุนการผลิต และเมื่อเร็ว ๆ นี้จังหวัดชุมพรได้มีการประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม

นายอุดมกล่าวว่า จังหวัดชุมพรมีโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มจำนวน 37 แห่ง แบ่งเป็นสกัดน้ำมัน A จำนวน 15 แห่ง หีบน้ำมันรวม B จำนวน 13 แห่ง น้ำมันเมล็ดในจำนวน 7 แห่ง ไบโอดีเซลจำนวน 1 แห่ง และคลังรับฝากน้ำมันปาล์มจำนวน 1 แห่ง สำหรับโครงการจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) ตามมาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มภายในประเทศ (จังหวัดชุมพร) เดิมมี 6 บริษัท แต่ยกเลิกไป 1 บริษัท เหลือ 5 บริษัท คือ บจ.เจริญน้ำมันปาล์ม 15,000 ตัน (รับซื้อในโครงการ กก.ละ 3.24 บาท) บจ.ชุมพร เอสพี ปาล์มออยล์ 2,000 ตัน (รับซื้อในโครงการ กก.ละ 3.00-3.20 บาท) สหกรณ์นิคมท่าแซะ 1,000 ตัน (รับซื้อในโครงการ กก.ละ 2.93 บาท) บจ.กลุ่มปาล์มธรรมชาติ 2,000 ตัน (รับซื้อในโครงการ กก.ละ 3.20 บาท) และ บจ.มิตรเจริญปาล์มออยล์ 2,000 ตัน (รับซื้อในโครงการ กก.ละ 3.00 บาท) (ข้อมูล ณ วันที่ 10 เม.ย. 2562)


“สำหรับปริมาณรับซื้อในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2562 นั้น เริ่มจากเดือนมกราคมแบ่งเป็นปาล์มทะลาย 196,389.790 ตัน ปาล์มร่วง 9,974.960 ตัน รวม 206,364.770 ตัน ใช้ในการผลิต 196,112,598 ตัน ผลิตน้ำมันปาล์มดิบได้ 34,524.916 ตัน สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบคงเหลือ 45,055.575 ตัน ส่วนเดือนกุมภาพันธ์ ปาล์มทะลาย 188,242.560 ตัน ปาล์มร่วง 7,677.115 ตัน รวม 195,919.675 ตัน ผลิตน้ำมันปาล์มดิบได้ 34,156.175 ตัน สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบคงเหลือ 39,939.309 ตัน สำหรับเดือนมีนาคม มีปริมาณรับซื้อผลปาล์ม 215,016.146 ตัน และผลปาล์มที่ใช้ผลิต 209,350.789 ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 ใน จ.ชุมพรว่ามีจำนวน 10 แห่ง ส่วนจุดแบ่งปัน บี 100 ใน จ.ชุมพรมี 9 จุด” นายอุดมกล่าว