แม่ทัพน้อยที่ 3 สรุปไฟป่าภาคเหนือ รุกดึง “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” รับมือปี’63

วิกฤตหมอกควันพิษภาคเหนือในปี 2562 ส่งผลให้จังหวัดเชียงใหม่ติดเมืองที่มีค่าอากาศมลพิษอันดับหนึ่งของโลกมากที่สุดในช่วงเดือนมีนาคม-ต้นเมษายน 2562

เนื่องจากมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดปัญหาการเกิดหมอกควันจากการเผาทำลายเศษวัชพืช หรือวัสดุทางการเกษตรได้ผลน้อยมาก เพราะกระบวนการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ายังไม่ครบทุกมิติ โดยเฉพาะด้าน “อุตสาหกรรมอาหารสัตว์” รวมถึงโครงการส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยวทั้งของภาครัฐและเอกชน รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน ถือเป็นประเด็นหลักที่ต้องเร่งแก้ไขให้ตรงจุด

พล.ท.สุภโชค ธวัชพีระชัย แม่ทัพน้อยที่ 3 ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ระดับภาคส่วนหน้า เปิดเผยว่า สถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ 9 จังหวัดที่ผ่านมาทุกภาคส่วนได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างเต็มรูปแบบ แต่ปีนี้สภาพภูมิอากาศแห้งแล้งมาก ประกอบกับการสะสมของเชื้อเพลิงมีจำนวนมาก ส่งผลให้สถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันปีนี้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการเผาในพื้นที่โล่งแจ้งเพื่อเตรียมพื้นที่เกษตร จำเป็นต้องวางแนวทางแก้ไขอย่างเป็นระบบ เช่น การกำหนดโซนนิ่ง กำหนดเวลาในการเตรียมพื้นที่เกษตรไม่ให้มีการเผาพร้อมกัน ขณะเดียวกันจะมีการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเด็นการวางแนวทาง ส่งเสริมการเตรียมพื้นที่เกษตรแบบไม่ให้มีการเผาภายหลังการเก็บเกี่ยว

นอกจากนี้ประเด็นหมอกควันไฟป่าข้ามพรมแดน ในระดับพื้นที่เขตแนวชายแดนติดต่อประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบันมีกลไกคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น ไทย-เมียนมา (TBC) ที่ให้ความสำคัญต่อปัญหานี้ร่วมกัน รวมถึงกองทัพภาคที่ 3 มีกลไกคณะกรรมการ RBC ที่ร่วมรับรู้-หารือต่อปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้น ขณะที่ระดับรัฐบาลมีการจับคู่หารือร่วมกันในกรอบอาเซียน ประเด็นนี้มีการหารือกำหนดกรอบการแก้ไขปัญหาระยะยาวร่วมกัน

พล.ท.สุภโชคกล่าวต่อว่า สำหรับเกษตรแบบพันธสัญญา (contract farming) ในการทำการเกษตรพืชเชิงเดี่ยวของบริษัทเอกชน เป็นประเด็นที่ต้องนำมาวางแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยเร็ว ๆ นี้ จะเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาหารือในประเด็นนี้ร่วมกัน ทั้งนี้ ในการวางแนวทางแก้ไขปัญหาแต่ละประเด็นจะเป็นการวางแผนแบบยั่งยืน

พล.ท.สุภโชคได้สรุปบทเรียนการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ประจำปี 2562 ว่า เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในช่วงก่อนเข้าสู่ฤดูฝนเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และนำข้อมูลที่ได้ในวันนี้ไปปรับใช้ในการจัดทำแผนรองรับในปีต่อไป ทั้งนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค.-23 เม.ย. 62 พบจุดความร้อนสะสมจำนวน 8,551 จุด มากกว่าปี 2561 จำนวน 4,240 จุด คิดเป็น 98.35% โดยจังหวัดที่มีจุดความร้อนสูงสุด เรียงตามลำดับประกอบด้วยจังหวัดแม่ฮ่องสอน, เชียงใหม่, เชียงราย, น่าน, ลำปาง, ตาก, พะเยา, แพร่ และลำพูน

ในส่วนของมาตรการบังคับใช้กฎหมาย ตามมาตรการประกาศห้ามเผาโดยเด็ดขาดในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ โดยผู้ว่าราชการจังหวัด ในช่วงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน มีผลการจับกุมผู้กระทำความผิดทางกฎหมายรวมทั้งสิ้น 474 ราย ประกอบด้วยการกระทำผิด พ.ร.บ.สาธารณสุข จำนวน 81 ราย, พ.ร.บ.ป่าไม้ จำนวน 37 ราย และ พ.ร.บ.จราจร จำนวน 356 ราย ด้านการเกิดอุบัติเหตุของกำลังพลและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติจากการดับไฟ จำนวน 10 ราย โดยได้รับบาดเจ็บ จำนวน 8 ราย และเสียชีวิต จำนวน 2 ราย

ที่ผ่านมาพบปัญหาข้อขัดข้องในการปฏิบัติงานที่สำคัญคือ การสะสมเชื้อเพลิงในแต่ละปีมีจำนวนมาก ทำให้เกิดความล่อแหลมในการลักลอบเผาป่าในสาเหตุต่าง ๆ และการจัดระเบียบในการควบคุมการเผา นอกจากนี้ยังมีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มที่ไม่เกรงกลัวต่อมาตรการบังคับใช้กฎหมาย จึงมีการลักลอบเผาป่าอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญระบบ single command ในบางพื้นที่ยังใช้ไม่ได้ผล เนื่องจากผู้บริหารยังวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาและระบบการแก้ไขปัญหาไม่ชัดเจน ตลอดจนเทคนิคการสื่อสารในการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ในบางพื้นที่ยังไม่เข้าใจและไม่ถึงประชาชน โดยเฉพาะหมู่บ้านในพื้นท่าสงวนกับป่าอนุรักษ์

ทั้งนี้ ในการดำเนินการปีต่อไป single command ศูนย์ควบคุมไฟป่าและหมอกควันระดับอำเภอจะต้องจัดทำแผนควบคุมไฟป่าและหมอกควันอย่างบูรณาการทุกภาคส่วน สร้างความเข้าใจ ซักซ้อมทุกขั้นตอนอย่างเป็นระบบ และมีการจัดตั้ง war room วางแผน อำนวยการ ควบคุม ประสานงาน ตลอดจนการจัดชุดปฏิบัติการบูรณาการระดับตำบล ระดับหมู่บ้าน เพื่อสร้างการรับรู้ ทำความเข้าใจต่อไป

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมประเด็นสำคัญที่หลายองค์กรเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาหมอกควันในระยะยาว

ประเด็นแรก กำหนด action plan ที่ชัดเจนเร่งด่วน มุ่งปฏิบัติการเชิงรุก โดยสนธิกำลังทุกภาคส่วนเข้าควบคุมสถานการณ์ร่วมกัน

ประเด็นที่สอง เสนอจัดตั้งศูนย์บริหารการแก้ไขปัญหาหมอกควัน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน โดยลดปัจจัยทุกด้านที่ก่อให้เกิดการเผา ให้บริษัทเอกชนที่ส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และผู้รับซื้อผลผลิตเข้ามาหาทางออกร่วมกัน รณรงค์ให้บริษัทข้ามชาติด้านเกษตรเชิงเดี่ยวปรับกระบวนการดำเนินธุรกิจใหม่ ให้เกษตรกรลดปลูกพืชเชิงเดี่ยว

ประเด็นที่สาม ต่อยอดโครงการวิจัยประเทศไทยไร้หมอกควันลงลึกในแต่ละพื้นที่ เน้นสร้างความเข้มแข็งให้เครือข่ายเกษตรกร การศึกษาวิจัยเกษตรปลอดการเผา

ประเด็นที่สี่ ภาครัฐควรวิเคราะห์และจัดทำแผนเชิงยุทธศาสตร์แบบองค์รวม เริ่มปลูกฝังจิตสำนึกให้ประชาชนตระหนักถึงผลเสียต่อสุขภาพ

ประเด็นสำคัญคือการเข้มงวดในการใช้กฎหมายดำเนินการกับผู้กระทำความผิดเพื่อแก้ไขปัญหาในการลักลอบเผาป่า ตลอดจนการประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน และการนำกรณีศึกษาของประเทศสิงคโปร์มาเป็นโมเดล


อย่างไรก็ตาม ปัญหาหมอกควันที่ปกคลุมภาคเหนือในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนเป็นวิกฤตที่รุนแรง จึงหวังว่าทุกฝ่ายจะตื่นตัวขึ้นมาแก้ไข เพื่อไม่ให้ปีต่อ ๆ ไปเป็นวิกฤตซ้ำซาก ส่งผลกระทบต่อทุกมิติ อันไม่อาจเรียกร้องให้ฟื้นคืนได้