ล้งจันท์วิกฤตขาดตู้คอนเทนเนอร์ส่งจีน เร่งระบายทุเรียนขายตลาดในประเทศหวั่นทำราคาดิ่ง

วิกฤตส่งออก - ช่วงฤดูกาลผลไม้ทุกปีผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนในจังหวัดจันทบุรีมักประสบปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อบรรจุทุเรียนส่งออก ปีนี้เช่นเดียวกัน และมีแนวโน้มจะรุนแรงกว่าทุกปี เนื่องจากมีผู้ประกอบการล้งหน้าใหม่รายเล็กเกิดขึ้นจ..านวนมาก ส่งผลให้เกิดความต้องการตู้คอนเทนเนอร์สูงขึ้น ตามการส่งออกที่เพิ่มขึ้น

ล้งทุเรียนภาคตะวันออกรายเล็กระส่ำ วิกฤตขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์หนัก เหตุจีนตรวจเข้ม “สารตกค้าง-ศัตรูพืช” ทำส่งออกสะดุด หวั่นทุเรียนสุกคามือ อาจต้องเทขายตลาดในทำราคาร่วง

แหล่งข่าวจากวงการผู้ส่งออกทุเรียนใน จ.จันทบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ล้งทุเรียนในจังหวัดจันทบุรีกำลังประสบวิกฤตอย่างหนักจากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุทุเรียนส่งออก โดยเฉพาะล้งรายเล็กหน้าใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นจำนวนมากในปีนี้ เนื่องจากทางการจีนได้ตรวจสอบเข้มงวดเรื่องสารตกค้างและศัตรูพืช ทำให้เกิดความล่าช้าโดยรถบรรทุกทุเรียนของไทยจำนวนมากต้องไปจอดรอเขาคิวเป็นคอขวดบริเวณด่านชายแดนเวียดนาม-จีน ส่งผลให้ตู้คอนเทนเนอร์ไม่หมุนเวียนกลับมากว่า 2 สัปดาห์แล้ว และกลายเป็นปัญหาหนักกว่าทุกปี ๆ

ล้งเล็ก ๆ รายใหม่ ๆ ต้องการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ไม่ถึง 10 ตู้ แต่ไม่มีพันธมิตรเครือข่ายที่จะดึงตู้มาใช้ได้ ทำให้ต้องยอมเช่าตู้ในราคาสูง 200,000-300,000 บาทต่อตู้ กลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาก และบางรายหาตู้เช่าไม่ได้เลย หรือบางรายได้ตู้ไม่มีคุณภาพ ทำให้ทุเรียนเสียหาย ล้งบางรายยอมขายทุเรียนทิ้งตลาดในประเทศ ขาดทุนตู้ละ 3-4 ล้านบาท และอาจส่งผลต่อราคาทุเรียนในประเทศไหลลง

ตอนนี้มีล้งรายเล็ก ๆ หลายรายมีปัญหาเก็บทุเรียนไว้แล้วเตรียมบรรจุตู้วันละ 6-7 ตู้ หากภายใน 1-2 วันยังไม่มีตู้กลับมา ตลาดค้าส่งทุเรียนเนินสูงจะวิกฤตมาก เพราะอากาศร้อนมาก บวกกับการป้ายสารเอทีฟอนที่ขั้วทุเรียนทำให้สุกเร็วทั้งลูกพร้อมกัน และเสียหายหากตู้คอนเทนเนอร์กลับมาช้า

“การขนส่งที่ใช้เส้นทางนครพนมไปชายแดนลาวและต่อไปเวียดนามจีนไกลมาก ควรเปิดเส้นทางชายแดนด่านบ้านผักกาดเข้าไปกัมพูชาไปจีน มีถนนที่ก่อสร้างมาจดชายแดนและเชื่อมต่อเวียดนามกับชายแดนจีนไม่ถึง 1,000 กิโลเมตรน่าจะเป็นทางเลือกที่ดี”

นายสุชาติ จันทร์เหลือง หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัญหาเรื่องตู้คอนเทนเนอร์ไม่หมุนเวียน ผู้ส่งออกรายใหญ่มีตู้ 30-70 ตู้ มีการวางแผนการใช้ และมีเครือข่ายที่จะยืมกันได้ เมื่อมีปัญหาส่งได้ตามปกติ ส่วนผู้ส่งออกรายย่อยใหม่ ๆ จะไม่มีการวางแผน เมื่อติดคิวการตรวจที่จีนตู้ไม่หมุนเวียนกลับมา ส่งผลให้ต้องวิ่งหาตู้เช่า หรือไม่ต้องยอมขาดทุนระบายทุเรียนขายตลาดภายในประเทศ

ภาคตะวันออกเลยช่วงเดือนเมษายนที่ทุเรียนออกสู่ตลาดมากจำนวน 224,931 ตัน จากปริมาณ 495,543 ตันหรือ 45% ราคาเฉลี่ย 80-90 บาท/กก. สูงกว่าปี 2561 ราคา 65 บาท เนื่องจากมีล้งรับซื้อเพิ่มขึ้น ช่วงปลายเดือนเมษายนมีส่งออกเพิ่มขึ้น คาดว่าราคายังไปได้ดี เพียงแต่ต้องควบคุมคุณภาพให้ได้มาตรฐาน

นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัญหาความล่าช้าของตู้คอนเทนเนอร์ เนื่องจากความเข้มงวดของการตรวจผลไม้ไทย โดยนาย Li Wei Feng ผู้อำนวยการฝ่ายตรวจสอบกักกันพืชและสัตว์แจ้งว่า การตรวจสอบผลไม้ไทยมีความเข้มงวดขึ้น เพราะปีที่แล้วศุลกากรจีนตรวจพบศัตรูพืชต้องห้ามในผลไม้มากถึง 1,795 ครั้ง ศุลกากรจีนได้เสนอให้ไทยมีกระบวนการควบคุมคุณภาพผลไม้ตั้งแต่ต้นทาง สร้างระบบน่าเชื่อถือของผู้ส่งออก โดยจัดส่งรายชื่อทะเบียนสวนและโรงคัดบรรจุผลไม้รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูล (e-Certification) กับจีนเพื่อใช้เวลาผ่านด่านได้รวดเร็วขึ้น

ส่วนปัญหาผลไม้รอผ่านด่าน ตู้สินค้าไม่เพียงพอ นาย Li Wei Feng ชี้แจงว่า ปีนี้ผลไม้จากไทยและเวียดนามมีมากกว่าปี 2561 ไตรมาสแรก 2562 ไทยส่งผลไม้สู่ด่านผิงเสียง 65,000 ตัน มากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 ในขณะที่กำลังเจ้าหน้าที่ด่านผิงเสียงมีจำกัด แต่ทางศุลกากรได้มีมาตรการอำนวยความสะดวก เช่น ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น จัดแยกช่องทางเดินรถสำหรับสินค้านำเข้าปกติกับสินค้านำเข้าเขตทัณฑ์บน การยื่นใบขนสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ล่วงหน้า รวมทั้งเปิดด่านนำเข้าผลไม้ตามด่านชายแดนเพิ่มขึ้น พร้อมขอให้ไทยใช้ด่านตงชิงเป็นด่านผลไม้เข้าจีน และให้ไทยเร่งกระบวนการคัดกรองผู้ส่งออกที่มีคุณภาพ จากนั้นจีนจะลดการตรวจสอบลง

“ปีนี้ราคาผลไม้ดี จีนเข้ามาทำธุรกิจในจันทบุรีมาก จากการสำรวจมีถึง 605 ล้ง จากที่เคยมีจดทะเบียน 147 ล้ง แต่ขณะนี้มาขึ้นทะเบียน 300 กว่าล้งได้ทยอยตรวจ GMP ไปเกือบหมดแล้ว คาดว่าจะตรวจได้ครบ และขึ้นทะเบียน GMP ได้ทั้งหมดในปีนี้ เพื่อให้นำเข้าจีนเป็นไปอย่างรวดเร็ว”

นายภานุวัฒน์ ไหมแก้ว นายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด กล่าวว่า ตู้คอนเทนเนอร์ไม่เพียงพอเป็นปัญหาทุกปี แต่ปีนี้มีปริมาณส่งออกมากทำให้ขาดแคลนมาก บริษัทใหญ่ มีแผนรองรับไม่มีปัญหามากนัก ขอยืมจากพันธมิตร หาเช่าเพิ่มขึ้น แต่ปัญหาบางครั้งไม่มีตู้ให้เช่า หรือเป็นตู้เก่าไม่มีประสิทธิภาพ ถ้าเป็นรายเล็กเป็นการเพิ่มต้นทุน ปีหน้าหากมีบริษัทผลิตตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มขึ้นจะหมดปัญหา ทั้งนี้การส่งผลไม้ผ่านลาว เวียดนาม ในอนาคตอาจมีปัญหาอีก หากเวียดนามส่งออกทุเรียนผลสดได้นอกจากนี้ ควรพัฒนาเส้นทางบ่อเต็น ลาว จีน ที่ไม่สะดวกและต้องใช้รถที่มีสมรรถนะสูง เนื่องจากเป็นภูเขา ที่สูงชัน หากพัฒนาเส้นทางร่วมกันกับลาวให้ได้มาตรฐานปลอดภัยไทยเส้นทางนี้ส่งออกสะดวก และไม่มีปัญหาเหมือนที่ต้องผ่านด่านเวียดนาม