หนองคายบูม “กบลูกผสม 3 สายพันธุ์” ส่งลาว

แฟ้มภาพข่าวสด

เกษตรกรหนองคายบูมเลี้ยงกบลูกผสม 3 สายพันธุ์ ไม่พอส่งขายตลาดไทย-สปป.ลาว

นายสาธิต คำกองแก้ว ข้าราชการบำนาญ และเกษตรกรผู้เลี้ยงกบ บ้านหนองยางคำ หมู่ 13 ต.กองนาง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย เปิดเผยว่า ขณะนี้ตลาดฝั่ง สปป.ลาว และตลาดภายในประเทศมีความต้องการเนื้อกบลูกผสม 3 สายพันธุ์เป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นกบที่เลี้ยงในกระชังสะอาด รสชาติดีไม่คาว สีสันก็สวยงาม โดยการส่งกบเข้าไปขายยังตลาด สปป.ลาว มีทั้งลูกค้าจากฝั่ง สปป.ลาวข้ามมาซื้อครั้งละหลายพันตัว ขณะเดียวกันมีพ่อค้า-แม่ค้าคนไทยมารับซื้อแบบเหมากระชัง เพื่อส่งต่อเข้าไปขายในตลาด สปป.ลาวอีกทอดหนึ่ง ราคาประมาณ 75 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ตลาดภายในประเทศจะมีพ่อค้า-แม่ค้าที่เป็นขาประจำมาซื้อถึงที่ในราคา 80 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ ราคากบที่ขายได้เมื่อหักต้นทุนแล้วถือว่าขายได้ราคาดีมาก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันตนไม่สามารถเลี้ยงกบได้ปริมาณเพียงพอกับความต้องการของตลาด

“ตอนนี้เพาะพันธุ์ไม่พอขาย เพราะลูกค้าจากฝั่ง สปป.ลาว ก็ข้ามมาซื้อครั้งละหลายพันตัว ส่วนลูกค้าในพื้นที่ก็ครั้งละหลายร้อยตัว”

การเพาะพันธุ์กบไปจนถึงจับขายใช้เวลาเพียง 4 เดือน พื้นที่ในการเลี้ยงกบใช้ไม่มาก และสามารถเลี้ยงในกระชังบนบ่อเลี้ยงปลาที่มีอยู่ได้ หมั่นล้างทำความสะอาด กบที่เลี้ยงก็สะอาด ไม่คาว เวลาอากาศร้อนจัดจะนำผักตบชวามาใส่ในกระชังที่เลี้ยง กบจะเข้าไปหลบร้อนและลงแช่น้ำเป็นการคลายร้อนได้ ในการเลี้ยงกบให้คัดเลือกสายพันธุ์ให้ดี ตนเริ่มต้นเลี้ยงกบลูกผสม 2 สายพันธุ์ คือ บลูฟร็อกที่ตัวโตกับกบนาที่แข็งแรง จำนวน 60 คู่ โดยขอพ่อแม่พันธุ์มาจากเพื่อน จากนั้นได้นำมาผสมกับกบนา ทำให้ได้ลูกกบ 3 สายพันธุ์มาเลี้ยง ซึ่งเลี้ยงง่าย แข็งแรงกว่าเดิม และโตเร็วตั้งแต่เป็นลูกอ๊อดจนถึงจับขาย สีสันสวยงาม ไม่ดำเหมือนกบนา หากไม่ผสมกับกบนา จะผสมกับกบบลูฟร็อกก็ได้ลูกกบ 3 สายพันธุ์ที่แข็งแรง เลี้ยงง่าย และโตไวเช่นกัน มีข้อแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการเพาะพันธุ์ลูกกบเอง ในแต่ละปีต้องมีการสลับสายพันธุ์กับกบจากคอกอื่น ๆ หรือหากจับได้จากธรรมชาติทั่วไปมาผสม เพื่อไม่ให้สายพันธุ์ชิดกันเกินไป ส่งผลเสียให้ลูกกบที่ได้ไม่แข็งแรง ทั้งนี้ การผสมข้ามสายพันธุ์กบจะแข็งแรง อาจจะดุ มีการกินกันเอง แก้ไขได้โดยการเลี้ยงไม่แออัดเกินไป และมีการให้วิตามินเสริมเพื่อคลายเครียด ช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมในการเลี้ยงกบได้เกือบตลอดทั้งปี ยกเว้นฤดูหนาวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-มกราคม ที่กบจะไม่กินอาหารและจะจำศีล จึงไม่ควรเลี้ยง


ทั้งนี้ กระชังที่ใช้ในการเลี้ยงกบ ซื้อวัสดุมาทำเองตกอยู่ที่ 200 บาท/ขนาด 1.20×3.50 ม. สามารถเลี้ยงได้ไม่เกิน 800 ตัว ในพื้นที่จังหวัดหนองคายนิยมรับประทานกบตัวโต ๆ น้ำหนัก 4-5 ตัว/กิโลกรัม บางพื้นที่นิยมตัวเล็ก 6-7 ตัวต่อกิโลกรัม เป็นต้น ส่วนลูกกบตกตัวละ 3 บาท (อายุ 1 เดือนครึ่ง) ส่วนอาหารที่เลี้ยงกบโดยเฉพาะหรืออาหารที่ใช้เลี้ยงปลาดุกไม่เกิน 4 กระสอบ/กระชัง ราคา 420 บาทต่อกระสอบ และมีวิตามินเสริมอีก 160 บาท หรือหากมีเศษปลาหรือลูกปลาที่ตายสามารถใช้เป็นอาหารของกบได้ โดยให้อาหารวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น มีคนที่เคยคำนวณว่า กบ 1 ตัวกินอาหารเม็ดไม่เกิน 10 เม็ด