จีนรุกหนัก! ลงทุนลุ่มน้ำโขงดันจับคู่นักธุรกิจชา-กาแฟร่วมคนไทย

รัฐบาลจีนรุกหนักนโยบาย 1 แถบ 1 เส้นทาง ดันการลงทุนในกลุ่ม GMS ดึงเอกชนด้านอุตสาหกรรมเกษตรทั้งกาแฟ-ชาจับคู่ธุรกิจร่วมกับนักลงทุนไทยในภาคเหนือ ด้านกลุ่มเอกชนเชียงใหม่ผุดศูนย์ GMSTICC หวังเชื่อมโยงการค้าการลงทุนระหว่างไทย-จีนในลุ่มแม่น้ำโขง

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดเชียงใหม่ว่า วันนี้ (1 กันยายน 2560) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และสถานกงสุลใหญ่สาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำจังหวัดเชียงใหม่ จัดการประชุมวิชาการนานาชาติ Belt and Road & Greater Mekong Sub-region Cooperation ในหัวข้อ “Lancang Jiang-Mekong River : Rising Smart Corridor” ณ โรงแรมดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่ ภายในงาน มี การบรรยายเกี่ยวกับนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) ของจีน รวมถึงการนำเสนอผลงานทางวิชาการของผู้ทรงคุณวุฒิ การจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการชาวไทยและชาวจีน (Business Matching) กิจกรรม Smart City และกิจกรรมการเปิดตัวหนังสือ “เรื่องเล่าจีน-ไทย” (ฉบับภาษาไทยและภาษาจีน) ของสำนักพิมพ์ China International Press

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรอร ภู่เจริญ คณบดีคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า การประชุมวิชาการนานาชาติ Belt and Road & Greater Mekong Sub-region Cooperation ในหัวข้อ “Lancang Jiang-Mekong River : Rising Smart Corridor” เป็นเวทีสำคัญที่แสดงจุดยืนระหว่างไทยและจีนในหลายเรื่องๆ จากการนำเสนอผลงานด้านวิชาการ ที่จะทำให้เกิดความเข้าใจในนโยบายของจีน โดยเฉพาะด้านการขนส่ง-โลจิสติกส์ ด้านการเกษตร และการท่องเที่ยว ที่นักลงทุนจีนให้ความสนใจลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อนักลงทุนไทย

นอกจากนี้ยังจะเกิดความร่วมมือในเชิงธุรกิจระหว่างนักลงทุนไทยและจีน ที่จะมีการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจด้านการเกษตร อาทิ กาแฟ และใบชา ท่องเที่ยว และธุรกิจด้านการขนส่ง-โลจิสติกส์

สำหรับนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน เป็นนโยบายที่สำคัญมากของจีน มีโครงการที่มีการลงทุนด้วยมูลค่ามหาศาลถึง 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการสร้างเส้นทางโลจิสติกส์ขนาดใหญ่ของโลก โดยเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งทั้งทางบก ทางทะเลระหว่าง 1 ภูมิภาค และ 3 ทวีป คือ อาเซียน เอเชีย แอฟริกา และยุโรป เกี่ยวข้องกับ 64 ประเทศทั่วโลก ครอบคลุมประชากรโลกถึง 4,500 ล้านคน และมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงถึง 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลก ซึ่งในส่วนของภาคเหนือที่มีการเชื่อมโยงด้านการค้าการลงทุนกับจีนอยู่แล้ว ก็จะเกิดผลดีอย่างแน่นอนจากนโยบายสำคัญนี้

นายเหริน ยี่เซิง กงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำเชียงใหม่ กล่าวว่า นโยบาย 1 แถบ 1 เส้นทาง ของจีน จะส่งผลประโยชน์เชิงบวกกับประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยเป็นจุดสำคัญในการเชื่อมโยงกับประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งภาคเหนือของประเทศไทยมีศักยภาพสูงที่นักลงทุนจีนกำลังให้ความสนใจเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะการมีศักยภาพด้าน Smart City เกษตรกรรและมีทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงรัฐบาลจีนกให้ความสำคัญความร่วมมือกับไทยด้านการท่องเที่ยว ซึ่งจะเห็นว่าในแต่ละปีจะมีคนจีนราว 150 ล้านคนเดินทางออกนอกประเทศ โดยจำนวนราว 10 ล้านคนเดินทางมาประเทศไทย

ด้านนายเฉลิมชาติ นครังกุล ประธานกิตติมศักดิ์หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ภาคเอกชนภายใต้การสนับสนุนของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงจะได้ใช้โอกาสนี้ที่จะจัดตั้งหน่วยงานที่จะตอบสนองต่อนโยบายและแผนงานยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางดังกล่าว โดยจะได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานการค้า การลงทุน และวัฒนธรรม GMS Trade-Investment and Culture Center (GMSTICC) ขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีบทบาทที่สำคัญได้แก่ 1.อำนวยความสะดวกและประสานงานให้เกิดความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน ระหว่างจีน ประเทศในกลุ่ม GMS และภาคเหนือของไทยภายใต้นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน 2.จัดกิจกรรมที่จะกระตุ้นการเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจระหว่างจีน และกลุ่มประเทศ GMS ในทุกด้าน ได้แก่ การจัดเวที Forum , การจัด Business Matching ในระดับนานาชาติ 3.ประสานงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาในพื้นที่ภาคเหนือเพื่อให้เกิดความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจกับจีนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เป็นต้น

ทั้งนี้ ภาคเหนือของไทยมีความใกล้ชิดกับประเทศจีนตอนใต้ มีความสำคัญในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ มีการเดินทางเชื่อมโยงกันได้สะดวกขึ้นผ่านเส้นทางแม่น้ำโขง ถนน R3A รวมถึงรถไฟความเร็วสูงในอนาคต อันจะส่งผลต่อความสำเร็จของนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt, One Road Policy) ของจีน ดังนั้น จึงจำเป็นที่ทางไทยจะต้องเตรียมพร้อมและเริ่มในเรื่องยกระดับขีดความสามารถโดยจัดเป็นกลุ่มๆ (Cluster) โดยเฉพาะด้านนโยบาย 4.0 ของไทย Smart City การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทย โดยเฉพาะด้านโลจิสติกส์ การเชื่อมด้วยรถไฟความเร็วสูง การพัฒนาการเดินเรือในแม่น้ำโขง การเจาะอุโมงค์เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน หรือการก่อสร้างสนามบินภาคเหนือแห่งใหม่ เป็นต้น

โดยบทบาทของจีนจะมุ่งเน้นการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นในกลุ่มประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยล่าสุดจีนได้เพิ่มเงินทุนสนับสนุนกองทุนเส้นทางสายไหม (Silk Road Fund) เป็นจำนวน 1 แสนล้านหยวน เพื่อให้เกิดการลงทุนจากจีนสู่ต่างประเทศ โดยคาดว่าจะเกิดมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้นกว่า 3 แสนล้านหยวน นอกจากนั้นทาง China Development Bank และ Exim Bank of China จะจัดตั้งโครงการปล่อยเงินกู้เพื่อสนับสนุน ความร่วมมือในด้านสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานขีดความสามารถทางอุตสาหกรรม และการเงิน เป็นมูลค่าถึง 3.8 แสนล้านหยวน รวมถึงการร่วมมือ Asian Infrastructure Investment Bank (AIIB), BRICS New Development Bank และสถานบันพัฒนาอื่นๆ เพื่อร่วมกันกำหนดตัวชี้นำทางด้านการเงินให้แก่โครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา ตามนโยบาย Belt and Road

สอดคล้องกับการเดินทางนายจิน ลี่ฉวิน (Mr.Jin Liqun) ประธานธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย หรือเอไอไอบี (Asian Infrastructure Investment Bank : AIIB) ซึ่งเป็นธนาคารที่ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่โครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค ได้เดินทางมาเยือนจังหวัดเชียงใหม่ล่าสุด และพร้อมให้การสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมืองเชียงใหม่อย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาภูมิภาคร่วมกัน