ทุน “ระนอง” เสนอแก้ผังเมืองรุกธุรกิจ รร.รับท่องเที่ยวโต-ดัน SEC เกิด

โตเงียบ - จังหวัดระนองถือเป็น 1 ใน 4 จังหวัดโครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) ซึ่งช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมามีการเติบโตมาก โดยเฉพาะธุรกิจด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และในอนาคตกำลังจะกลายเป็นประตูส่งออกสู่กลุ่มประเทศบิมสเทค

ระนองเร่งลงทุนธุรกิจโรงแรม หลังท่องเที่ยวเชิงสุขภาพโต-ครม.อนุมัติเดินเครื่อง SEC เสนอขอปรับแก้ผังเมืองจากสีเขียวเป็นสีเหลือง หวังสร้างอาคารสูง เผยราคาที่ดินตัวเมืองระนอง-ถนนเพชรเกษมพุ่งกว่าเท่าตัว

นายธีระพล ชลิศราพงศ์ ประธานหอการค้าจังหวัดระนอง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการธุรกิจประมง เกษตร และธุรกิจค้าชายแดนได้เริ่มเปลี่ยนมาทำธุรกิจด้านท่องเที่ยวและบริการมากขึ้น เนื่องจาก จ.ระนองได้เปลี่ยนไปสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น โดยช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีนักลงทุนท้องถิ่นประมาณ 6-7 ราย ลงทุนโรงแรมขนาด 50-70 ห้อง และปัจจุบันห้องพักยังคงไม่เพียงพอ ทำให้นักธุรกิจในพื้นที่มีความต้องการลงทุนโรงแรมค่อนข้างมาก โดยเฉพาะโซนตัวเมืองระนอง และถนนเพชรเกษม ขณะที่ทุนส่วนกลางไม่ค่อยมี เนื่องจากติดปัญหาเรื่องผังเมืองที่ส่วนใหญ่เป็นสีเขียว รวมถึงติดปัญหาเขตเมืองเก่า ทำให้สามารถสร้างอาคารได้ 4-5 ชั้น เนื้อที่ใช้สอยประมาณ 2,000 ตารางเมตร หรือประมาณ 40-50 ห้องผู้ประกอบการต้องแยกสร้างหลายอาคาร

ดังนั้น ทางหอการค้าฯได้เสนอสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองระนองขอให้ปรับผังเมืองจากสีเขียวเป็นสีเหลือง และปรับเพิ่มพื้นที่ใช้สอยเป็น 4,000 ตารางเมตร จะทำให้สามารถขยายห้องพักเพิ่มขึ้นเป็น 80-90 ห้อง

ขณะเดียวกัน ราคาที่ดินทั้งพื้นที่ตัวเมืองระนองและถนนเพชรเกษมลงมาทางใต้ประมาณ 6-7 กิโลเมตร จากเดิมอยู่ที่ 3 ล้านบาท/ไร่ ขยับตัวขึ้นเป็น 6-7 ล้านบาท/ไร่ ส่งผลให้การลงทุนชะงักลง

“ระนองเป็นเมืองท่องเที่ยว 2 ประเทศ นักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งจะมาท่องเที่ยวแช่น้ำแร่ เที่ยวตามเกาะต่าง ๆ ขณะที่นักท่องเที่ยวอีก 70% จะไปท่องเที่ยวทะเลที่เมียนมา ทำให้ช่วงฤดูท่องเที่ยว ช่วงสุดสัปดาห์ห้องพักจะเต็มทั้งหมด และสร้างรายได้ราว 35% ของรายได้รวมทั้งหมด”

นายธีระพลกล่าวต่อว่า ในวาระที่รับตำแหน่งประธานหอการค้าจังหวัดระนองต่อเป็นสมัยที่ 2 นั้น ยังคงผลักดันโครงการตามมติคณะรัฐมนตรีต่อเนื่อง ทั้งโครงการการพัฒนาท่าเรือระนอง ร่องน้ำลึก รถไฟเส้นทางชุมพร-ระนอง และการขยายถนน 4 เลน รวมถึงโครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) โดยครอบคลุมทั้งจังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ซึ่งโครงการเหล่านี้จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจภายในจังหวัดจะดีขึ้น และเป็นประตูส่งออกสู่กลุ่มประเทศบิมสเทค (BIMSTEC) ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา และไทย

ในส่วนของเส้นทางรถไฟชุมพร-ระนองได้มีการศึกษาแล้ว และจะผลักดันรัฐบาลให้เร่งนำงบประมาณมาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และออกแบบ โดยจะเป็นเส้นทางขนส่งสินค้า และรองรับผู้โดยสาร ในอนาคตวางแผนผลักดันเชื่อมโยงถึง จ.ภูเก็ต เพื่อรองรับการท่องเที่ยวโดยตรง ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กับสถานีรถไฟที่อยู่ในตำบลต่าง ๆ ในจังหวัดระนองด้วย

ขณะที่โครงการพัฒนาร่องน้ำลึกมีการเสนอขอความลึก 14-18 เมตร เพื่อรองรับเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ รวมถึงธุรกิจเรือท่องเที่ยว โดยรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งพื้นที่จะติดกับโครงการท่าเรือระนอง จะทำในลักษณะท่าเรือแหลมฉบัง แต่มีขนาดเล็กกว่าประมาณ 1 ใน 3 ซึ่งอยู่ห่างจากปากอ่าวประมาณ 20 กิโลเมตร ปัจจุบันท่าเรือดำเนินการโดยการท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบ มีการดำเนินการเฟส 1 รองรับเรือขนาดได้ราว 500 ตันกรอส และเฟส 2 รองรับเรือขนาดได้ราว 12,000 ตันกรอส แต่ยังไม่สามารถรองรับเรือขนาดใหญ่ จึงมีการเสนอ ครม.ดำเนินการก่อสร้างเฟส 3 งบประมาณ 5,000 ล้านบาท ตั้งเป้ารองรับเรือขนาดได้ถึงราว 50,000 ตันกรอส


“ฝั่งอันดามันยังไม่มีพื้นที่ไหนเหมาะสมเท่ากับระนองที่เป็นท่าเรือส่งออก สามารถร่นระยะเวลาในการขนส่งไปเมียนมาและกลุ่มประเทศบิมสเทคเหลือเพียง 6-7 วัน จาก 20 วันหากอ้อมไปทางสิงคโปร์ ตอนนี้อยู่ระหว่างผลักดันพัฒนาถนนเพชรเกษม เส้นทางจาก อ.ราชกูด จ.ระนอง-จ.พังงา จาก 2 เลน เป็น 4 เลน นอกจากนี้ มีโครงการรถไฟรางคู่ชุมพร-ระนอง อยู่ระหว่างศึกษา EIA และออกแบบ หากผ่าน EIA จะก่อสร้างได้ปี 2563 จะช่วยส่งเสริมทั้งการค้าชายแดนและการท่องเที่ยวด้วย