เชียงใหม่ไม่พ้นวิกฤตควันพิษ 25 อำเภอเผาพื้นที่เกษตรอีกหลายพันไร่

“จังหวัดเชียงใหม่” เรียก “นายอำเภอ-ปลัด” 25 อำเภอประชุมด่วนตั้งรับเกษตรกรเล็งเผาพื้นที่เกษตรเดือนพฤษภาคมนี้อีกเฉียด 3,000 ไร่ เตรียมปลูก “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์-ข้าวไร่-ถั่วลิสง-กะหล่ำปลี” หลังพ้นกำหนด “ห้ามเผา” 60 วัน พร้อมเร่งวางแผนเข้มข้น เด็ดขาดบริหารจัดการพื้นที่เกษตร

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางจังหวัดเชียงใหม่ได้จัดประชุมการบริหารจัดการพื้นที่การเกษตรหลังช่วงห้ามเผา โดยมีนายอำเภอ ปลัดอำเภอ ทั้ง 25 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วมนำเสนอข้อมูลพื้นที่เกษตรที่เป็นปัจจุบัน ณ อาคาร SMEs ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา โดยมี นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุม

นายคมสัน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงใหม่ประสบปัญหาหมอกควันและไฟป่าปกคลุมในช่วงฤดูแล้งของทุกปี โดยเกษตรกรเผาเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับทำการเกษตรก่อนเข้าสู่ฤดูฝน ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและความเสียหายทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ซึ่งการประชุมในวันนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการกำหนดมาตรการในการบริหารจัดการพื้นที่การเกษตรหลังช่วงห้ามเผา (วันที่ 1 มีนาคม-30 เมษายน 2562) ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ระบุว่า คาดการณ์ว่าจะยังคงมีการเผาในพื้นที่เกษตรหลังจากวันที่ 30 เมษายน 2562 ซึ่งจะมีการเตรียมทำพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (ฤดูฝน) โดยมีพื้นที่ปลูกราว 173,000 ไร่ ซึ่งอำเภอแม่แจ่มมีพื้นที่ปลูกมากที่สุด คือ 96,000 ไร่ อำเภอเชียงดาว 33,000 ไร่ และแม่อาย 11,400 ไร่

ขณะที่อำเภอจอมทองระบุว่า มีพื้นที่ 3 ตำบลของอำเภอจอมทอง ที่เตรียมเผาพื้นที่การเกษตร ในช่วงเดือนพฤษภาคม จำนวน 1,040 ไร่ ได้แก่ ตำบลบ้านแปะ 360 ไร่ ตำบลบ้านหลวง 515 ไร่ และตำบลดอยแก้ว 165 ไร่ เพื่อเตรียมแปลงพื้นที่เพาะปลูกข้าวไร่และกะหล่ำปลีที่มีการปลูกกันมากที่สุดบนดอย ซึ่งเป็นพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ อยู่ในเขตป่าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์และออบหลวง ทั้งนี้ ข้อมูลปัจจุบันของอำเภอจอมทอง จากพื้นที่ทั้งหมด 100% คาดว่าได้มีการเผาในพื้นที่เกษตรไปแล้วราว 60% เหลือพื้นที่อีก 40% ที่เกษตรกรเตรียมการเผาในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้

นายนพ มีทองคำ ปลัดอำเภอเชียงดาว กล่าวว่า อำเภอเชียงดาวมีพื้นที่ 7 ตำบล 83 หมู่บ้าน โดยในระยะที่ผ่านมามีการเผาไปแล้วราว 60% ซึ่งพบว่าเป็นการเผาเพื่อหาของป่าเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ในช่วงเดือนพฤษภาคมมีพื้นที่อีกราว 40% ที่จะเป็นการเผาในพื้นที่การเกษตร คาดว่าจะมีพื้นที่เตรียมเผาราว 1,127 ไร่ เพื่อเตรียมเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

ด้านอำเภอกัลยาณิวัฒนาชี้แจงว่า ที่ผ่านมาในพื้นที่อำเภอกัลยาณิวัฒนา มีการเผาในพื้นที่เกษตรไปแล้วราว 60% เหลืออีก 40% ที่เกษตรกรใน 3 ตำบล เตรียมเผาในพื้นที่การเกษตรจำนวน 491 ไร่ เพื่อเตรียมการเพาะปลูกข้าวไร่และถั่วลิสง

ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เน้นย้ำให้ทั้ง 25 อำเภอ เร่งวางแผนการทำงานอย่างเข้มข้น และเร่งชี้แจงให้เกษตรกรได้รับรู้ข้อมูลสภาพปัญหา พร้อมทั้งดำเนินการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรตามกรอบแนวทางของแต่ละอำเภอ หากมีการเดินนอกเกมก็จะต้องงดการเผาทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องใช้มาตรการเข้มข้นเด็ดขาดในการจัดการพื้นที่เกษตร

นายวิทยา ครองทรัพย์ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหมอกควันจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ก่อนหน้านี้ ภาคเอกชนเสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์บริหารการแก้ไขปัญหาหมอกควัน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน เพื่อจะเข้ามาแก้ไขปัญหาหมอกควันในห้วง 8 เดือน (พฤษภาคม-ธันวาคม 2562) เพื่อไม่ให้มีวิกฤตหนักในปีหน้า (2563) โดยภารกิจ คือ การลดปัจจัยทุกด้านที่ก่อให้เกิดการเผา จัดให้มีการเยียวยา สร้างรายได้ทดแทน การพักหนี้ การให้บริษัทเอกชนที่เข้าไปส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และผู้รับซื้อผลผลิตเข้ามาร่วมหาทางออกต่อปัญหาร่วมกัน เป็นต้น

นอกจากนั้นคือการใช้วิธีการจัดทำระบบป่าเปียก (wet fire break) ในพื้นที่วิกฤต เช่น การจัดทำระบบป้องกันไฟไหม้ป่า โดยมีการใช้แนวคลองส่งน้ำและแนวพืชชนิดต่าง ๆ ไปปลูกที่บริเวณตามแนวคลองต่าง ๆ และการปลูกต้นไม้ที่มีการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว รวมถึงการรณรงค์ให้เอกชน บริษัทข้ามชาติ ด้านเกษตรเชิงเดี่ยวได้ปรับกระบวนการดำเนินธุรกิจใหม่ทั้งในและต่างประเทศที่ทำ contract farming ที่จะไม่ก่อให้เกิดการเผาเพื่อเตรียมเพาะปลูกในฤดูฝน รวมถึงส่งเสริมให้ชาวบ้าน-เกษตรกรในพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยมีตลาดรองรับ เพื่อลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยวในเชิงอุตสาหกรรม