“วิกฤตแล้ง” ยังสาหัส เชียงใหม่-สารคาม-พิษณุโลกยังหนัก

กรณีที่หลายหน่วยงานคาดการณ์ว่า ปีนี้ภัยแล้งของประเทศจะลากยาวไปถึงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2562 นั้น ล่าสุดหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลายจากการที่มีฝนตกลงมา ขณะที่บางพื้นที่ยังอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เช่น เขื่อนอุบลรัตน์มีน้ำเหลืออยู่ 586.24 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็น 24.11% ของความจุทั้งหมด แต่น้ำที่สามารถใช้ได้เพียง 4.57 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 0.25%

เชียงใหม่สวนลำไยยืนต้นตาย

นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เปิดเผยว่า ได้ลงตรวจสอบพื้นที่ปลูกลำไย ตำบลแม่สอย อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ พบว่ามีลำไยที่ใกล้จะยืนต้นตายในพื้นที่ 15 ไร่ จำนวน 300 ต้น และเริ่มเหี่ยวเฉาเนื่องจากสภาพอากาศร้อนและขาดน้ำ คิดเป็นสัดส่วน 10% จากพื้นที่ปลูกลำไยทั้งหมด 1,500 ไร่ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวอยู่นอกเขตชลประทานที่มีการใช้น้ำ 2 ลักษณะ คือ สถานีสูบน้ำบ้านใหม่สารภี และสูบน้ำบาดาล โดยพบว่าสถานีสูบน้ำบ้านใหม่สารภีก่อสร้างมานาน ปัจจุบันมีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ขณะที่พื้นที่เพาะปลูกลำไยมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกระแสไฟฟ้าที่ใช้เพื่อสูบน้ำบาดาลไม่เพียงพอ เนื่องจากหม้อแปลงมีขนาดเล็ก และมีผู้ใช้จำนวนมาก ซึ่งแหล่งน้ำที่ใช้คือ อ่างเก็บน้ำห้วยขาหมาหลวง มีความจุ 440,000 ลบ.ม. ปัจจุบันเหลือน้ำเพียง 10%

ซึ่งไม่เพียงพอ และยังพบว่ามีตะกอนในอ่างจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ลงทุนผลิตลำไยนอกฤดูโดยใส่สารให้ต้นลำไยไปแล้ว หากขาดน้ำจะไม่สามารถให้ผลผลิตได้ ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายและขาดทุน สำหรับแนวทางการแก้ไขระยะเร่งด่วน ได้ส่งเครื่องกำเนิดกระแสไฟฟ้าเข้าพื้นที่เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้ไฟฟ้าเพื่อสูบน้ำเข้าแปลงลำไยได้

“สารคาม” ขาดน้ำ 4 อ.

รายงานข่าวจากมหาสารคามแจ้งว่า นายเกียรติศักดิ์ จันทรา ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประชุมเพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยพิบัติอย่างใกล้ชิด ตอนนี้มีการประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค 4 อำเภอ ประกอบด้วย อ.พยัคฆภูมิพิสัย อ.บรบือ อ.วาปีปทุม และ อ.ยางสีสุราช รวม 13 ตำบล 47 หมู่บ้าน การช่วยเหลือเบื้องต้นนำรถบรรทุกน้ำออกไปแจกจ่ายแล้วหลายล้านลิตร

นายปราโมทย์ วัฒนะ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรสำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาทางราชการขอความร่วมมือเกษตรกรงดทำนาปรังมาตั้งแต่ปลายปี 2561 ซึ่งเกษตรกร 4 อำเภอ ที่ลำน้ำชีไหลผ่านให้ความร่วมมือ ประกอบด้วย อ.โกสุมพิสัย อ.เชียงยืน อ.กันทรวิชัย และ อ.เมือง จากเดิมจะทำนาปรังไม่ต่ำกว่าปีละ 1.7 แสนไร่ ปีนี้ทำนาปรัง 5-6 หมื่นไร่ ทำให้ผลผลิตข้าวนาปรังหายไปไม่ต่ำกว่า 7-8 หมื่นตัน และช่วงนี้เกษตรกรเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังไปแล้วกว่า 80% จึงไม่ต้องการใช้น้ำแล้ว

“โคราช” เร่งช่วย 9 อ. แล้ง

นายกิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำในเขื่อน 5 แห่ง ประกอบด้วย เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำแชะ เขื่อนมูลบน และเขื่อนลำปลายมาศ มีปริมาณน้ำเฉลี่ยอยู่ที่ 40% ของความจุเขื่อน ซึ่งลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยปริมาณน้ำเพียงพอในการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ แต่มีบางอำเภออาจขาดแคลนน้ำดิบในการผลิตน้ำประปา โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน เพราะฝนที่ตกลงมายังไม่สามารถเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อน เนื่องจากไปตกท้ายเขื่อน

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า จังหวัดนครราชสีมามีพื้นที่ประสบภัยแล้ง 9 อำเภอ 21 ตำบล 52 หมู่บ้าน ประกอบด้วย อ.เมืองนครราชสีมา ปากช่อง พิมาย สีคิ้ว ประทาย ขามสะแกแสง หนองบุญมาก สีดา และโนนแดง ซึ่งได้สั่งการให้แจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภค พร้อมให้เร่งขุดบ่อบาดาลเพื่อแก้ปัญหาระยะยาว

ร้อยเอ็ด-ศรีสะเกษเริ่มมีฝน

นายสมเกียรติ ชัยคณารักษ์กูล ประธานหอการค้าจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า ภัยแล้งของจังหวัดร้อยเอ็ดส่งผลให้รายได้จากภาคการเกษตรหายไปประมาณ 30% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการทำนา เพราะในจังหวัดไม่มีเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีเพียงลำน้ำมูลกับลำน้ำชี และในจังหวัดยังมีการสนับสนุนปลูกไม้ยูคาฯที่ดูดน้ำหล่อเลี้ยงจากพืชอื่นทำให้ได้รับผลกระทบพอสมควร แต่ในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมาเริ่มมีฝนตกลงมาบ้าง คาดว่าจะสามารถเริ่มเตรียมการเพื่อเข้าสู่ฤดูการทำนารอบใหม่ได้ในเร็ว ๆ นี้

นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 จนถึงปัจจุบัน จังหวัดศรีสะเกษที่มีอยู่ 22 อำเภอ มีประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน 6 อำเภอ จากพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง 10 อำเภอ โดยมีเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนาคอยระบายน้ำไปช่วยประชาชนในพื้นที่ และมีรถบรรทุกเครื่องสูบน้ำระยะไกล ถังน้ำไปบริการชาวบ้าน จึงไม่น่าเป็นห่วงมากนัก แต่ปัญหาที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ พายุฤดูร้อนที่จะเข้ามา เพราะตรงกับช่วงทุเรียนภูเขาไฟออกผลในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ เพราะรายได้หลักของศรีสะเกษมาจากเรื่องข้าวและทุเรียน

พิษณุโลกมันฯสูญหมื่นไร่

นายชำนาญ ชูเที่ยง ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิษณุโลก เปิดเผยว่า จังหวัดพิษณุโลกประกาศเขตภัยแล้ง 1 อำเภอ คือ อ.วัดโบสถ์ พบความเสียหาย 4 ตำบล 38 หมู่บ้าน เบื้องต้นสำรวจพบพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 30,000 ไร่ และเสียหายแล้ว 17,000 ไร่ นับเป็นปีแรกที่พบมันสำปะหลังได้รับความเสียหายจากภัยแล้ง ทั้งที่เป็นพืชชนิดที่ทนแล้งมากที่สุด สาเหตุเพราะปีนี้ไม่มีฝนเลย ประกอบกับสภาพความชื้นจากน้ำค้างช่วงเช้ามีน้อย ทำให้เกิดความเสียหายดังกล่าว

ทั้งนี้ พิษณุโลกมีแนวโน้มเกิดภัยแล้งหลายพื้นที่ ขณะนี้มีการวางแผนบริหารจัดการน้ำต้นทุนและแหล่งน้ำธรรมชาติให้เพียงพอต่อความต้องการ และขอความร่วมมือเกษตรกรงดการเพาะปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 3 อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลเสียหายจากฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลายาวนาน

ล่าสุด กรมอุตุนิยมวิทยากำหนดว่า ช่วงวันที่ 10-12 พ.ค.นี้จะเข้าสู่ฤดูฝน ทำให้เกษตรกรเริ่มทำนาปรังรอบใหม่ ซึ่งน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน เพราะแหล่งน้ำธรรมชาติมีปริมาณลดลง

“ตราด” อีก 3 ปีวิกฤตรุนแรง

แหล่งข่าวระดับสูงของจังหวัดตราดเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จังหวัดตราดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ใน 3 อำเภอ คือ เมืองตราด เขาสมิง บ่อไร่ โดยการแก้ปัญหาฉุกเฉินได้ตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่สูบน้ำในอ่างเก็บน้ำคลองโสน ผันน้ำลงคลองให้กลุ่มผู้ใช้น้ำ ขณะนี้สถานการณ์ได้คลี่คลายลงไป 70% แล้ว

ทั้งนี้ ปัญหาของจังหวัดตราดมีปริมาณน้ำฝนมากปีละ 5,400 ล้าน ลบ.ม. (ลูกบาศก์เมตร) แต่สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้เพียง 240 ล้าน ลบ.ม. หรือ 4% ที่เหลือ 5,200 ลบ.ม.ปล่อยลงทะเลไป ในขณะมีพื้นที่เกษตรถึง 6 แสนไร่ มีอ่างเก็บน้ำ 7 แห่ง ทางแก้ไขระยะยาว กรมชลประทานน่าจะผลักดันสร้างอ่างเก็บน้ำอีก 2 แห่ง คือ อ่างสะตอ และอ่างคลองแอ่ง ที่ยังติดปัญหาพื้นที่กรมป่าไม้และพื้นที่ราษฎรอยู่อาศัย

นายเสรี สำราญจิตร นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลบ่อพลอย อ.บ่อไร่ จ.ตราด กล่าวว่า ภาวะภัยแล้งปีนี้มีความรุนแรงแล้งจัดมากกว่าปี 2559 ได้มีการระดมเครื่องสูบน้ำปล่อยลงลำคลองให้เกษตรกรแบ่งสลับกันใช้ต่อมาฝนตกปัญหาได้คลี่คลายไป แต่อนาคตอีก 3 ปีข้างหน้า ปัญหาน้ำจะวิกฤตหนัก ถ้าจังหวัดตราดหรือภาคตะวันออกไม่มีการวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำรองรับภาคการเกษตร ที่ผ่านมาเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า