อีสานชู “หมอนทอง” กลิ่นไม่แรงเท่าตะวันออก-ใต้

แฟ้มภาพประกอบข่าว

เกษตรจังหวัดหนองคาย เผยชาวสวน อ.สังคมแห่ปลูก “ทุเรียนหมอนทอง” กว่า 300 ไร่ เหตุจุดเด่น “กลิ่นไม่ฉุน” เหมือนภาคตะวันออกและภาคใต้ แถมรสชาติอร่อย เนื้อไม่อมน้ำ คนแห่ซื้อแห่จองกันถึงสวนปลูกไม่พอขาย เกษตรจังหวัดเร่งส่งเสริมการปลูก

นายเวียน ธรรมสอน นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการพิเศษ/หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร สำนักงานเกษตรจังหวัดหนองคาย เปิดเผยว่า ขณะนี้ทั้งจังหวัดหนองคายมีพื้นที่ปลูกทุเรียนที่ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดหนองคายสนับสนุนและส่งเสริมอยู่กว่า 300 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตอำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย หากเทียบกับพื้นที่จังหวัดระยองและจันทบุรี กลิ่นของทุเรียนหนองคายจะมีน้อยกว่า แต่ความหวานและความมันนั้นมีปกติ ถือเป็นจุดดีและเป็นจุดขายสำหรับคนที่ไม่ชอบทุเรียนที่มีกลิ่นฉุนหรือกลิ่นแรง เป็นโอกาสที่ดีที่ชาวสวนทุเรียนหนองคายจะทำตลาดได้ง่าย ที่ผ่านมาสำนักงานเกษตรจังหวัดหนองคาย ได้เริ่มส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชหลากหลายชนิดขึ้น ในส่วนของทุเรียนและเงาะ ได้มีเกษตรกรบางส่วนได้ดำเนินการปลูกไปก่อนแล้ว ช่วงนี้เป็นช่วงที่มีการขยายตัวของการปลูกทุเรียน

ส่วนการให้ผลผลิตนั้น จังหวัดหนองคายถูกควบคุมด้วยอุณหภูมิ ปีใดที่อุณหภูมิหนาวจัดก็จะให้ผลผลิตน้อย ปีนี้อากาศไม่หนาวทำให้มีผลผลิตออกต่อเนื่องกันถึง 4-5 รุ่น เป็นผลดีต่อเกษตรกรที่จะมีผลผลิตทุเรียนออกขายอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ไปจนถึงปลายเดือนมิถุนายนได้ ราคาขายจะยึดราคาตลาดทั่วไปเป็นหลัก ประกอบกับปริมาณทุเรียนที่ออกในจังหวัดหนองคายยังไม่มาก เกษตรกรจะขายที่สวนเป็นหลักยังไม่มีการนำออกไปจำหน่ายในตลาดอื่น แต่ถ้าหากผลผลิตทุเรียนออกมาก ตลาดใหญ่ที่สุดที่ได้มองไว้คือตลาด สปป.ลาว ซึ่งจังหวัดหนองคายได้เปรียบจังหวัดอื่น ๆ เนื่องจากระยะทางใกล้กว่า ทำให้ได้ผลผลิตที่ส่งไปสดกว่าจังหวัดอื่น ๆ

สำหรับทุเรียนที่เหมาะในการปลูกในพื้นที่จังหวัดหนองคาย คือทุเรียนพันธุ์หมอนทอง พิจารณาได้จากที่เกษตรกรได้มีการนำมาปลูกจนให้ผลผลิตแล้ว ส่วนพันธุ์อื่น ๆ ทั้งชะนี ก้านยาว กระดุม และหลงหลิน ก็มีเกษตรกรนำมาปลูกแต่ไม่มาก สังเกตได้ว่าทุเรียนพันธุ์ก้านยาวอายุการปลูกเท่ากันกับพันธุ์หมอนทอง ติดดอกแต่ไม่มีลูก ก็จะสังเกตในปีต่อไปอีกว่า หากไม่มีลูกอีกก็แสดงว่าทุเรียนพันธุ์ก้านยาวไม่เหมาะที่จะปลูกในพื้นที่จังหวัดหนองคาย

โดยเนื้อของทุเรียนหมอนทองที่ปลูกในจังหวัดหนองคายจะไม่อมน้ำ เนื่องจากพื้นที่หนองคายเป็นพื้นที่ที่แห้งกว่าทางภาคตะวันออกและภาคใต้ ทำให้คุณภาพเนื้อทุเรียนดีกว่า กลิ่นน้อยกว่า ส่วนโรคทุเรียนนั้นก็เหมือนกับพื้นที่อื่น ๆ คือหนอนเจาะต้น เกษตรกรต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เกษตรกรในจังหวัดหนองคายยังไม่มีการใช้สารเคมี ใช้เพียงน้ำส้มควันไม้และเจาะตัวออกมากำจัด เนื่องจากปริมาณยังไม่มาก

จังหวัดหนองคายถือว่ามีความเหมาะสมในการปลูกทุเรียนเป็นอย่างมาก เห็นได้จากทุเรียนอายุ 3 ปีเริ่มติดดอกและให้ผลผลิต

นางชมชื่น ชื่นตา เกษตรกรชาวสวนทุเรียน บ้านไทยพัฒนา ตำบลผาตั้ง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย กล่าวเพิ่มเติมว่า ทุเรียนที่ปลูกให้ผลทุเรียนที่สมบูรณ์ดี น้ำหนักเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2 กิโลกรัม ส่วนต้นที่ไม่ดกมากจะให้ผลทุเรียนน้ำหนักตั้งแต่ 3 กิโลกรัมขึ้นไป น้ำหนักมากสุดถึง 13 กิโลกรัม ส่วนตลาดขายเฉพาะในสวนยังไม่พอขาย โดยที่ผ่านมาเริ่มจากชาวบ้านในหมู่บ้านมาซื้อไปรับประทานแล้วติดใจในรสชาติที่อร่อย เนื้อไม่อมน้ำ กลิ่นไม่แรงเกินไป และรับประทานแล้วไม่มีอาการร้อนใน จึงมีการบอกต่อ ทำให้มีการจองล่วงหน้า ขณะนี้มีการปลูกเพิ่มแล้วกว่า 100 ต้น นอกจากนี้ภายในสวนที่มีพื้นที่ประมาณ 40 ไร่ ได้มีการปลูกไม้ผลอื่น ๆ อีกหลายชนิด ทั้งเงาะ ลองกอง ละมุด และขนุน เป็นต้น