กรมชลฯทุ่ม 700 ล. ดัน EIA อ่างเก็บน้ำห้วยหลัว

พื้นที่ทำอ่าง - หมู่ที่ 6 ตำบลผาเสวย อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ ปัจจุบันอยู่ในการดูแลของกรมอุทยานฯ แต่ไม่ได้มีสภาพพื้นที่เป็นป่าไม้ที่สำคัญ เนื่องจากเป็นที่ดินทับซ้อนทางการเกษตร มีอยู่ก่อนการเขียนแผนที่ของกรมอุทยานฯ

กรมชลประทานเร่ง EIA อ่างเก็บน้ำห้วยหลัว จ.กาฬสินธุ์ ตั้งงบฯลงทุน 766 ล้านบาท ขยายพื้นที่เกษตร 10 เท่า หนุนพื้นที่ชลประทาน 4,000 ไร่ เล็งเสนอ ครม.ขอพื้นที่กรมอุทยานฯ 800 ไร่ คาดปี 2563 เริ่มดำเนินการก่อสร้าง

นายสุรัช ธนูศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการกรมชลประทาน กล่าวภายหลังพาคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยหลัว ตำบลผาเสวย อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ ว่า ขณะนี้ทางกรมชลประทานอยู่ระหว่างว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยหลัว มูลค่า 766 ล้านบาท แบ่งได้เป็นค่าก่อสร้าง 625 ล้านบาท ค่าชดเชยในการเวนคืนที่ดินทางเกษตรอยู่ที่ 94.6 ล้านบาท และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIMP) งบประมาณ 46 ล้านบาท

ทั้งนี้พื้นที่ในการจัดทำอ่างเก็บน้ำบางส่วนมีความทับซ้อนกับบริเวณชายขอบของอุทยานแห่งชาติภูพาน จะได้รับผลกระทบประมาณ 839 ไร่ แต่ปัจจุบันพื้นที่บางส่วนข้างต้นได้กลายเป็นพื้นที่ทางการเกษตรไปแล้ว 400 ไร่ โดยมีเกษตรกรที่เกี่ยวข้อง 50 ราย เนื่องจากการขีดเส้นเขตอุทยานฯในอดีตทับซ้อนกับที่อยู่อาศัยและที่ทำการเกษตรของประชาชน ส่วนพื้นที่ที่เหลือเป็นป่าเต็งรัง ไม่พบพืชพรรณหายาก และไม่พบสัตว์ป่าสงวนฯ ทั้งนี้ ตามกฎหมายต้องทำเรื่องขออนุญาตให้คณะรัฐมนตรีทำเรื่องเพิกถอนสถานะพื้นที่ดังกล่าวจากความเป็นอุทยานฯ ซึ่งต้องใช้ EIA ประกอบการพิจารณา ปัจจุบันอยู่ในช่วงสุดท้ายของการศึกษาแล้ว คาดว่าหากเป็นไปตามแผนที่วางไว้จะเริ่มก่อสร้างได้ปี 2563 ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 3-4 ปี

“ที่ผ่านมาผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการเรียบร้อยแล้ว จากการพูดคุยกับภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างอ่างเก็บน้ำนั้น ล้วนมีความยินดีจะให้เกิดการสร้างอ่างเก็บน้ำขึ้น หากได้รับการชดเชยที่เป็นธรรมจากการสำรวจประชาชน 149 รายที่อาศัยและทำการเกษตรอยู่ตามแนวท่อส่งน้ำทั้งฝั่งซ้ายและขวาของโครงการ เห็นด้วยที่จะให้ก่อสร้างโครงการถึง 146 ราย”

นายสุรัชกล่าวต่อไปว่า บริษัทที่ปรึกษาที่กรมชลประทานว่าจ้างมาทำ EIA จะทำการศึกษาในหลายด้าน รวมไปถึงการจัดทำแผนป้องกัน และแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้น หากเริ่มก่อสร้างจะมีการอพยพสัตว์ป่าออกจากพื้นที่ก่อน รวมถึงกรมชลประทานจะจัดสรรงบประมาณปลูกป่าทดแทนให้เป็น 2 เท่า เป็นพื้นที่ราว 1,600 ไร่ ให้ค่าบำรุงรักษาต่อเนื่อง 10 ปี ในด้านสภาพนิเวศเองมีการวางแผนให้ภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งกรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ และภาคประชาชนเข้ามาจัดทำแผนร่วมกันในการเตรียมความพร้อมด้านผลกระทบต่าง ๆ ไปจนถึงการเตรียมความพร้อมการสร้างอาชีพและวิสาหกิจชุมชน

สำหรับความเป็นมาของโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยหลัวนั้น เกิดจากการร้องขอของประชาชนในพื้นที่ต่อรัฐบาลตั้งแต่ปี 2519 เนื่องจากฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอ ทำให้ผลผลิตตกต่ำ เมื่อกรมชลประทานพิจารณาแล้วพบว่าพื้นที่ดังกล่าวสามารถจัดทำเป็นอ่างเก็บน้ำได้ โดยจะจัดทำในลักษณะทำนบดินสูง 23.5 เมตร ความยาวสัน 225 เมตร และจะสามารถเก็บกักน้ำได้ราว 8.27 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวจะมีน้ำไหลเข้าสู่อ่างเฉลี่ยปีละราว 10 ล้าน ลบ.ม. และจะถูกนำไปใช้เป็นน้ำต้นทุนทั้งการอุปโภคบริโภคและการเกษตร

โดยการออกแบบเบื้องต้นจะเป็นระบบคลองและท่อส่งน้ำแยกเป็นฝั่งซ้ายและขวา โดยฝั่งขวาเป็นระบบท่อ 5.4 กม. เป็นระบบคลองเปิด 5.3 กม. เป็นพื้นที่รับประโยชน์กว่า 3,744 ไร่ พื้นที่ชลประทาน 3,205 ไร่ ส่วนฝั่งซ้ายเป็นระบบท่อ 1.9 กม. เป็นคลองเปิด 2.9 กม. มีพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 1,490 ไร่ พื้นที่ชลประทาน 3,205 ไร่ รวมพื้นที่รับประโยชน์ทั้งหมด 5,490 ไร่ และเป็นพื้นที่ชลประทาน 4,695 ไร่ จากเดิมที่สามารถทำการเกษตรได้เพียง 400 ไร่

ด้านนายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า จังหวัดกาฬสินธุ์เป็นพื้นที่อู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่รับน้ำ 3,300 ล้าน ลบ.ม. เก็บได้ 2,000 กว่าล้าน ลบ.ม. เฉพาะที่เขื่อนลำปาว 1,980 ล้าน ลบ.ม. โดยการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กเพิ่มจะช่วยสนับสนุนการทำการเกษตรในพื้นที่ที่ยังขาดแคลนน้ำ ทั้งนี้ ฤดูฝนมีบางพื้นที่เกิดน้ำท่วม แต่พอฤดูแล้งก็แล้ง การมีอ่างเพิ่มขึ้นจะให้ประโยชน์ในการตัดยอดน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม ทั้งยังสามารถเก็บไว้ใช้ประโยชน์ในฤดูแล้งได้ ประชาชนทำการเกษตรได้มากขึ้น แต่การจัดทำต้องศึกษาให้รอบด้าน ต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไม่ให้ได้รับผลกระทบ และศึกษาข้อมูลก่อนจัดทำเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง


“โครงการดังกล่าวทำการศึกษาเสร็จในปี 2551 ได้ผลสรุปว่าบริเวณที่เหมาะสมอยู่ที่บ้านแก้งกะอาม หมู่ที่ 6 ตำบลผาเสวย อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์”